ชี้ปรองดองจะสำเร็จ หากทุกฝ่ายมีส่วนร่วม-เปิดพื้นที่พูดคุย

ชี้ปรองดองจะสำเร็จ หากทุกฝ่ายมีส่วนร่วม-เปิดพื้นที่พูดคุย

นักสันติวิธีชี้ปรองดองสำเร็จได้ หากทุกฝ่ายมีส่วนร่วม-เปิดพื้นที่พูดคุย แนะป.ย.ป.นำรายงานปรองดองมาพิจารณา

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่าในส่วนของการสร้างความปรองดองนั้น ตนมองว่าควรนำผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีหลายคณะทำงานได้ศึกษา มาตั้งแต่ ปี 2552

อาทิ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน, รายงานของสถาบันพระปกเกล้า, รายงานปรองดองของสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานศึกษา มาพิจารณา และเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนตามผลศึกษาและข้อเสนอให้เป็นรูปธรรม ซึ่งตนเชื่อว่าหากรัฐบาลมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำให้เรื่องปรองดองให้สำเร็จภายในปีนี้ จะสามารถทำงานปรองดองให้สำเร็จได้ แต่กรณีของการตั้งคณะบุคคลเพื่อทำงานปรองดอง ซึ่งประกอบไปด้วยนายทหารนั้น ตนมองว่าอาจทำงานสำเร็จได้ยาก ดังนั้นควรปรับให้มีบุคคลที่มาจากหลากหลาย และประกอบไปด้วยบุคคลที่มีปัญญา และความรู้ เข้ามาทำงาน เพราะจากประสบการณ์ของตนมองว่าการทำงานโดยมีแต่คำสั่งและอำนาจเท่านั้นการปรองดองจะเดินหน้าไม่ได้

“สิ่งสำคัญ คือการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งผมสนับสนุนรัฐบาลที่จะเปิดพื้นที่ให้นักการเมือง หรือ ฝ่ายต่าง ๆ ร่วมพูดคุย แต่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร ควรกำหนดให้ชัดเจน อย่างน้อยควรพูดให้ชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง หรือนักการเมืองได้จัดประชุม เพื่อพูดคุยและเสนอความเห็นมายังรัฐบาล” พล.อ.เอกชัย กล่าว

พล.อ.เอกชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับปัญหาการสร้างความปรองดองที่ผ่านมาแต่ไม่เกิดความสำเร็จนั้น ส่วนตัวมองว่าเพราะฝ่ายที่ดำเนินการขาดความอดทนต่อการรับฟังความเห็นต่าง, ไม่เปิดใจและมุ่งมั่นต่อการขับเคลื่อนและมีความอคติที่ไม่มองอนาคตร่วมกัน ดังนั้นการขับเคลื่อนความปรองดองต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นแล้วการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความปรองดองต้องทำทั้งในระดับผู้ปฏิบัติการเชิงนโยบายของฝ่ายต่าง ๆ แกนนำในพื้นที่และประชาชน โดยสำคัญต้องทำทั้งในระบบกระบวนการยุติธรรม อาทิ การชะลอการลงโทษ หากผู้อยู่ระหว่างดำเนินคดีสารภาพ รวมถึงการเปิดพื้นที่พูดคุยแลให้อภัย ซึ่งหมายถึงการลดโทษ ขณะที่ประเด็นนิรโทษกรรมควรเป็นประเด็นสุดท้ายที่จะยกมาพิจารณา