ธปท.จับตาทรัมป์แถลงคืนนี้ หวั่นกีดกันการค้าฉุดส่งออก

ธปท.จับตาทรัมป์แถลงคืนนี้ หวั่นกีดกันการค้าฉุดส่งออก

"แบงก์ชาติ" เกาะติดพิธีสาบานตนของ "ทรัมป์" จับตาประเด็นการลงทุน-การค้า หวั่นกระทบส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว มองตลาดเงินผันผวน แนะประกันความเสี่ยง

นักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาดูการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ในพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 20 ม.ค.นี้ ซึ่งนโยบายของทรัมป์จะมีผลต่อการค้าและการลงทุนจากทั่วโลก

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประเด็นที่ ธปท. ติดตามดูในการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของนายทรัมป์ มี 2 ส่วน คือ แผนการลงทุนของสหรัฐและนโยบายด้านการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ด้านการลงทุน หากสหรัฐมีการลงทุนเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนนโยบายด้านการค้า หากมีการกีดกันการค้า ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะในปีนี้การส่งออกมีความหวังที่จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่หากมีการกีดกันทางการค้าเกิดขึ้น อาจทำให้การส่งออกของไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดย ธปท. คาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ 0%

สำหรับความเสี่ยงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นายดอน กล่าวว่า ยังมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก แม้สหรัฐจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่ยังมีบางประเทศที่น่ากังวล โดยเฉพาะจีนที่อาจมีปัญหาซึ่งซ่อนไว้อยู่

“ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังมาจากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความผันผวน ซึ่งคาดเดาได้ยาก จึงต้องจับตาในประเด็นเหล่านี้”

นายดอน กล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาคเอกชน ปัจจุบันตลาดการเงินมีความผันผวนที่สูงมาก จึงแนะนำให้ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ธปท. ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 3.2% แรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาครัฐบาลส่วนภาคการส่งออกปีนี้น่าจะเริ่มกลับมาอีกครั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับเพิ่มขึ้น และเริ่มเห็นความเสี่ยงในด้านการเงินที่มากขึ้นจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วกู้เงินของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยคือภาคเอกชนลงทุนที่น้อยเกินไปหากการลงทุนยังไม่เกิดขึ้นการเติบโตมากๆในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ลำบาก

นอกจากนี้ นายดอน ยังกล่าวถึง ความเสี่ยงจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ว่า ในขณะนี้ถือว่าอยู่ในวงจำกัด และปัญหาการผิดนัดชำระในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมถือเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ ธปท. พยายามดูแลไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก(แพนิก) ทำให้กระจายออกไปในวงกว้าง จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น

“อย่างในสหรัฐ จากสถิติที่พบในอดีต ตัวบอนด์ที่มีเรทติ้งต่ำกว่าอินเวสเม้นท์เกรด (ระดับที่น่าสนใจลงทุน) ลงมามีอัตราการเบี้ยวหนี้สูง 4% หากเป็นระดับซีซีซี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุด ก็มีอัตราการเบี้ยวหนี้อยู่ที่ 20% จึงถือเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ปัญหาการแพร่ขยายออกไป ซึ่งภาครัฐที่เกี่ยวข้องดูเรื่องนี้อยู่ จึงมั่นใจว่าจะอยู่ในวงจำกัด”

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูงขึ้น และความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดกำลังจะย้ายไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำใกล้เคียงกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ความเสี่ยงซึ่งดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นมีมากขึ้น

ทั้งนี้ คนมีความคุ้นชินกับภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำมายาวนาน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่แต่ละประเทศอาจกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินลดลง และช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็เริ่มลดลง จากระดับ 7% มาอยู่ที่ระดับ 3% แสดงให้เห็นถึงปัญหาของเศรษฐกิจไทย

สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะภาวะโครงสร้างประชาชนที่เริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุเริ่มเข้ามากดดันมากขึ้น แรงงานลดลงในแง่ปริมาณคุณภาพ ซึ่งความหวังของเศรษฐกิจไทยคือการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการปฏิรูปการทำงานภาครัฐบาลให้ตอบโจทย์ความต้องการของเอกชนมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ตั๋วบี/อีในขณะนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่คนให้ความสนใจกับการ Default กันมาก เนื่องจากการ Default ไม่ได้เกิดขึ้นนานแล้วในประเทศไทย ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น คือ ตั๋วบี/อีของบริษัทปิกนิก ในปี 2546

ประเด็นที่น่าสนใจของการ Default ในช่วงนี้ คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการ Default หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การDefault มีมาโดยตลอด แต่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินสะท้อนจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตามกรณีของสถาบันการเงิน ฐานลูกค้ามีมาก เมื่อมีรายหนึ่ง Default จึงไม่ได้กระทบมากนัก แตกต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งเกิดกับกองทุนที่มีการลงทุนในบริษัทไม่กี่แห่ง เมื่อมีแห่งใดแห่งหนึ่ง Default ก็ทำให้มูลค่าของกองทุนหายไปได้ถึง 10% แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหายไปเลย เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ที่ออกกองทุนเหล่านี้ก็ต้องไปตามเรียกคืน

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่ายังกระจุกตัว และยังเป็นกองที่ขายให้กับนักลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย(AI) ซึ่งถือเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ระดับหนึ่ง ผลกระทบจึงไม่ได้กระจายในวงกว้าง”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ทรัมป์จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้บางส่วน เพื่อรักษาคะแนนนิยมในช่วงแรก ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ว่าจะทำในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง คงหนีไม่พ้นคำขวัญ “Make America Great Again” นั่นคือการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยมองว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจะเร่งตัวแรง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น รวมถึงเงินดอลลาร์แข็งค่า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท วานนี้ (19 ม.ค.) ปิดตลาดแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูการแถลงนโยบายในพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นางเจเนต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวว่าการจ้างงานและเงินเฟ้อของสหรัฐ ใกล้ถึงเป้าหมาย 2% ที่เฟดกำหนดไว้ พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากรอนานเกินไปก็เสี่ยงที่เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้น หรือเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเงิน โดยหากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นหรือเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเงิน เฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น อันอาจฉุดเศรษฐกิจให้ถดถอยอีกครั้ง

นางเยลเลน และผู้กำหนดนโยบายคนอื่นของเฟด คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น “ปีละ 2-3 ครั้ง” ไปจนถึงปี 2562 อันจะทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเกือบ 3% แต่จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยอาจเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ
สำหรับอัตราว่างงานของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% และมีการสร้างงานใหม่ 15.5 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ค่าจ้างนั้นเพิ่งเริ่มกระเตื้องขึ้น

นอกจากนั้น นางเยลเลนยังย้ำว่าเฟดไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการเมืองและเป็นอิสระจากแรงกดดันทางการเมือง โดยเน้นการทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนเท่านั้น และตัดสินใจด้วยการอาศัยการวิเคราะห์หลักฐาน

ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี วิจารณ์การบริหารนโยบายการเงินของทั้งเฟดและนางเยลเลน จนก่อให้เกิดความวิตกว่านายทรัมป์และสภาภายใต้การนำของพรรครีพับลิกัน อาจจัดทำกฎหมายเปลี่ยนแปลงวิธีบริหารของเฟด

นางเยลเลน กล่าวว่า โครงสร้างของเฟดได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องเฟดจากแรงกดดันทางการเมืองระยะสั้น และหันไปทุ่มความสำคัญกับเศรษฐกิจอเมริกันในระยะยาว