Skywave Rescue ทีมเจ็ตสกีกู้ภัยหัวใจอาสา

Skywave Rescue ทีมเจ็ตสกีกู้ภัยหัวใจอาสา

ทุกการแข่งขันกีฬาเอ็กซ์ตรีมมักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ทีมกู้ภัยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง

แม้บางครั้งอาจเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าไม่มีทีมดูแลความปลอดภัยที่มีความรู้มากพอ จากเรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เช่นกัน

จากแนวคิดข้างต้นจึงทำให้ คี - ศุภวคี สอนอาจ ก่อตั้งทีม Skywave Rescue ขึ้นมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ปัจจุบันพวกเขาคือหน่วยกู้ภัยทางน้ำที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก โดยแบ่งภารกิจเป็น 3 ส่วนหลักคือ การดูแลรักษาความปลอดภัยในการแข่งเจ็ตสกี  ไตรกีฬา และกีฬาแอดเวนเจอร์ทางน้ำ อาทิ การแข่งขันเจ็ตสกีชิงแชมป์ประเทศไทย 2012 - 2015, Asian Beach Game, Phuket Thailand 2014, หัวหิน Kiteboard World Cup 2010 – 2011 และงานสามเหลี่ยมทองคํา ไตรกีฬานานาชาติ 2014 - 2015

...แต่กว่าจะถึงวันนี้ชีวิตของเขาต้องผ่านอะไรมามากเหลือเกินจากการเป็น ‘อาสาสมัครกู้ภัย’         

รู้อะไรต้องรู้ให้จริง

เริ่มแรกศุภวคีเป็นอาสาสมัครกู้ภัยอยู่แล้ว ทั้งการกู้ภัยในที่สูง การกู้ภัยในอาคาร ฯลฯ จนมาสนใจเกี่ยวกับการกู้ภัยทางน้ำจึงเริ่มศึกษาด้วยตัวเอง เขาเริ่มจากการใช้เรือยาง แต่เมื่อศึกษาเพิ่มเติมก็พบว่าในต่างประเทศ เจ็ตสกีถูกนำมาช่วยกู้ภัยทางน้ำแล้ว

ในประเทศไทยตอนนั้นการกู้ภัยทางน้ำด้วยเจ็ตสกียังไม่เป็นที่นิยมนัก เขาจึงติดต่อไปยังบริษัทยามาฮาเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยส่งครูฝึกสอนการขับเจ็ตสกีสำหรับกู้ภัยทางน้ำมาให้

“ผมเป็นคนทำอะไรทำจริง จะให้ไปเรียนรู้แบบครูพักลักจำเราทำไม่ได้ เพราะถ้าจะรู้มันต้องรู้ให้ลึก รู้ให้จริง เราเลยต้องการคนสอนที่มีประสบการณ์จริงๆ ตอนนั้นค่าใช้จ่ายสำหรับครูชาวญี่ปุ่นคนนี้รวมแล้วประมาณ 400,000 บาท พวกเราก็ออกกันเองนะครับ เพราะคิดว่าความรู้ที่เราได้จะสามารถช่วยคนได้อีกมากมายในอนาคต ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเรื่องธุรกิจเข้ามาในหัวเลย”

99.99 เปอร์เซ็นต์

เมื่อมีความรู้ความสามารถในระดับที่ทุกคนยอมรับแล้ว เขาจึงตั้งทีมขึ้นมา โดยคุณสมบัติสำคัญที่สุดของคนในทีมคือ “จิตอาสา” หรือหัวใจที่พร้อมเสี่ยงอันตรายในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกเมื่อ เพราะทุกเสี้ยววินาทีหมายถึงชีวิต

นอกจาก “ใจ” ที่มาเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ยังต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วยเช่นกัน อาทิ ร่างกายที่แข็งแรง ความรู้ความสามารถในการขี่เจ็ตสกีรวมถึงการซ่อมบำรุง วิธีช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และปัจจัยที่แตกต่างกันของน้ำแต่ละสถานที่ เป็นต้น เพราะการแข่งขันแต่ละครั้งต้องเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาอย่างน้อย 99.99 เปอร์เซ็นต์

“ความยากง่ายในการดูแลผู้แข่งขันของแต่ละกีฬาก็จะแตกต่างกันครับ อย่างการแข่งเจ็ตสกีเนี่ยจะอันตรายต่อผู้ช่วยเหลือมากที่สุด เพราะมันเร็วมาก ง่ายๆ คือยิ่งเร็วก็ยิ่งอันตราย แต่ดีตรงที่ว่าทุกคนต้องใส่เสื้อชูชีพและหมวกกันน็อกตามกติกาอยู่แล้วก็จะช่วยเซฟได้ส่วนหนึ่ง แต่การว่ายน้ำในไตรกีฬาจะยากที่จำนวนคน และแต่ละคนก็ไม่ได้ใส่เสื้อชูชีพด้วย เพราะการแข่งแต่ละครั้งมีตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักพันคนจึงเป็นเรื่องยากที่จะช่วยเหลือได้ทันถ้าเกิดอุบัติเหตุพร้อมกัน เราเลยต้องคอยสอดส่องในเบื้องต้นแล้ววิเคราะห์จากประสบการณ์เอาว่าคนไหนมีอาการหรือมีทีท่าว่าจะไม่ไหวก็ต้องคอยถามเค้าว่าไหวไหม ถ้าดูแล้วไม่ไหวจริงๆ ผมก็ต้องขอเชิญออกจากการแข่งขันครับ ถึงจะทำใจลำบากแต่ชีวิตของนักกีฬาสำคัญที่สุด”

วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ทุกการทำงานย่อมมีเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพราะนอกจากภาพที่เราเห็นพวกเขาดูแลรักษาความปลอดภัยระหว่างการแข่งแล้ว การวางแผนก่อนแข่งก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเขาเชื่อว่า 1 นาทีที่เสียไปในการวางแผนจะสามารถประหยัดเวลาขณะปฏิบัติการจริงได้อย่างน้อยถึง 3 นาที

“เราต้องคุยทุกอย่างกับผู้จัดการแข่งขัน จากนั้นเราต้องไปสำรวจพื้นที่ว่าเป็นแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล เพราะบางที่ไม่มีจุดให้เจ็ตสกีลงก็ต้องขับรถไปไกลกว่า 4 – 5 กิโลแล้วค่อยขับเจ็ตสกีเข้ามาครับ แล้วอีกสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออุปกรณ์ เพราะอุปกรณ์ต้องได้มาตรฐานระดับโลกและพร้อมสำหรับการใช้งานเสมอเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ประสบภัยครับ ทีนี้พอถึงวันแข่งจริงเราก็จะแบ่งทีมให้อยู่ทั้งบนบกและในน้ำ ทีมบนบกก็คอยประสานงานกับทีมที่อยู่ในน้ำรวมถึงปฐมพยาบาลเบื้องต้นและช่วยปลดอุปกรณ์บางอย่างที่ทีมแพทย์อาจไม่เชี่ยวชาญมากนักครับ”

นอกเหนือจากเจ็ตสกีที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือนักกีฬาอย่างรวดเร็วในกรณีฉุกเฉินแล้ว เรือคายัคก็ถูกนำมาสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือนักกีฬาเช่นกัน อาทิ บอกทางนักกีฬาให้ว่ายไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นที่พักเหนื่อยสำหรับให้นักกีฬาเกาะ และแจ้งทีมเจ็ตสกีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพราะถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่ใช้เจ็ตสกีเนื่องจากการออกวิ่งแต่ละครั้งจะทำให้เกิดคลื่นไปรบกวนนักกีฬาท่านอื่นๆ

สวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง

จากมุมมองของคนที่ดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำนั้น เขาบอกว่าความปลอดภัยในการแข่งขันจะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ปัจจัย คือ 1.สนามต้องปลอดภัย 2.นักกีฬาต้องพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ และ 3.ทีมช่วยเหลือต้องมีความรู้ความสามารถ ส่วนบุคคลทั่วไปอย่างเราๆ นั้นทุกครั้งที่ลงน้ำไม่ว่าจะเป็นการนั่งเรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจหรือแม้กระทั่งนั่งเรือข้ามฟาก ถ้าเป็นไปได้ควรสวมเสื้อชูชีพเสมอ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะได้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นได้ทันท่วงที  ซึ่งไม่แน่ว่านอกจากหนึ่งชีวิตของตัวเองที่ปลอดภัยแล้ว อาจสามารถช่วยเหลืออีกหลายชีวิตที่อยู่รอบๆ ก็เป็นได้