"คอร์สออนไลน์" เรียนง่าย ได้ผลจริง?

"คอร์สออนไลน์" เรียนง่าย ได้ผลจริง?

เรียนภาษา ถ่ายรูป แต่งภาพ เล่นหุ้น ฟิตหุ่นหรือจะทำขนม เย็บตุ๊กตาฯลฯ เดี๋ยวนี้ก็หาเรียนกันได้ทางออนไลน์ แต่ใครจะการันตีได้ว่า “เวิร์ค” ชัวร์

แม้กระทั่ง ‘ฮาวาร์ด’ ยังต้องเปิดคอร์สสอนถ่ายภาพทางออนไลน์ ขณะที่เครือข่ายสังคมด้านอาชีพการงานรายใหญ่อย่าง LinkedIn ก็ยังควักกระเป๋าซื้อ lynda.com เว็บการศึกษาออนไลน์ชื่อดังในราคา 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นี่คงยืนยันถึงความแรงของห้องเรียนออนไลน์ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหลักสูตรประเภทเสริมทักษะในการทำงานที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทั้งประเภทที่มองหาลู่ทางอัพฯ ตำแหน่งงาน จนถึงขยับขยาย สร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง ซึ่งเป็นทิศทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จุดขายของการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ถ้ามองในฝั่งผู้เรียน อย่างแรก คือ "เรียนที่ไหน/เวลาใดก็ได้" เพราะนี่คือโลกอินเทอร์เน็ต แล้วยังต้องดอกจันตัวโตๆ "ในราคาที่ถูกกว่า" ถ้าเทียบกับการไปเรียนที่สถาบันสอนพิเศษอย่างแน่นอน นั่นเพราะฝั่งผู้สอนมีต้นทุนที่ถูกลงอย่างมาก ไม่ต้องเช่าตึกเปิดโรงเรียน ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และจิปาถะอื่นๆ มีแค่ "ตัว" และ "ความรู้" ที่จะมาสอน จากนั้นก็ต่อเข้าอินเทอร์เน็ต

..เท่านี้ โรงเรียนออนไลน์ก็เริ่มต้นขึ้นได้แล้ว

  • เรียนง่าย ได้ทุกเวลา

ถ้าลองพิมพ์คำค้นว่า "คอร์สออนไลน์" ลงไปในกูเกิ้ล ก็จะเจอกับสารพัดคอร์สที่เปิดสอนซึ่งหลากหลายมาก ตั้งแต่ สอนเล่นหุ้น ออกแบบเว็บ ทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ถ่ายรูป-ตกแต่งภาพ-ทำงานกราฟิก เรียนภาษา ทำคัพเค้ก ฝึกกีตาร์ จนถึงคอร์สพัฒนาตัวเอง เป็นต้น

วิธีการก็แสนง่าย ส่วนมากก็แค่จ่ายเงิน จากนั้นถ้าเป็นการเรียนผ่านแชทไลน์ คนสอนก็จะส่งลิงค์ยูทูบให้เอาไปเปิดดูเอง มีการบ้านก็ส่งการบ้าน ตรวจการบ้านกลับมา มีอะไรอยากถามก็ถาม.. หรือไม่ก็ตั้งกลุ่มปิด สอนโดยไลฟ์สดซึ่งจะมาดูย้อนหลังสักกี่รอบก็ไม่มีปัญหา และเช่นกัน คือ ถาม-ตอบและส่งการบ้านกันได้ทางออนไลน์

แล้วยังมีธุรกิจประเภท "ตัวกลาง" ที่เข้ามาเป็นจุดเชื่อมระหว่าง คนสอนและคนเรียน อย่างเช่น "สกิลเลน" (SkillLane) ที่ก่อตั้งโดยสองหนุ่มคนรุ่นใหม่ ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ และ เอกฉัตร อัศวรุจิกุล ซึ่งไปเรียน Kellogg School of Management สหรัฐอเมริกา และปิ๊งไอเดียว่า อยากจะกลับมาเปิดเว็บไซต์ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ของคนทำงาน

"สมัยเรียนที่อเมริกา มีคอร์สนึงน่าสนใจมากเขามาเปิดสอน แล้วมันดีมาก หลายคนบอกว่า ห้ามพลาดคอร์สนี้เลยนะ ผมก็ตั้งใจจะต้องไปเรียนให้ได้ แต่ปรากฏว่า พอถึงเวลาจริงๆ เราไม่สามารถไปได้ ก็รู้สึกเสียดายมาก แต่ตอนหลังมารู้ว่า เขาเปิดสอนออนไลน์ด้วย ซึ่งมันเหมือนกันเป๊ะเลย ก็เลยปิ๊งไอเดียว่า ออนไลน์มันตอบโจทย์ได้จริงๆ จึงคุยกันว่า จะกลับมาทำในเมืองไทย" ฐิติพงศ์ เล่า

เมื่อเขากลับมาเมืองไทย ก็เริ่มศึกษาตลาด และพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยวัยทำงานมีอย่างน้อยหนึ่งทักษะที่อยากเรียน แล้วยังพบอีกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้เรียนอย่างที่ต้องการ โดยมีสาเหตุหลัก คือ ข้อจำกัดเรื่องเวลา

..ทำงานมาก็เหนื่อย พอเลิกงานแล้วยังต้องบังคับตัวเองไปเรียนพิเศษต่ออีก หรือถ้าจะเรียนเสาร์อาทิตย์ก็หนักใจเพราะเบียดบังเวลาครอบครัว

จึงเชื่อว่า คอร์สออนไลน์สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะเป็นการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ถ้าเทียบกับคลิปการเรียนการสอนแบบฟรีๆ ที่มีมากมายในยูทูบ ฐิติพงศ์ บอกว่า ถึงจะดูคล้าย แต่จริงๆ แล้ว เทียบกันไม่ได้ เพราะในยูทูบที่เปิดให้ดูฟรี ส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นการสอนอย่างมีหลักสูตรที่เป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งอาจทำให้งงและเข้าใจผิดๆ ถูกๆ ได้ ส่วนติวเตอร์ใจดีที่มักอัพโหลดคลิปให้ดูกันฟรีๆ นั้น เอาเข้าจริง ก็จะเอาขึ้นให้ดูพอเป็นแค่น้ำจิ้ม แต่ถ้าอยากเจาะลึกก็ต้องเสียเงินไปลงเรียนอยู่ดี

  • เลือกให้ดี ไม่มีเฟล

จากประสบการณ์ตรงของ จรรยา จ้อยเจริญ หรือ เก๋ ที่ผ่านความเฟลเพราะซื้อคอร์สเรียนภาษาเกาหลีผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์แล้วเจอครูไม่เวิร์คจนเรียนไม่จบในที่สุด

“เอาไว้ดูซีรีส์น่ะค่ะ (ยิ้ม) คือไม่อยากรอดูแปลซับฯไทย มันไม่ทันใจ อยากฟังออก จริงๆ เคยลงเรียนที่สถาบันสอนภาษาเกาหลีนะ เรียนได้ประมาณ 5 เดือนก็ต้องเลิก เพราะย้ายที่ทำงาน เลยเดินทางไปเรียนไม่สะดวก ก็ลองหาคอร์สสอนออนไลน์แทน ทีนี้เพื่อนแนะนำครูคนนึงให้ ว่า เขาสอนออนไลน์ ก็ติดต่อไป เขาก็ให้ซื้อคอร์ส จ่ายไป 8-9 พันบาทได้มั้ง จำได้ว่า ลองเอามาหารเฉลี่ยแล้วตกชั่วโมงละ 500 บาท เขาบอกว่า เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เริ่มได้ตลอด เราก็ตัดสินใจเรียน เขาก็ส่งลิงค์ยูทูบมาให้ ให้เราเรียนจากยูทูบ ซึ่งพอเรียนจริงๆ มันไม่สนุก ไม่มีเพื่อน มันคือการเรียนกับมือถือ เรียนกับจอคอมพ์ ไม่มีแรงขับเหมือนไปเรียนกับครูจริงๆ เราไม่ส่งการบ้าน เขาก็ไม่เห็นทวง หรือพอคัดลายมือแล้วถ่ายรูปส่งกลับไป เขาก็ตอบกลับมาแค่ ‘ดีค่ะ’ อะไรแบบนี้ มันก็ไม่สนุก สุดท้ายก็เลยจบไป” เก๋เล่าถึงความเฟลในประสบการณ์เรียนออนไลน์ครั้งแรก

แต่ที่ปลื้มอยู่ตอนนี้ คือ เธอเพิ่งจะซื้อคอร์สออกกำลังกายที่เรียนผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์

“เพิ่งซื้อคอร์ส ‘ฟิตเนส เทรนเนอร์ ออนไลน์’ ความที่เราอยากผอม เมื่อก่อนก็เคยไปออกกำลังกายที่ฟิตเนสนะ จ่ายค่าฟิตเนสเดือนละ 2,500 บาท แต่จ้างเทรนเนอร์เดือนละหมื่นแปด แต่ไม่ผอมลงเลย โอเคว่า มันก็ดีตรงที่ เขาสอนวิธีการเล่น การใช้อุปกรณ์อย่างถูกวิธี แต่โดยส่วนตัวไม่ค่อยสะดวกใจกับการออกกำลังกายที่ฟิตเนส อาจจะเป็นเพราะอายด้วย ไม่ชอบให้คนมอง แถมยังต้องต่อคิวรอใช้เครื่องอีก ห่วงเรื่องความสะอาดด้วย มันเลยเริ่มไม่สนุก ก็เลยไม่ไป และมาลองหาข้อมูลทางออนไลน์ดู แต่คราวนี้ หาข้อมูลอย่างจริงจัง ก็มาเจอเทรนเนอร์คนนึงที่พอเราเช็คฟีดแบ็คจากคนที่เข้ามาคอมเมนต์แล้วดูท่าจะดี ก็เลยซื้อคอร์สไป เป็นคอร์สเรียนผ่านไลน์เหมือนกัน เขาก็ให้เราส่งข้อมูลส่วนตัวไป วัดส่วนสูง น้ำหนัก อายุ การบาดเจ็บ วัดรอบแขน รอบขา แล้วก็วัตถุประสงค์ของการเล่น ฯลฯ ให้ไป เขาก็จะออกแบบการออกกำลังกายและอาหารให้ด้วย" เธอเล่า

โดยย้ำว่า ความต่างกันในครั้งนี้ คือ การหาข้อมูลอย่างจริงจัง

หลังจากซื้อคอร์ส 3 เดือน ในราคา 5 พันบาท เล่น 5 วันต่อสัปดาห์ โดยครูจะส่งคลิปสอนการออกกำลังกายท่าที่เหมาะกับตัวเธอให้มาเล่นตาม พร้อมลิสต์อาหารที่ต้องทานระหว่างวัน โดยถ้าไม่แน่ใจว่า เล่นถูกหรือผิด หรืออาหารไหนทาน ทานไม่ได้ เทรนเนอร์รายนี้ก็จะคอยให้คำตอบเสมอ

"ครูเขาตอบเอง คุยกับเราเองจริงๆ ขณะที่ครูสอนเกาหลี ได้แต่พิมพ์แชทในไลน์ ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่า เขาเป็นครูที่สอนในคลิปที่เราดูจริงๆ หรือเปล่า แต่เทรนเนอร์คนนี้ เขามีวีดิโอคอลล์สอนเราด้วย"

ขณะที่ 'โอ๋' อีกหนึ่งสาวออฟฟิศที่เริ่มอยากจะทดลองเล่นหุ้น จึงไปทดลองเรียนวิธีการเล่นหุ้นทางออนไลน์ เธอเล่าว่า เริ่มจากเห็นกูรูหุ้นมาเปิดเพจและเชิญชวนให้ไปเรียนเบื้องต้นฟรี ก็เลยลองไป จากนั้นก็มีการเปิดขายคอร์สออนไลน์ด้วย 

"เขาก็จะพยายามเอาความสำเร็จของนักเรียนรุ่นก่อนๆ ที่เรียนไปแล้วหุ้นสำเร็จมาลงเชิญชวนอยู่เรื่อยๆ นี่ก็จ่ายค่ามัดจำจองเรียนไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่เลือกเรียนแบบออนไลน์ เพราะรู้สึกว่าเป็นส่วนตัวดี คือคิดว่า การไปเรียนเล่นหุ้น มันเหมือนแบบจะไปป่าวกระกาศกับใครว่าเรามาเรียนเรื่องหุ้น มันก็ไม่ใช่ป่ะ เลยแบบหาอ่านในอินเทอร์เน็ต แล้วก็มาเจอกับครูคนนี้ ก็เลยลองไปดู แต่จริงๆ ส่วนตัวคิดว่า ถ้าเรียนออนไลน์อย่างเดียวคงไม่เวิร์ค เพราะมันดีแค่สะดวก และเป็นส่วนตัว แต่มันก็ขาดแรงกระตุ้น แล้วสุดท้ายก็จะขี้เกียจ และเรียนไม่จบในที่สุด" เธอให้ความเห็น

  • เช็คให้รู้ ว่า 'ครู' จริง

ท่ามกลางคอร์สที่ขายกันเป็นพันเป็นหมื่นคอร์สเกลื่อนโลกออนไลน์ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าคอร์สไหนดีหรือไม่ดี ?
เรื่องนี้ ขจร พีรกิจ Adobe Community Professional และเป็นหนึ่งในทีมผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของอะโดบี ผู้เคยไฝว้กับครูออนไลน์ท่านหนึ่งที่ทำคลิปสอนตกแต่งภาพอย่างผิดๆ ถูกๆ แล้วเอาขึ้นยูทูบให้คนดูกันฟรีๆ ซึ่งคนก็เข้ามาดูกันเยอะมาก และจำเอาวิธีผิดๆ ไป จนเขาซึ่งเป็นทีมพัฒนาโปรแกรมของอะโดบีทนไม่ได้ ส่งคลิปการสอนอย่าง "ถูกต้อง" ขึ้นยูทูบ และเกิดเป็นดราม่าย่อยๆ ในวงการกันไป

"คอร์สเดี๋ยวนี้ ใครอยากเปิด ใครอยากสอนอะไรก็ลุกขึ้นมาสอน แต่ไม่แสดงตัวตนจริงๆ แล้วเวลาเกิดปัญหา จะไปร้องเรียนกับใคร อย่างเคสที่ผ่านมา ที่มีคนมาสอนโฟโตช็อปอย่างผิดๆ ตอนหลังพอถูกจับได้ว่า สอนผิด เขาก็เปลี่ยนชื่อแล้วเนียนๆ ไปเปิดคอร์สสอนทำมาหากินในชื่อใหม่นะ" ขจรเล่า

และแสดงความเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวล ไม่ใช่เรื่องที่ว่า จะสอนออนไลน์ หรือออฟไลน์ เพราะใช่ว่าที่เปิดโรงเรียนสอนกันอยู่นั้นจะเชื่อถือได้เสียทั้งหมด แต่ที่น่าคิดถึงมากกว่า คือ "ทัศนคติเอาง่ายเข้าว่า" ของคนเรียนที่อยากได้ทางลัด จนอาจตกเป็นเหยื่อของคำโฆษณาชูจุดขายในทำนอง 'เรียนง่าย วันเดียวก็ทำเป็น' ของติวเตอร์กำมะลอ

"หลายๆ สถาบันที่เปิดสอนอยู่ก็ไม่ได้มีคุณภาพเพียงพอหรอกนะ คนที่มาเรียน เขาก็ไม่รู้หรอกว่า เอาใครมาสอน แล้วฝั่งคนเรียนก็ชอบหาทางเรียนลัด แล้วจะไปหามาตรฐานจากไหน เพราะไม่เรียนกันตั้งแต่เบสิค อย่างการรีทัชรูปที่บางคนเห็นว่า สวยๆ เนี่ย บางทีใช้เวลา 5 วันกว่าจะประดิดประดอยได้นะ ต้องใช้ความอดทนสูง แต่คนไม่อยากยุ่งยากไง อยากได้แบบง่ายๆ ก็เลยมีคนมาเปิดสอนแบบทางลัด โดยไม่ต้องพูดถึงเบสิคเลย” เขาอธิบาย

และเปรียบเทียบคอร์สตกแต่งภาพอย่างง่ายที่เปิดสอนกันทั่วไปนั้น หลายๆ คอร์สไม่ใช่การสอนตั้งแต่พื้นฐาน นั่นย่อมแปลว่า คนเรียน ก็จะได้ประโยชน์ไปอย่างแคบ และไม่สามารถพลิกแพลงใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้

“อย่างคอร์สสอนทำหน้าอ้วนให้ผอม คนก็ฮือฮา ไปเรียนทำหน้าผอมกัน แต่ถามหน่อยว่า ในการใช้งานจริง เราจะทำหน้าอ้วนให้หน้าผอมสักกี่ครั้งเชียว แต่คุณน่าจะออกแบบโปสเตอร์ ทำแอด มากกว่ามั้ย”

นอกจากนี้ การสอนผ่านออนไลน์ ยังต้องเช็คให้ชัวร์อีกด้วยว่า ครูผู้สอนที่กำลังตอบคำถามเราอยู่ผ่านโปรแกรมพิมพ์แชทนั้น คือ ครูตัวจริงที่เราอยากเรียนด้วยหรือเปล่า และเราจะรู้ "ตัวตนจริงๆ" ของครูรายนั้นได้หรือไม่ ถ้าสอนห่วย สอนมั่ว หรือ ทำได้ไม่เท่ากับที่โฆษณาไว้

..แล้วเราจะไปร้องเรียนกับใครได้ ในเมื่อแม้กระทั่งชื่อจริงของครู เรายังไม่รู้!