ณรงค์ อิงค์ธเนศ ส่งต่อความสำเร็จสู่คนรุ่นใหม่

ณรงค์ อิงค์ธเนศ ส่งต่อความสำเร็จสู่คนรุ่นใหม่

่อุตสาหกรรมไอทีไทยต้องบันทึกชื่อเขา “นายณรงค์ อิงค์ธเนศ” ไว้ในฐานะหนึ่งในรุ่นบุกเบิกตลาดคอมพิวเตอร์และเพอริเฟอรัล

ณ วันที่เขาประกาศวางมือจากการบริหารบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด หรือเดิมคือ เดอะแวลลูซิสเตมส์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 29 ปีก่อน "กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสนทนา และเก็บเรื่องราวดีๆ มาเผยแพร่


“จะยุติบทบาทบริหารในวีเอสที อีซีเอส สิ้นเดือน ก.พ. 2560 ยังไม่ครบ 60 แต่ขอเออรี่ รีไทร์เมนต์ ที่ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะลูกน้องที่ตามมานาน ล้วนมีความพร้อม ตัวองค์กร และธุรกิจก็ไปได้ดี จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ก้าวขึ้นมาบริหารงานเต็มตัว ได้แสดงศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่”

ก่อนจะวางมือนั้น เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ในฐานะกรุ๊ปซีอีโอ นายณรงค์ ได้ขยายธุรกิจไปเปิดตลาดแถบนี้ หรือตลาดซีแอลเอ็ม (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ซึ่งเขายืนยันว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะธุรกิจนอกประเทศต่างเติบโต

ปัจจุบันสำนักงานเมียนมามีพนักงาน 20 คน กัมพูชา 7-8 คน และลาว 1 คน ปีนี้ยอดขายจากตลาดซีแอลเอ็มมี 20 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 700 ล้านบาท เทียบกับปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 150% และมั่นใจว่าปีหน้าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30%

เหตุผลที่ทำให้มั่นใจเช่นนั้น นายณรงค์ บอกว่า เพราะประเทศเหล่านั้นเศรษฐกิจกำลังเติบโต เฉลี่ยปีละ 7-8% เมื่อเทียบกับไทยก่อนมีรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศก็มีเหตุประท้วง น้ำท่วม ประท้วง หลายปีทำให้เศรษฐกิจไม่ดียกเว้นปีที่ผ่านมาเติบโตได้ 3% ก็ยังต่างจากไทย และระยะยาวเศรษฐกิจประเทศซีแอลเอ็มยังมีโอกาสเติบโตกว่าไทยมากกว่า 2 เท่า หรือที่ประมาณ 7%

“เมียนมามีโอกาสโตกว่านี้มาก เพราะอินฟราสตรักเจอร์เพิ่งเริ่มลง คนที่เคยออกมาทำงานต่างประเทศจะกลับเข้าประเทศ จะมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศได้อีกมาก ขณะเดียวกัน ยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรพร้อมทั้งป่าไม้ ประมง ท่องเที่ยว โรงแรม นอกจากธุรกิจในประเทศจะขยายตัวแล้ว บริษัทจากต่างประเทศที่เข้าไปก็จะต้องลงทุน ซึ่งล้วนต้องใช้และลงทุนด้านไอที ที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ เมียนมาตั้งสำนักงานมา 3ปีครึ่ง เติบโตเยอะมาก”

ออกจากคอมฟอร์ตโซน
นายณรงค์ เล่าสบายๆ ถึงอีกเหตุผลที่ขอเกษียณตัวเองว่า จะ 60 แล้ว ยังทำอะไรอีก 5 ปี เพราะอายุคนอยู่ประมาณ 70-80 ปี ตอนนี้ยังมีแรง ยังทำงานได้ และมีคอนเน็คชั่นดี แทนที่จะนั่งอยู่ในคอมฟอร์ต โซน ไม่ต้องทำอะไร แค่ไกด์ให้คนอื่นทำ ก็ตัดสินใจข้ามคอมฟอร์ต โซน มามุ่งมั่นกับ “วีเน็ท” (บริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจร่วมลงทุน) สร้างธุรกิจมา 16 ปียุคดอทคอมบูม


“เดิมลงทุนไปประมาณ 30 บริษัท ที่ยังถืออยู่ปัจจุบัน 15 บริษัท มี 4 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทด้านอะไหล่ยานยนต์ อีก 2-3 บริษัทขายไป ที่เหลือเจ๊งหมด ถือเป็นนักลงทุนยุคแรกๆ ลง 12 โครงการ อยู่ได้ 1 นอกนั้นเจ๊งหมด เพราะเป็นการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ไม่รู้จะไปได้ไหม ถ้าเป็นยุคนี้จะง่ายกว่า เป็นสตาร์ทอัพ 4.0 มีรัฐหนุน และอินฟราสตรักเจอร์พร้อมกว่า”

การลุกออกจากคอมฟอร์ต โซนของมือเก๋าแห่งวงการไอที จะรุกลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเห็นความพร้อมต่างๆ ที่มีในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่เกิดหลังปี 2543 ซึ่งเกิดมาพร้อมเทคโนโลยี เชื่อว่า การทำสตาร์ทอัพจะง่ายกว่า

รับหน้าที่เมนเทอร์
ความมุ่งมั่นที่จะมาผลักดันวีเน็ทนั้น นายณรงค์ บอกว่า จะเป็นเมนเทอร์ หรือโค้ช ให้แก่บริษัทที่ถืออยู่ค่อนข้างมากเกิน 50-100% ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเอส และเอ็ม ไม่มีแอล หรือไม่ติด 1,000 บริษัทขนาดใหญ่ของไทย เช่น วินท์คอม คอปเปอร์ไวร์ด เน็ทแวน วีเฮลธ์ วีเซิร์ฟพลัส

“ประสบการณ์ที่ผ่านมา การออกมาสร้างธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุ 30 จะนำมาซัพพอร์ตบริษัทพวกนี้ ซึ่งมีผู้ดูแลอยู่แล้ว แต่จะไปช่วยชี้ทางให้ ไม่ใช่ที่ปรึกษา แต่ต้องรับผิดชอบมากกว่านั้น เพราะเป็นเงินของเรา บริษัทพวกนี้มีทั้งที่เป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ บริษัททำไอที เอาท์ซอร์สซิ่ง โลจิสติกส์ และที่ปรึกษาทางการเงินให้บริษัทอื่น จะใช้เวลา 5 ปีขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นจากเอสเป็นเอ็ม จากเอ็มเป็นแอล”

แน่นอนว่า ชีวิตหลังเกษียณ นายณรงค์ จะไม่ทุ่มเทเวลา 100% กับงาน แต่บอกว่าจะใช้เวลากับวีเน็ท 60-70% อีก 30% ต้อง“เผื่อ”เวลาให้ตัวเอง ออกกำลังกาย ตีกอล์ฟ เล่นกีฬาที่ชอบ และการเตรียมตัวสร้างหอศิลป์

สะสมภาพเตรียมสร้างหอศิลป์
นายณรงค์ เริ่มซื้องานศิลป์ ประเภทภาพวาดหลากหลายประเภท ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยมีจุดมุ่งหมายจะเก็บรักษาผลงานที่น่าสนใจไว้เป็นของสะสม จนถึงปัจจุบันก็ยังทยอยซื้อภาพเพิ่มทุกสัปดาห์ มีภาพสะสมอยู่กว่า 700 ภาพ ในจำนวนนี้เป็นผลงานมาสเตอร์พีซกว่า 400 ภาพ ใช้เงินไปเพื่อการนี้หลายร้อยล้านบาท พยายามเก็บหลากหลาย ทั้งงานคลาสสิก งานโมเดิร์น งานคอนเทมโพรารี หรืองานรุ่นใหม่อย่างกราฟิตี้

แผนการต่อจากนี้ของนายณรงค์ ที่เริ่มดำริขึ้นพักใหญ่ๆ คือจะสร้างหอศิลป์ โดยทุกวันนี้ได้สร้างแกลอรี่ส่วนตัวที่บ้าน แต่ความต้องการที่เหนือกว่านั้นคือ เปิดหอศิลป์ทิ้งเป็นสมบัติของประเทศไทยที่ได้ให้โอกาสทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัวมาถึงวันนี้

"5 ปีแรกจะทุ่มเทให้วีเน็ท อีก 5 ปีต่อไปจะสร้างหอศิลป์ให้สำเร็จ เพื่อวันที่จากไปจะได้มีอะไรตอบแทนประเทศทิ้งไว้บ้าง อยากได้ที่สัก 3 ไร่ อยู่แนวรถไฟฟ้าสักสายหนึ่ง แต่ราคาต้องไม่สูงนัก สร้างให้มีทั้งหอศิลป์ และสำนักงานอยู่ในที่เดียวกัน เวลาเพื่อนต่างชาติมา ผมจะได้พาไปชมได้สะดวกหน่อย"