รพ.รามาฯผ่าตัดใส่หัวใจเทียม'ฮาร์ทเมท3'สำเร็จ

รพ.รามาฯผ่าตัดใส่หัวใจเทียม'ฮาร์ทเมท3'สำเร็จ

รพ.รามาฯ ผ่าตัดใส่หัวใจเทียม “ฮาร์ท เมท 3” สำเร็จครั้งแรกของไทย ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “รามาธิบดีกับความสำเร็จ :การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยกัวใจเทียม Heart Mate3 ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย”ว่า การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียมฮาร์ท เมท3( Heart Mate3)ก็เป็นวิธีการใหม่ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย ซึ่งได้ผลดีแก่ผู้ป่วย และนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกในวงการแพทย์ไทยที่สามารถทำการผ่าตัดด้วยเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate3 ซึ่งเครื่องหัวใจเทียมนี้เป็นเครื่องมือที่ผ่านการรับรองให้ใช้สำหรับช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ หรือเรียกอีกชื่อว่าLVAD(Left Ventricular Assist Device) หน้าที่ของเครื่องคือ ทำการปั๊มเพิ่มแรงดันส่งเลือดให้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่งในวงการแพทย์ของประเทศไทย ทั้งนี้ ในกรณีผู้ป่วยยากไร้ที่คณะแพทย์ให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ก็จะประสานไปยังมูลนิธิรามาธิบดีเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่าย

 ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ อาจารย์ภาควิชาอายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า คนไข้รายนี้อายุ 75 ปี ประมาณเมื่อ 5 ปีก่อนีอาการเหนื่อยหอบง่าย เป็นภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ที่ผ่านมาเคยได้รับการผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจและฝั่งเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจแล้วอาการดีขึ้น จนเมื่อประมาณ 1 ปีก่อนเริ่มกลับมาเหนื่อยง่ายอีกครั้ง เป็นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวลดลงแม้จะมีการปรับยาแล้วก็ยังเหนื่อยง่าย จึงเรียนปรึกษาผู้ป่วยว่ามีเครื่องหัวใจเทียมรุ่นใหม่ คือ ฮาร์ท เมท3(heart mate 3)ที่จะช่วยรักษาได้ จึงตกลงที่จะทำการผ่าตัด

อ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ แพทย์หน่วยโรคหัวใจ ภาควิาชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า ตัวเครื่องทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในกรณีที่หัวใจของผู้ป่วยไม่สามารถทำงานเองได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโดยใส่เครื่อง Heart Mate3 มีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น สามารถ เดิน ขึ้นบันได ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยรู้สึกเหนื่อยน้อยลงกว่าก่อนได้รับการรักษา โดยมีค่าใช้จ่ายในส่วนของฮาร์ดแวร์ ประมาณ 6 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆร่วมด้วย โดยในต่างประเทศมีรายงานอายุการใช้เครื่องนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปีและมากสุดที่ 10 ปี 

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยใส่เครื่อง Heart Mate3 จะมีอุปกรณ์สำคัญอยู่ 4 อย่างที่จะต้องติดตัวผู้ป่วยตลอดเวลา ได้แก่ 1.ตัวปั๊มเลือด ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับหัวใจภายในร่างกาย ทำจากโลหะ มีใบพัดภายในเพื่อหมุนให้เลือดไหลเวีย2. สาย Driveline เป็นสายเชื่อมต่อส่งข้อมูลและพลังงานไฟฟ้าระหว่างปั๊มภายในกับตัวควบคุมภายนอก 3. ตัวควบคุม หรือ Controller อยู่ภายนอกร่างกาย คอยควบคุมการทำงานของตัวปั๊มเลือดภายใน มีหน้าจอแสดงผล มีไฟ และเสียงเตือนต่าง ๆ และ4.แบตเตอรี่ สำหรับจ่ายไฟให้กับตัวควบคุม ซึ่งสามารถทำงานอยู่ได้ราว 17 ชั่วโมงหากชาร์จเต็ม โดยเครื่องรุ่นใหม่นี้ ได้รับการพัฒนาใหม่กว่าและมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ชื่อว่า Full MagLev ซึ่งช่วยให้การไหลผ่านของเลือดดีขึ้น ตัวปั๊มมีขนาดเล็กลงทำให้ลดข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยที่มีขนาดร่างกายเล็ก

รศ.นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิธีการผ่าตัดใส่เครื่อง Heart Mate3 ว่า วิธีการผ่าตัด ทำได้โดยผ่านทางแผลผ่าตัดกลางหน้าอก จากนั้นศัลยแพทย์จะให้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว แล้วจึงเชื่อมผู้ป่วยเข้ากับเครื่องหัวใจและปอดเทียม เมื่อทำการเชื่อมต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วในขณะที่หัวใจยังบีบตัวอยู่ตลอดเวลา ศัลยแพทย์ก็จะทำการวางเครื่อง Heart Mate3 โดยการฝังท่อนำเลือดของเครื่อง Heart Mate3 เข้าไปที่จุดยอดของหัวใจห้องซ้ายล่าง ต่อมานำสายควบคุมการทำงานและพลังงานออกมาทางผนังหน้าท้องผ่านทางแผลเล็กอีกแผลหนึ่ง และในขั้นตอนสุดท้ายคือการต่อเชื่อมท่อนำเลือดออกจากเครื่อง Heart Mate3 เข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออตาร์ (aorta) เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนจะให้เครื่องเริ่มการทำงาน และค่อย ๆ ลดการช่วยของเครื่องหัวใจและปอดเทียม จนกระทั่งหยุดเครื่องหัวใจและปอดเทียมได้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นทางศัลยแพทย์จะทำการห้ามเลือดและเย็บปิดแผล

“การผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายในระยะยาว ซึ่งเป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีภาวะน้ำท่วมปอด หรือผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างรอเพื่อรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและมีอาการหนัก โดยที่ยังไม่มีหัวใจจากผู้บริจาคที่เหมาะสม หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และอวัยวะอื่นในร่างกายยังปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องไต ตับผิดปกติ รวมทั้ง มรการทำงานของหัวใจข้างขวาทำงานเป็นปกติ เพราะเครื่องนี้ต้องวางไว้ที่หัวใจห้องซ้าย ”รศ.นพ.ปิยะกล่าว

พล.อ.ณรงค์ จารุเศรณี ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา กล่าวว่า อาการก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดมีอาการเหนื่อยง่าย เดินนิดหน่อยก็หอบ เหนื่อยง่าย หายใจไม่ได้ แพทย์บอกว่าการขยับของกล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดไม่ดี เหมือนปั๊มน้ำที่ปั๊มเอาน้ำออกไม่หมดทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำหรือเลือดอยู่ในหัวใจและปอด ทำให้หายใจไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องสร้างเครื่องปั๊มใหม่ ด้วยการผ่าตัดใส่เครื่องมือนี้ ซึ่งหลังผ่าก็พักรักษาตัวในห้องไอซียูราว3 สัปดาห์ ถึงจะฟื้นตัวและพักรักษาในโรงพยาบาลอีกประมาณ 1 เดือน

 “หลังผ่าผมเดินได้ระยะเท่าเดิมก่อนที่จะป่วย คือ 2-3 กิโลเมตรจากที่เดิอนได้เพียง 300 เมตร และการใช้ชีวิตดีขึ้น โดยผมจะต้องพกแบตเตอรี่ติดตัวตลอดเวลาหนักราวๆ 1 กิโลกรัม หากอยู่ที่บ้านก็จะเสียบกับปลั๊กไฟ แต่หากออกไปข้างนอกก็ใช้แบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเต็มอยู่ได้ประมาณ 17 ชั่วโมง”พล.อ.ณรงค์กล่าว