จ่าย 36 ล้านดอลลาร์นายหน้าบินไทย

จ่าย 36 ล้านดอลลาร์นายหน้าบินไทย

"โรลส์-รอยซ์" ยอมรับจ่ายสินบนให้นายหน้าการบินไทยกว่า 36 ล้านดอลลาร์ ช่วยจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่น “เทรนท์” "จรัมพร" สั่งสอบใน 30 วัน

สำนักข่าวชื่อดังของโลกทั้งบีบีซี การ์เดียนและรอยเตอร์ รายงานอ้างแถลงจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงของอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ระบุว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากอังกฤษ ยอมจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยอมความข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล

บีบีซี รายงานว่า เอสเอฟโอ ตรวจสอบพบการติดสินบนของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนและอินโดนีเซีย ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน จากนั้นจึงตรวจสอบพบว่า โรลส์-รอยซ์ ละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการติดสินบนและคอร์รัปชันในหลายประเทศ

ขณะที่ กระทรวงยุติธรรมยุติธรรมของสหรัฐ แถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ ในช่วงปี 2543-2556 ทั้งในคาซัคสถาน, บราซิล, อาเซอร์ไบจาน, แองโกลา, อิรัก และไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 35 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ

รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ในส่วนของการติดสินบนในประเทศไทย ไม่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องดังกล่าว และไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวออกมา

แต่สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่ากรณีติดสินบนในประเทศไทย โรลส์-รอยซ์ ตกลงจ่ายเงินจำนวน 18.8 ล้านดอลลาร์ แก่ตัวแทนระดับภูมิภาค ซึ่งหมายถึงบริษัทท้องถิ่นที่ดูแลการขาย กระจายสินค้าและการบำรุงรักษาในหลายประเทศ ที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ ไม่มีบุคลากรเพียงพอในการดูแล เพื่อแลกกับการทำสัญญาซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่นที 800 ของบริษัทการบินไทย

จ่าย36ล้านดอลล์นายหน้าบินไทย

ขณะที่หนังสือพิมพ์การ์เดียน รายงานข่าวเรื่องนี้โดยระบุว่าในส่วนของประเทศไทยนั้น โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินกว่า 36 ล้านดอลลาร์ (1,270 ล้านบาท) ระหว่างปี2534-2548 ให้กับนายหน้า เพื่อช่วยเหลือเรื่องสัญญา 3 ฉบับในการจัดหาเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่น “เทรนท์” ให้กับบริษัทการบินไทย

ด้านเจ้าหน้าที่เอสเอฟโอ ผู้หนึ่งเปิดเผยว่า เงินสินบนบางส่วนจ่ายให้เป็นรายบุคคล มีทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลส์-รอยซ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยนต์ ที800 ของบริษัทแห่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม โรลส์-รอยซ์ ยินดีที่จะจ่ายเงินรวมกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล โดยจะจ่ายเงินให้แก่เอสเอฟโอ เป็นเงิน 617 ล้านดอลลาร์ รวมกับดอกเบี้ยตลอดช่วงระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา

จ่าย170ล้านดอลล์แลกยอมความ

นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ ยังตกลงยอมความกับสหรัฐ โดยจะจ่ายเงินให้แก่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเป็นเงิน 170 ล้านดอลลาร์ ส่วนบราซิล จะเป็นการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานคดีอาญาแห่งรัฐ เป็นเงินทั้งสิ้น 25.6 ล้านดอลลาร์

หลังจากบรรลุข้อตกลงยอมความแล้ว นายวอร์เรน อีสต์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโรลส์-รอยซ์ ได้ออกแถลงการณ์ ขอโทษเรื่องการติดสินบนของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ารับไม่ได้ พร้อมทั้งระบุว่า หลังเกิดเหตุ บริษัทได้ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆและได้ยกเลิกการใช้ตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับคดี

ทั้งนี้ การประนีประนอมยอมความกันได้ทำให้จะไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญาต่อโรลส์-รอยซ์ และทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ด้านนายเดวิด กรีน ผู้อำนวยการของเอสเอฟโอ กล่าวว่า การทำข้อตกลงประนีประนอมยอมความครั้งนี้ เปิดทางให้โรลส์รอยซ์มีแนวทางดำเนินการใน 7 ประเทศ ครอบคลุม 3 สาขาธุรกิจของบริษัท คือเครื่องบินพลเรือน อากาศยานทหาร และระบบพลังงาน

ขณะที่ นายไบรอัน ลีเวสสัน ผู้พิพากษาศาลฎีกาของอังกฤษ เป็นผู้อนุมัติข้อตกลงยุติการดำเนินคดีบริษัทโรลส์รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินในประเทศอังกฤษ กรณีโรลส์รอยซ์จ่ายสินบนเพื่อให้ได้ขายเครื่องยนต์อากาศยานในอังกฤษ สหรัฐ และบราซิล

ทั้งนี้ ผู้ผลิตเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ สัญชาติอังกฤษ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับรถยนต์โรลส์รอยซ์ ซึ่งบริษัทบีเอ็มดับเบิลยู ของเยอรมันเป็นเจ้าของ

ตั้งกรรมการสอบสินบน30วัน

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการบินไทย วานนี้ (18 ม.ค.) ว่า บอร์ดการบินไทยมีมติให้ตั้งคณะกรรมการหาข้อมูลกรณีที่บริษัท โรลส์รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยอังกฤษ (SFO) ว่าได้จ่ายสินบนในประเทศไทยระหว่างปี2534-2548 ในเบื้องต้นจะใช้เวลาสอบสวน 30 วัน และสามารถขยายได้ถึง 60 วันหรือ 90 วัน จากนั้นจะนำข้อมูลมาตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อได้รับข้อเท็จจริง

“การบินไทยจะพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมในการจัดการเรื่องทุจริตครั้งนี้โดยเร็ว เพื่อดำรงเจตนารมณ์ในด้านความโปร่งใสไว้ตลอดไป”

นายจรัมพร กล่าวว่าหากพบว่าประเด็นดังกล่าวมีมูลจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบต่อไปและยืนยันว่า ถ้าถึงผู้กระทำผิดเกษียณอายุไปแล้วก็ยังสามารถเอาผิดได้

เตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจในเดือนมิ.ย.นี้

สำหรับยุทธศาสตร์องค์กรในปี 2560 การบินไทยจะดำเนินแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 ต่อเนื่องอีก 6 เดือนและจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูระยะที่ 3 โดยปีนี้มีแผนจะรับเครื่องบินใหม่จำนวน 7 ลำ แบ่งเป็น จัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 350 จำนวน 2 ลำ และเช่าอีก 3 ลำ นอกจากนี้จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 จำนวน 2 ลำ โดยจะทดแทนเครื่องบินเก่า 7 ลำ ที่จะปลดระวางและส่งผลให้ฝูงเครื่องบินของการบินไทยอยู่ที่ 94 ลำเท่าเดิม

นอกจากนี้ มีแผนจะลดส่วนของครัวการบินไทย โดยเตรียมหาผู้ร่วมทุนมาดำเนินการด้วย และจะปรับโครงสร้างฝ่ายบริการภาคพื้นดิน สนามบิน และเครื่องบินให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. นี้ จากนั้นจะหาผู้เข้าร่วมทุนด้วย

ปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะมีอัตราการบรรทุก 80% สูงกว่าปี 2559 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 77.8% และในช่วง 11 วันแรกของเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นไฮท์ซีซั่นมีอัตราบรรทุกเฉลี่ยแล้วอยู่ 86% ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มการจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มจาก 15%เมื่อปีก่อนเป็น 21% และคาดว่าปลายปีนี้จะอยู่ที่ 30%

รอสคร.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครดีดี

นายจรัมพร กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมบอร์ด ยังมีการรายงานความคืบหน้าการสรรหาดีดีคนใหม่ เพื่อแทนนายจรัมพรที่กำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 9 ก.พ. โดยขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่า ผู้สมัครทั้ง 9 รายผ่านคุณสมบัติหรือไม่ เพราะต้องรอผลการตรวจสอบคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นหน่วยงานสุดท้าย

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าคณะกรรมการสรรหาดีดี การบินไทยรายงานว่า สคร. จะสรุปเรื่องคุณสมบัติส่งให้การบินไทยประมาณ 1 สัปดาห์ข้างหน้า โดยหลังจากนั้นจะคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติตามขั้นตอนต่อไปและบอร์ดจะเร่งประชุมเพื่อให้ทันช่วงที่นายจรัมพรเกษียณอายุ อย่างไรก็ตาม หากสรรหาดีดีคนใหม่ไม่ทันก็ต้องมีกลไกการตั้งรักษาการขึ้นมาดูแลตามปกติ

เปิดรายชื่อบอร์ดตั้งแต่ปี 2531

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งดีดีการบินไทยและเป็นประธานบอร์ดการบินไทยในช่วงเวลาปี 2531-ปัจจุบันมีรายละเอียดดังนี้คือ นายวีระ กิจจาทร เป็นดีดีการบินไทยปี2531-2535พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด (ปี2531-2532 ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ปี2532-2535พล.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ.เป็นประธานบอร์ด ส่วนปี2535-2536 นายฉัตรชัย บุญญะอนันต์ เป็นดีดีการบินไทย ขณะที่พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ผบ.ทอ.เป็น ประธานบอร์ด

สำหรับปี2536-2543นายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นดีดีการบินไทย พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยตั้งแต่ปี2536-2539 หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ โดยมีการแต่งตั้งนายมหิดล จันทรางกูร ปลัดกระทรวงคมนาคมมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย ช่วงระหว่างธ.ค.2539-พ.ย. 2543จากนั้นปี2543-2544นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ เป็นดีดีการบินไทย แต่รัฐบาลสมัยนั้นแต่งตั้งนายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานบอร์ดการบินไทย ( พ.ย.2543-เม.ย.2544) และรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนประธานบอร์ดใหม่โดยแต่งตั้งนายชัยอนันต์ สมุทวณิช (พ.ค.2544-ก.ย.2544) และต่อจากนั้นได้เปลี่ยนคณะกรรมการใหม่ทั้งชุดได้แต่งตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานบอร์ดการบินไทย (ต.ค.2544-พ.ค.2545 ) แต่ได้สรรหาดีดีใหม่เป็นนายนายกนก อภิรดี ปี2545-2549

ขณะเดียวกัน ในเดือนมิ.ย. 2545-มี.ค.2548 ได้ปรับเปลี่ยนตัวประธานบอร์ดใหม่เป็นนายทนง พิทยะ หลังจากนั้นในปีเดียวกันได้เปลี่ยนประธานบอร์ดอีกรอบเป็นนายวันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม (มี.ค.2548-พ.ย.2549)

ทั้งนี้ในยุคพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตั้งพล.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ดการบินไทย (พ.ย.49- พ.ย.51) โดยมี ร.อ.อภินันท์ สุมนะเศรณี นั่งเก้าอี้ดีดีการบินไทย ปี 2549-2552 หลังจากนั้นได้เปลี่ยนตัวประธานบอร์ดใหม่เป็นนายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม (19 พ.ย.2551-มี.ค.2552) และปี2552-2555 มีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นดีดีการบินไทย จากนั้นมีการเปลี่ยนประธานบอร์ดเป็นนายอำพล กิตติอำพน (เม.ย.2552- มิ.ย. 57 )

ขณะที่ ดีดีการบินไทยเปลี่ยนเป็น นายสรจักร เกษมสุวรรณ ช่วง2555-2557และได้เปลี่ยนตัวประธานบอร์ใหม่กลางปี 2557 เป็นพล.อ.ประจิน จั่นตอง และ ปี2557-ปัจจุบัน นายจรัมพร โชติกเสถียร เป็นดีดีการบินไทย และมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มเป็นประธานบอร์ดการบินไทย(ช่วงปี 2558-ปัจจุบัน)