สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 16-20 มกราคม 2560

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 16-20 มกราคม 2560

“เงินบาททรงตัว ขณะที่ หุ้นไทยปรับลดลงหลังนักลงทุนชะลอการซื้อหุ้น ก่อนการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์”

Foreign Exchange Market

- เงินบาททรงตัวในกรอบแคบๆ โดยแม้เงินบาทจะมีปัจจัยบวกจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ สามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในระหว่างสัปดาห์ หลังมุมมองต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ตอกย้ำว่า เฟดจะยังคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีนี้

- สำหรับในวันศุกร์ (20 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ เท่ากับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.20-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของนักลงทุนน่าจะอยู่ที่การปรับตัวของตลาดในช่วงต้นสัปดาห์รับการแถลงนโยบายของทรัมป์ ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (ขั้นต้น) เดือนม.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนธ.ค. และตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 4/2559

Stock Market

- ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง หลังนักลงทุนชะลอการซื้อหุ้น ก่อนการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,562.99 จุด ลดลง 0.78% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลง 5.34% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 51,550.02 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 638.68 จุด ลดลง 0.16% จากสัปดาห์ก่อน

- ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงต้นและกลางสัปดาห์ โดยมีแรงขายทางเทคนิค ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดสามารถปรับตัวขึ้นได้ในวันศุกร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน จีดีพีไตรมาส 4/59 ของจีนที่ออกมาดีกว่าคาด รวมทั้งการกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,540 และ 1,525 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานผลกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งถ้อยแถลงของประธานรัฐมนตรีคลังยุโรป (Eurogroup) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต จีดีพีไตรมาส 4/59 (เบื้องต้น) และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล PMI ของประเทศในยูโรโซนและญี่ปุ่น ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี รวมทั้งข้อมูลการค้าของญี่ปุ่น