ทางรอดธุรกิจยุคไทยแลนด์ 4.0 การศึกษาต้องตอบโจทย์

ทางรอดธุรกิจยุคไทยแลนด์ 4.0 การศึกษาต้องตอบโจทย์

โอกาสครบรอบ 100 ปี คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน “Flagship for Innovative Wisdom”

เพื่อระดมสมองจากคณาจารย์ และผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำ ในการหาแนวทางการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์โลกธุรกิจยุคดิจิทัล หลังต่างยอมรับเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกธุรกิจ

โดยมีรศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มารุต บูรณะเศรษฐกิจ ซีอีโอแห่งโออิชิ กรุ๊ป และ วรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมกล่าวเปิดงาน

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันประเทศให้เติบโตแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นตัวผลักดันให้ “จีดีพี” ของประเทศเติบโต ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในหลายด้านทั้งภาคสังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจซึ่งส่งผลทั้งในด้านของบุคลากรที่เป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้า และการเปลี่ยนแปลงของตัวธุรกิจเอง จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับโฉมการศึกษาด้านธุรกิจครั้งใหญ่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาเพื่อหาแนวทางการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจยุคดิจิทัล

การจัดการศึกษาจะต้องเป็นแบบ Co-Creation คือทั้งภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาต้องเข้ามาช่วยกันวิเคราะห์ และคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดการศึกษาบัณฑิตให้มีทักษะความรู้รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

ที่ผ่านมาคณะบัญชีจุฬาฯ ได้จับมือกับภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของเราในหลายเรื่องให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักศึกษาเจเนอเรชั่น Z เช่น โครงการ Mentoring จัดให้รุ่นพี่เข้ามาแนะนำทางนักศึกษารุ่นน้อง, โครงการ E-learning กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และยังร่วมมือกับภาคเอกชนหลายหน่วยงาน เช่น โออิชิ เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์จริงในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เด็กสามารถนำเอาความรู้จากประสบการณ์จริงมาใช้ในการพัฒนาตัวเองให้ตอบโจทย์องค์กรได้ดียิ่งขึ้น

มารุต บูรณะเศรษฐกุล ซีอีโอใหญ่แห่งโออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ องค์กรธุรกิจจึงต้องการบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์มาช่วยพัฒนางานตอบโจทย์ธุรกิจยุคดิจิทัล ที่โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในยุคหนึ่งธุรกิจเราขายอาหารและเครื่องดื่ม มายุคสมัยนี้ต้องพ่วงเรื่องสุขภาพเข้าไปด้วย คืออาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ นี่เป็นพฤติกรรมของคนในยุคนี้ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก”

ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารอยู่รอบตัวเรา และมาเร็วไปเร็ว จึงจำเป็นต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์คนในยุคดิจิทัล ภาคธุรกิจต้องการคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานที่ต้องการความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา

วรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ปัจจุบันการแข่งขันขององค์กรธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คู่แข่งธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับเครื่องมือใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีสร้างขึ้นมา เช่น แอพพลิเคชั่นทางการเงินบนมือถือ ซึ่งไม่ใช่ธนาคารแต่ให้บริการเหมือนธนาคาร และเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ความต้องการบุคลากรขององค์กรธุรกิจเปลี่ยนไป

บางงานมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เช่น งานด้านการคำนวณ งานด้านไอที ด้านการบริหารจัดการข้อมูล ขณะที่งานบางอย่างลดความสำคัญลงไปมากเพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาแทนที่ได้ เช่น การปฏิบัติการ งานให้บริการทั่วไป ในโลกที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก

เราต้องการคนที่มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้มากขึ้น พบว่าคนเหล่านี้จะต้องมีความโดดเด่นใน 3 เรื่องตามลำดับความสำคัญที่เรียกว่า ASK คือ Attitude, Skill และ Knowledge”

บัณฑิตที่จะเข้ามาเป็นแรงงานสำคัญของภาคธุรกิจ จะต้องมีความสามารถในการเข้ากับผู้อื่นได้ดี มีความคิดนอกกรอบ ทำงานได้หลากหลายวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะบริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรู้เดิมเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้