มาร์เก็ตแคป 'หุ้นเจ้าสัวเจริญ' เด้ง 1.7 แสนล้าน ฝ่าดงศก.หด

มาร์เก็ตแคป 'หุ้นเจ้าสัวเจริญ' เด้ง 1.7 แสนล้าน ฝ่าดงศก.หด

สำรวจ 'หุ้นเจ้าสัวเจริญ' ตลอดปี 2559 สวยไม่สร่าง บ่งบอกผ่านตัวเลข 'มาร์เก็ตแคป' เด้ง 1.7 แสนล้านบาท ดาวเด่นเบอร์หนึ่งตำแหน่งนี้ยกให้ BJC

แทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำ 'ตระกูลสิริวัฒนภักดี' เจ้าของเบียร์ช้างไปแล้วก็ว่าได้ เพราะเกือบทุกปีต้องเห็น 'เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี' โดดเข้าซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ ในหลากหลายวงการ เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งให้ 5 ธุรกิจหลัก 1.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2.ธุรกิจจัดจาหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก 4.ธุรกิจประกันภัยชีวิต และวินาศภัย และ 5.ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม

เช่นเดียวกับปี 2559 ที่อาศัยจังหวะฝุ่นตลบในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเข้าลงทุนใน 'สามกิจการขนาดใหญ่' ไล่มาตั้งแต่ต้นปี 2559 บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ BJC ได้แต่งตั้ง BJC ให้เข้าซื้อ หุ้น บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ หรือ BIGC จากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง 'กลุ่มคาสิโน' ทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวน 483.07 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 58.56% ราคาหุ้นละ 252.88 บาท มูลค่าประมาณ 1.22 แสนล้านบาท

ต่อมาในเดือนต.ค.2559 มหาเศรษฐีเมืองไทยส่งบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPHT ในฐานะบริษัทย่อยของ บริษัท เฟรเซอร์ส ไทยแลนด์ จํากัด (FCL) ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร (TCC Asset Limited ถือหุ้น FCL 59.18%) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หรือ SGX-ST เข้าถือหุ้นสัดส่วน 40% ใน บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON

ด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุน 735 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 18 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 13,230 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะทำให้ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ หรือ ROJNA ในฐานะหุ้นใหญ่เบอร์หนึ่งของ TICON ถูกลดฐานะอัตโนมัติ จากสัดส่วน 43.55% เหลือประมาณ 26.10%

ผ่านมาไม่กี่เดือน ก่อนหมดปี 2559 เจ้าสัวเจริญ เข้าเขย่าวงการสื่อ ด้วยการส่ง บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย 'ฐาปน สิริวัฒนภักดี' และ 'ปณต สิริวัฒนภักดี' เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมมูลค่า 850 ล้านบาท ใน บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิง หรือ AMARIN ของ 'ตระกูลเก่าแก่อุทกะพันธุ์'

หากพิจารณาถึงเหตุผลของการยอมเฉือนเนื้อตัวเองของหุ้นใหญ่ใน TICON และ AMARIN องค์กรที่มีฐานะการเงินเข้าข่ายถดถอย ดูเหมือนจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เชื่อมั่นว่า 'คอนเน็ตชั่น' ที่มีอยู่ทั่วโลกของตระกูลสิริวัฒนภักดี จะทำให้มีฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความพยายามบุกตลาดประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า ก่อนหน้านี้ของ TICON และยอดขายโฆษณาที่หดตัวของ AMARIN

ขณะเดียวกันการที่ผู้ถือหุ้นชุดเดิมไม่มีกำลังมากพอที่จะใส่เงินเพิ่มทุน แต่ต้องการทุนไปต่อยอดกิจการ เพื่อพลิกฟื้นฐานะ หลังปี 2558 และในช่วง 9 เดือนปี 2559 'กำไรสุทธิ' ของ TICON และ AMARIN ปรับตัวลดลง จากระดับ 769 ล้านบาท เป็น 267 ล้านบาท ตามลำดับ และจากติดลบ 417 ล้านบาท เป็นติดลบ 468 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นเหตุให้การขายเพิ่มทุนกลายเป็นตัวเลือกดีที่สุดในยามนี้ อย่างน้อยก็ช่วยปูพรมให้เดินในทางที่ไม่ถนัดได้ง่ายมากขึ้น

ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาทั้ง TICON และ AMARIN มีข้อจำกัดในการกู้ยืมเงินแบงก์ สะท้อนผ่านตัวเลข 'อัตราหนี้สินต่อทุน' หรือ D/E ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากระดับ 1.72 เท่า ในปี 2557 เป็น 2.13 เท่า ในช่วง 9 เดือนของปี 2559 ตามลำดับ และจากระดับ 1.84 เท่า เป็น 4.32 เท่า ตามลำดับ ฉะนั้นเงินเพิ่มทุนก้อนใหญ่จะช่วย “ปิดความเสี่ยง” หลังอัตราหนี้สินต่อทุนอาจปรับลดลงเหลือ 0.34 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ (บริษัทแจงข้อมูลผ่านตลท.)

ส่วนสาเหตุสำคัญของการควักเงินระดับ 'แสนล้าน' ซื้อหุ้น BIGC ท่ามกลางกำลังซื้อในประเทศหดหาย แน่นอนว่า ความล้ำลึกของเจ้าสัวเจริญ อาจไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ แต่การผลึกกำลังทางธุรกิจ (Synergies) ระหว่าง BIGC และ BJC

รวมถึงการต่อจิ๊กซอว์ให้ธุรกิจในเครือต่างหาก คือ เป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะการหาประโยชน์จากร้านค้าปลีก เช่น วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยชีวิต และวินาศภัย เป็นต้น ซึ่งเจ้าสัวพยายามหาทางโปรโมทสินค้าประกันมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดในช่วงกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา BJC อนุมัติให้ BIGC เข้าลงทุนในธุรกิจบริการเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิต โดยการร่วมทุนภายใต้สัญญาร่วมทุนกับบริษัท นำทรัพย์พัฒนา4 จำกัด ซึ่ง BIGC และนำทรัพย์ จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน 'บิ๊กซี เซอร์วิสเซส' สัดส่วน 51:49 มูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท

หากย้อนดูผลพ่วงจากการลงทุนของ 'เจ้าสัวเจริญ' ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา (2558-9 เดือนปี 2559) โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ BIGC ,บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ BJC ,บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GOLD บมจ.โออิชิ กรุ๊ป OISHI บมจ.เสริมสุข หรือ SSC และบมจ.ยูนิเวนเจอร์ หรือ UV

ต่างมี 'ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หรือ market cap รวมถึง 'ฐานะการเงิน' อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้รวมและกำไรสุทธิ หากเปรียบเทียบตัวเลขมาร์เก็ตแคปหุ้นทุกตัวของ 'เจ้าสัวเจริญ' ระหว่างสิ้นปี 2558 กับงวด 9 เดือนของปี 2559 จะพบว่า
ตัวเลขปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.74 แสนล้านบาท

'โดดเด่นสุด' ต้องยกให้ BJC สะท้อนผ่านตัวเลขมาร์เก็ตแคปที่ขยับขึ้นมาเฉลี่ย 144,746 ล้านบาท จาก 55,727 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 200,473 ล้านบาท ในสิ้นปี 2559 ขณะที่รายได้รวมและกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมายังปรับขึ้น จากระดับ 44,596 ล้านบาท และ 2,791 ล้านบาท ตามลำดับ เป็น 97,436 ล้านบาท และ 2,772 ล้านบาท

ตัวเลขมาร์เก็ตแคปที่ปรับตัวขึ้น เป็นผลมาจากการใส่เงินในหุ้นเพิ่มทุนมากถึง 1.5 เท่า ในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้คืนหนี้ที่กู้มาซื้อหุ้น BIGC ทว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้หุ้น BJC กลับมาสวยอีกครั้งในสายตากองทุนทั้งในและนอกประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้กองทุนเปิดในประเทศทยอยปรับลดสัดส่วนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกองทุนเปิดของบล.บัวหลวง จากเคยลงทุนสูงเฉลี่ย 7.88% (ตัวเลขปิดสมุดทะเบียน 9 มี.ค.2559) เหลือเฉลี่ย 4.04% (ตัวเลขปิดสมุดทะเบียน 31 ส.ค.2559) เช่น กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยบลจ.บัวหลวง และกองทุนเปิดบัวหลวงทศพล เป็นต้น ขณะเดียวกันบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ ยังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 1.30% เหลือ 0.62%
การไต่ระดับความสวยในช่วงที่ผ่านมาทำให้หุ้น BJC ถูกคัดให้เข้าคำนวณดัชนี MSCI GLOBAL STANDARD ที่มีผลเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ติดเข้าคำนวณ SET50 งวดใหม่ แม้เข้าหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ทุกประการก็ตาม

สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์หลากหลายสำนักที่ระบุในทำนองเดียวกันว่า เงินเพิ่มทุนก้อนโตจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของ BJC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากงวด 9 เดือน 2559 ที่มีอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E อยู่สูงถึง 1.86 เท่า (ขยับขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ระดับ 1.40 เท่า)
นอกจากนั้นการเข้าถือหุ้นใหญ่ใน BIGC จะทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ หลังปี 2559 บริษัทอาจมีรายได้ขึ้นสู่ระดับ “แสนล้าน” เป็นครั้งแรก และในปี 2560 จะรับรู้กำไรสุทธิจาก BIGC เต็มจำนวน

เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ที่ระบุว่า ปี 2559 -2561 บริษัทจะมีรายได้รวมเฉลี่ย 134,267 ล้านบาท 168,737 ล้านบาท และ 176,680 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับหุ้นของเจ้าสัวเจริญที่มีความโดดเด่นรองลงมา คือ OISHI โดยเฉพาะในแง่ของตัวเลขมาร์เก็ตแคปที่ขยับขึ้นเฉลี่ย 12,657 ล้านบาท จาก 11,718 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 24,375 ล้านบาท หลังราคาหุ้นทะยานสร้างสถิติสูงสุด 169.50 บาท เทียบกับสิ้นปี 2558 ที่ทำได้ดีสุดเพียง 96.25 บาท

หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น OISHI เด่นกว่ากลุ่มอาจป็นเพราะประสบความสำเร็จจากสร้างแบรนด์ ด้วยการส่งเสริมการขายและจัดกิจการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในตลาดชาพร้อมดื่ม (RTD tea market) เฉลี่ย 43.0%

รวมถึงตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม (Pure RTD green tea market) ที่ระดับ 45.3% สะท้อนผ่านผลกำไรในปี 2559 (งบสิ้นสุด 30 ก.ย.) ที่อยู่ระดับ 887 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 712 ล้านบาท (งบสิ้นสุด 31 ธ.ค.2558)

ทว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนรายใหญ่และกองทุนต่างประเทศบางแห่ง โดยเฉพาะ 'ทวีฉัตร จุฬางกูร' 'หทัยรัตน์ จุฬางกูร' และ PHILLIP SECURITIES PTE LTD.SINGAPOREAN ถือโอกาสปรับพอร์ตการลงทุน ทำให้วันนี้ไม่ติดลำดับผู้ถือหุ้น 6 อันดับแรก (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน 7 ธ.ค.2559)

'ค่า P/E สูง' รายย่อยไม่ปลื้ม

'กิจพล ไพรไพศาลกิจ' ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) วิเคราะห์ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า หากสังเกตให้ดีจะพบว่า หุ้นตัวไหนที่กลุ่มสิริวัฒนภักดี ถือในสัดส่วนมากกว่า 50% ล้วนแล้วมีราคาหุ้นโดดเด่นแทบทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็นหุ้น OISHI หรือแม้กระทั่งหุ้น BJC ที่ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 79.66% และ 74.36% ผ่าน บมจ.ไทยเบฟ เวอเรจ และบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น ตามลำดับ ซึ่งหุ้นทั้งสองตัวมีสภาพคล่องต่ำเพียง 15.31% และ 20% ตามลำดับ เท่ากับว่า หุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ถือหุ้นใหญ่
หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า บางครั้งเจ้าสัวอาจไม่ได้ต้องการหาผลประโยชน์ธุรกิจหลัก แต่ต้องการครอบครองสินทรัพย์หายากบางอย่าง เช่น ท่าเรือของเป๊ปซี่ หรือที่ดินทำเลที่หาไม่ได้อีกแล้ว เป็นต้น

แต่เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนรายย่อยอาจไม่ค่อยปลื้ม คือ หุ้นทุกตัวของเจ้าสัวมีค่า P/E สูงกว่า 20% ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างแพง ฉะนั้นอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย แม้ที่ผ่านมาหลายบริษัทจะจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องก็ตาม

'ด้วยสภาพคล่องที่น้อย ทำให้หุ้นหลายตัวของเจ้าสัวไม่ค่อยเป็นที่สนใจของรายย่อยเท่าไหร่นัก เมื่อคำนวณถึงความคุ้มค่าทำให้ตอบได้ยากว่า ควรค่าแก่การลงทุนหรือไม่' กูรูตลาดหุ้นแห่ง บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มีความเชื่อเช่นนั้น