ขีดเส้น30วันสอบสินบน 'อาคม'สั่งสาวลึกยันผู้บริหาร

ขีดเส้น30วันสอบสินบน 'อาคม'สั่งสาวลึกยันผู้บริหาร

"อาคม" ขีดเส้น 30 วันการบินไทยสอบโรลส์-รอยซ์ จ่ายรับสินแลกซื้อเครื่องยนต์ ที-800 ตั้ง 3 ประเด็นใหญ่ สั่งสาวลึกตั้งแต่อดีตผู้บริหารยันพนักงาน

หลังจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และสำนักงานปราบปรามการทุจริตร้ายแรงของประเทศอังกฤษ (SFO) ออกมาแถลงโดยระบุว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ยอมจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยอมความข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล และยอมรับว่ามีการจ่ายสินบนให้นายหน้าของไทยและพนักงานการบินไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทโรลส์-รอยซ์ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เทรนต์800หรือ ที-800

ช่วงเช้าวานนี้ (19ม.ค.) นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อรายงานกรณีที่บริษัทโรลส์-ลอยซ์ ออกมายอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตร้ายแรงของประเทศอังกฤษ (SFO) ว่าได้จ่ายสินบนในประเทศไทยระหว่างปี 2534-2548 โดยใช้เวลาหารือ1ชั่วโมง25นาที

ภายหลังการหารือนายอาคม กล่าวว่าได้เชิญนายจรัมพรเข้าชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น โดยนายจรัมพร แจ้งว่าเรื่องนี้คณะกรรมการการบินไทย ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับพนักงานและบุคลากรของการบินไทย ถือเป็นเรื่องภายในและอยู่ใต้อำนาจสั่งการของบอร์ด

สั่งกรรมการสอบ3ประเด็นใหญ่

ประเด็นที่คณะกรรมการฯ จะต้องตรวจสอบมี 3 ด้าน 1. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทยในปัจจุบันมีความโปร่งใสเพียงพอหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงกติกาและระเบียบเพิ่มเติม 2. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร และ 3. กรณีของบริษัท โรลส์-ลอยซ์ มีข้อเท็จจริงอย่างไรและมีใครในการบินไทยเกี่ยวข้องบ้าง

นายอาคม กล่าวว่า ถ้าตรวจสอบพบว่า อดีตผู้บริหารหรือพนักงานการบินไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบน จะดำเนินการให้ถึงที่สุดโดยไม่มีข้อยกเว้น

“อาคม”ขีดเส้น30วันต้องรู้ผลสอบ

“การตรวจสอบทั้ง 3 ประเด็น การบินไทยต้องขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เป็นคู่ค้า คือ บริษัท โรลส์-ลอยซ์ ว่าได้ชี้แจงกับหน่วยงานของอังกฤษในประเด็นไหน และใครเกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงขอข้อมูลที่เปิดเผยทางสาธารณะ การบินไทยและกระทรวงต้องขอดูรายงานฉบับเต็ม เพื่อประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริง การบินไทยต้องรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นโดยเร็วที่สุดคือภายใน 30 วันนับจากนี้” นายอาคมกล่าว

นายจรัมพร ยังรายงานด้วยว่าหลังจากนี้จะทบทวนการทำสัญญากับคู่ค้าที่เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ โดยกำหนดให้การลงนามในสัญญาคุณธรรมระหว่างการบินไทยและคู่ค้า ว่าต้องไม่มีการติดสินบนในกระบวนการจัดซื้ออีก

ตั้ง‘นิรุฒ’ประธานสอบทุจริตปี34-48

ขณะเดียวกันทางการบินไทย แจ้งว่าหลังจากรายงานให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมรับทราบแล้ว การบินไทย จะเร่งดำเนินการใน 2 ด้าน 1.การป้องกันการทุจริต โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง โดยมีนายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารความเสี่ยง เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงในอดีต และปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าการบินไทยมีกระบวนการที่รัดกุม และช่องโหว่ของกระบวนการจัดหาฯ ในอดีต ได้รับการปรับปรุงแล้ว และไม่มีจุดบกพร่อง อื่นๆ เหลืออยู่

รวมทั้งการป้องกันการทุจริต จะได้ดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pac) สำหรับการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงกับคู่ค้า เพื่อให้ยืนยันว่าจะไม่มีการให้สินบนกับพนักงานการบินไทย

2. การสอบสวนและดำเนินการกับการทุจริต โดยตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษ (Special Task force) เพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริตในการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง ในระหว่างปี 2534- 2548 โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นประธาน ตรวจสอบการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง ที่ดำเนินการระหว่างปี2534-2548 ตามที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ แถลงนั้นการทุจริตที่เกี่ยวพันกับบริษัทเกิดขึ้นเมื่อใด เพื่อที่จะได้ดำเนินการตามกฎระเบียบและตามกฎหมายต่อไป

“โรลส์-รอยซ์”ให้ข้อมูลบินไทยวันนี้

ด้านนายจรัมพร กล่าวว่ามั่นใจว่ากระบวนการตรวจสอบจะได้ความชัดเจนภายใน 7-15 วัน ซึ่งเร็วกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดไว้30 วัน โดยวันนี้(20ม.ค.) ทางบริษัทโรลส์-รอยซ์ จะเข้ามาชี้แจงและให้ข้อมูลรายละเอียดกับการบินไทย คาดว่าจะได้ความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนการเรียกความเชื่อมั่นความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องยนต์นั้น การบินไทยจะใช้วิธีจัดซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง และไม่ผ่านตัวแทนจำหน่าย หรือเอเยนต์อีก เพื่อลดปัญหาการติดสินบน เชื่อว่ามาตรการทั้งหมดจะทำให้ความเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชันในการบินไทยหมดไป

“ทนง”ปัดซื้อเครื่องยนต์ที-800

นายทนง พิทยะ อดีตประธานบอร์ดการบินไทยในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.2545-มี.ค.2548 ระบุว่า สมัยที่ตนเป็นประธานบอร์ด ไม่เคยอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องยนต์ ที-800 ในเครื่องบินรุ่นโบอิง 777 แต่อย่างใด ดังนั้นตนจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับสินบนในกรณีนี้

“การจัดซื้อโบอิง 777 มีขึ้นช่วงก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่ง ช่วงที่ผมเป็นประธานบอร์ด ไม่ได้จัดซื้อเครื่องโออิง 777 เลย แต่สมัยที่ผมอยู่มีการซื้อเครื่องบินอยู่3 ชนิดน คือ แอร์บัส เอ 340-600 แอร์บัส เอ 340-500 เพราะมีขนาดที่ไม่ต่างกับโบอิง 777 มากนัก แต่มีราคาถูกกว่า และได้จัดซื้อ แอร์บัสเอ 380" นายทนง กล่าว

แนะสอบกรรมการจัดซื้อช่วงนั้น

นายทนง กล่าวต่อว่า เมื่อการบินไทยจะการจัดซื้อเครื่องบิน จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดซื้อขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรจากฝ่ายช่างและจัดซื้อ โดยการจัดซื้อส่วนใหญ่จัดซื้อมาเป็นแพคเกจพร้อมกับตัวเครื่องบินเลย

ดังนั้นถ้าต้องการให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพและตรงจุด ควรเข้าไปตรวจสอบคณะกรรมการจัดซื้อในช่วงเวลานั้น จึงจะได้ข้อเท็จจริง ส่วนตัวประธานบอร์ดในแต่ละช่วง ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญเรื่องชนิดของเครื่องยนต์มากนัก

สหภาพฯยื่นนายกฯขอคนนอกสอบ

นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่าต้องมีข้อเท็จจริงแน่นอน เนื่องจากเป็นการกล่าวหาของผู้ค้าในต่างประเทศ ดังนั้นควรสอบสวนและขยายผลอย่างจริงจัง

ส่วนกรณีที่่บอร์ดการบินไทยตั้งกรรมการสอบสวน เชื่อว่าท้ายที่สุดคงจะสาวถึงผู้กระทำผิดและนำตัวมาลงโทษได้ยาก เพราะการจัดซื้อเครื่องบินแต่ละครั้งต้องผ่านการอนุมัติจากบอร์ดและฝ่ายบริหารการบินไทย อีกทั้งยังมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

นายดำรงค์ กล่าวว่าคณะกรรมการสหภาพฯ จะหารือภายใน ก่อนยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระจากภายนอก

“หลังจากนี้สหภาพฯ การบินไทยจะติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะมีการสอบสวน หาผู้กระทำผิดมาลงโทษเพื่อให้การบินไทยเป็นองค์กรที่ปลอดปัญหาคอร์รัปชันและการทุจริตในอนาคต”

ชี้กระทบภาพลักษณ์ไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่ากรณีโรลส์-รอยซ์ ยอมความว่าได้จ่ายสินบนให้นายหน้าการบินไทยนั้น มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะมีการกล่าวอ้างถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการบินไทย จะละเลยไม่ได้ ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิด

พร้อมกันนี้ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อคะแนนและการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ซีพีไอ) ที่จะประกาศผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2559 ปลายเดือนม.ค.นี้ เนื่องจากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต

“ปปช.”ขอข้อมูล“บินไทย”

ขณะเดียวกันในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้นำข้อมูลเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ

นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หลังรับทราบข้อมูลได้สั่งให้สำนักการข่าว และสำนักการข่าวต่างประเทศประสานขอข้อมูลไปยังการบินไทย เพื่อขอข้อมูลมาสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น และให้รายงานข้อมูลกลับมาให้ที่ประชุมป.ป.ช.ทราบโดยด่วน เพื่อพิจารณาว่า จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

รวมทั้งให้ทันกับคดีการจัดซื้อบางช่วงที่ใกล้จะหมดอายุความ เนื่องได้รับรายงานว่าการจัดซื้อเครื่องยนต์แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1.ช่วงปี 2534-2535 คดีหมดอายุความไปแล้วไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ 2.ช่วงปี 2536-2540 มีบางช่วงใกล้จะหมดอายุความ 20 ปี จึงต้องเร่งดำเนินการให้ทัน 3.ช่วงปี 2547-2548 ที่ยังไม่หมดอายุความ แต่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป

สตง.สั่งรวบรวมข้อมูล

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า หลังจากมีข่าว ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการบินไทยตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อเครื่องยนต์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโรลส์-รอยซ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเท่าที่หาได้ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่เตรียมขอจากทางประเทศอังกฤษ เพื่อดูสถิติความถูกต้องของบัญชี

แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องในอดีตแต่ไม่เป็นปัญหา เราพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด อยู่ที่การบินไทยจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน หากตรวจพบการกระทำผิดจริง แม้จะเอาผิดไม่ได้ สังคมก็จะได้รับรู้ แต่ถ้ายังเอาผิดจะได้ดำเนินการตามระเบียบเท่าที่ทำได้ ที่สำคัญจะได้เป็นอุทาหรณ์แก่สังคมว่า หากกระทำผิดต้องรับผิดชอบ

“ประมนต์”ชี้สินบนมีมานาน

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการทุจริตในทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นประจำมานานแล้ว สะท้อนว่าการทุจริตเป็นโรคเรื้อรัง ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้ติดตามเรื่องนี้อยู่ว่า จะนำบทเรียนที่ผ่านมามาแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง โดยวันที่ 24 ม.ค.นี้ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลและทราบรายละเอียดมาพูดคุย