สายการบินฟื้นตลาดจีนหลังยุคศูนย์เหรียญ

สายการบินฟื้นตลาดจีนหลังยุคศูนย์เหรียญ

เทศกาลตรุษจีน เป็นหนึ่งช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวกำลังจับตามองอย่างมาก ในฐานะตัวชี้วัดที่สำคัญว่าตลาดจีนจะกลับมาเป็นปกติ

โดยเฉพาะ “สายการบิน” ซึ่งนำนักท่องเที่ยวเข้ามาโดยตรง ที่ได้สะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2560 หลังผ่านการจัดระเบียบทัวร์ผิดกฎหมายเริ่มต้นราวไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่าสถานการณ์ตลาดจีนเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนที่มีผู้โดยสารจองเข้ามาหนาแน่นในเส้นทางที่นกสกู๊ตบินอยู่ ได้แก่ เทียนจิน, เสิ่นหยาง, ชิงเต่า, ต้าเหลียน และนางกิง แต่ที่ต้องจับตามองมากกว่าคือ “หลังตรุษจีน” เมื่อไม่มีเทศกาลขับเคลื่อนแล้ว ตลาดจีนจะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร ทำให้ยังต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง

ในเชิงการขยายธุรกิจปีนี้ อาจจะเน้นที่การ “เพิ่มความถี่” เที่ยวบินเส้นทางที่มีอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการหันไปจับตลาดเชื้อสายจีนจาก “ไต้หวัน” มากขึ้น ปัจจุบันนกสกู๊ตมีเส้นทางระหว่าง กรุงเทพฯ-ไทเป อยู่แล้ว แต่กำลังพิจารณาเพิ่มความถี่เป็นวันละ 1 เที่ยวทุกวัน หลังจากอัตราบรรทุกเฉลี่ยเริ่มฟื้นกลับมาแตะระดับสูงกว่า 80%

“อัตราบรรทุกเฉลี่ยเส้นทางจีนปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 80% แล้ว และในช่วงตรุษจีนมียอดกรุ๊ปทัวร์จองเข้ามาค่อนข้างเต็มแล้ว เช่นเดียวกับราคาขายที่กลับมาเป็นปกติ แต่ทั้งนี้ในปีนี้ การพิจารณาขยายการลงทุนยังต้องรอบคอบ โดยเบื้องต้นจะยังคงใช้เครื่องบิน 3 ลำให้บริการเหมือนเดิม”

ปิยะ ขยายความว่าไม่ใช่ด้วยปัจจัยตลาดจีนอย่างเดียวที่มีผลต่อการวางแผนธุรกิจในปีนี้ แต่สิ่งสำคัญคือ สายการบินยังต้องรอผลการพิจารณาออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (เอโอซี) ที่เริ่มกระบวนการใหม่ และนกสกู๊ตอยู่ในกลุ่มที่กำลังได้รับการตรวจสอบในขณะนี้ หลังจากที่ขั้นตอนของการบินไทย, บางกอกแอร์เวยส์ ในเฟสแรกเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่จะนำให้ไทยกรมการบินพลเรือน "ปลดล็อคธงแดง" จากองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ด้านการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัยด้านการบิน (เอสเอสซี) ได้

“กรมการบินพลเรือน วางกำหนดการแก้ไขปัญหาเอสเอสซีในเดือน พ.ค.ซึ่งสายการบินก็ต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน ขณะนี้ให้เวลาอีก 2 เดือนว่าทิศทางการแก้ไขจะเป็นอย่างไร เรียบร้อยหรือไม่ ทำให้ขณะนี้ชะลอการรับเครื่องบินใหม่ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ต้องนำเครื่องมาแบกรับเป็นภาระต้นทุนไว้ หากแนวโน้มเสร็จทันตามกำหนด ก็จะมองการขยายกลับไปที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แน่นอน พร้อมกับรับเครื่องบินลำใหม่ 1 ลำภายในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้กลับมามีเส้นทางที่หลากหลาย นอกเหนือจากจีน” ปิยะ กล่าว

ด้าน ประมุข ไชยวรรณ ประธานกรรมการสายการบินนิว เจน แอร์เวยส์ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) อันดับต้น เปิดเผยว่า ยอดจองของลูกค้าจีนในช่วงฉลองตรุษจีนเต็ม 100% ไปแล้ว จากการให้บริการที่มีอยู่ 18 เส้นทาง ซึ่งปริมาณผู้โดยสารลดลงไปราว 50% เมื่อเทียบกับตรุษจีนของปี 2559 เช่น เที่ยวบิน 1 ลำจากที่เคยบินไป-กลับ 2 เที่ยว/วัน ในช่วงเทศกาล ก็จะเหลือเพียง 1 เที่ยว/วัน เป็นต้น

สาเหตุหลักไม่ได้เป็นเพราะความต้องการตลาดจีนลดลง แต่เป็นเพราะผู้ให้บริการในไทยเองที่ไม่สามารถจัดสรรบริการได้เพียงพอ โดยเฉพาะรถบัสที่เคยอยู่ในเครือข่ายธุรกิจเดิมที่ถูกจับกุมไปราว 2,000 คันที่ปกติให้บริการในกรุงเทพฯ-พัทยา เป็นหลัก ทำให้บริษัททัวร์ปรับแผนนำชาร์เตอร์ไฟลท์ไปลงยังจังหวัดชายทะเลที่ยังไม่ขาดแคลนรถโดยสาร ได้แก่ ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ แทน เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถจัดหารถบัสได้โดยคิดค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นภาระต้นทุนต่อบริษัททัวร์ได้ แต่ด้วยขีดความสามารถในการรองรับที่ไม่มากเท่ากรุงเทพฯ และพัทยา ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวยังอ่อนตัวลง

“ดีมานด์ของตลาดจีนยังมีสูงมาก ราคาแพ็คเกจเริ่มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากการจัดระเบียบ และเรื่องราคาสูงแค่ไหนก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีน ดังนั้น ภูเก็ต ที่มีราคาเฉลี่ยค่อนข้างสูงกว่าที่อื่นๆ ในเวลานี้จึงยังขายได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ แหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นขาดแหล่งชอปปิงหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งตามพฤติกรรมแล้วชาวจีนชอบการจับจ่ายมาก โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม ดังนั้นหากเลือกได้จึงต้องการมากรุงเทพฯ เป็นอันดับหนึ่งอยู่นั่นเอง”

ประมุข กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการยังต้องการอีกเรื่องคือ “ความเชื่อมั่น” ให้การรับรองจากภาครัฐในการไม่เอาผิดย้อนหลังกับบริษัทที่เคยใช้บริการเครือข่ายของบริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต ที่ถูกจับกุม และหากมีการประกาศที่ชัดเจนกว่านี้ เชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อมจะขับเคลื่อนและฟื้นธุรกิจทัวร์จีนกลับมาอย่างรวดเร็วใน 2 เดือนแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ที่ตลาดเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว นิว เจน แอร์เวยส์ จึงวางแผนการลงทุนเพิ่ม โดยปัจจุบันมีฝูงบิน 9 ลำอยู่แล้ว แต่ในเดือน ก.พ.จะเพิ่มอีก 1 ลำ และเดือน มิ.ย.-ก.ค.เพิ่มอีก 2 ลำ โดยเลือกโบอิ้ง 737-800 จำนวน 185 ที่นั่งเข้าประจำการ พร้อมกับตั้งเป้าขยายเส้นทางในจีนเป็น 24 เมือง และบรรทุกผู้โดยสารกว่า 7-8 แสนคน

ด้าน วรเนติ หล้าพระบาง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ กล่าวว่า ตลาดจีนลดต่ำสุดในเดือน ต.ค.2559 ในอัตราติดลบ 30% แต่ปัจจุบันเริ่มกลับมา “ทรงตัว” แล้ว และเมื่อย่างเข้าสู่เดือน ม.ค.เริ่มเห็นทิศทางบวก แต่ทั้งนี้ยังต้องรอประเมินสถานการณ์หลังจากตรุษจีนเช่นกัน ว่าโมเมนตัมด้านการเดินทางจะยังแรงต่อเนื่องหรือไม่

นอกจากนั้น แม้ว่ายังอยู่ในช่วงที่รัฐบาลจัดระเบียบแต่ยังเห็นศักยภาพของเส้นทางจีน และเตรียมการขยายจุดบินเพิ่มเติมในเมืองรองเพื่อขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพ และเสริมสร้างยุทธศาสตร์เจาะกลุ่มผู้โดยสารที่นิยมเชื่อมต่อจุดบินให้กับการบินไทย โดยมีแผนเปิดเส้นทางบินเพิ่มเติม อาทิ กรุงเทพฯ – เจิ้งโจว โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 27 ม.ค.นี้ ด้วยความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมไปถึงเส้นทาง ภูเก็ต – กวางโจว ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ