รอบอร์ดอ.ก.พ.ศธ.ครบเดินหน้าสรรหาศธภ.-รองศธภ.

รอบอร์ดอ.ก.พ.ศธ.ครบเดินหน้าสรรหาศธภ.-รองศธภ.

ประชุมบอร์ดอ.ก.พ.กระทรวง มีมติเร่งสรรหากรรมการอีก 8 ตำแหน่งให้ครบองค์ประกอบ ก่อนเดินหน้าคัด ศธภ.-รองศธภ.24 ตำแหน่ง

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงชุดใหม่ ที่มีนพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์  รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้มี อ.ก.พ.กระทรวงเพียงคณะเดียว และให้อ.ก.พ.กระทรวงชุดใหม่นี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีนั้น ที่ประชุมได้ทำความเข้าใจและหารือ เพื่อดำเนินการสรรหาผู้แทนให้ครบองค์ประกอบ 15 คน

 ซึ่งขณะนี้กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 7 คน คือ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน  ปลัด ศธ.รองประธาน กรรมโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทั้งนี้ ยังขาดผู้ทรงคุณวุฒิ กับผู้แทนจากข้าราชการพลเรือน อีก 8 คน

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ดำเนินการสรรหาผู้แทนในส่วนที่ยังไม่ครบ โดยผู้แทนจากข้าราชการพลเรือน ให้คัดเลือกกันเองจากข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือ ข้าราชการระดับ 10 ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 29 คน  โดยมอบให้สำนักปลัดศธ. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ไปดำเนินการคัดเลือกผู้แทนจากข้าราชการ ในตำแหน่งดังกล่าว มาจำนวน 5 คน ซึ่งเมื่อได้ผู้แทนจากข้าราชการแล้ว จะให้เสนอชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ด้าน คือ ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล  ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย  มาให้ที่ประชุมอ.ก.พ.กระทรวงดำเนินการคัดเลือก ให้เหลือ 3 คน ซึ่งจะทำให้อ.ก.พ.กระทรวงมีองค์ประกอบครบทั้งหมด คาดว่า จะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากข้าราชการได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

ดร.ชัยพฤกษ์  กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ที่ประชุมยังให้แต่ละองค์กรหลักทำการสำรวจว่า หน่วยงานใดยังมีงานของ อ.ก.พ.คั่งค้างอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ติดขัดอะไร มีเพียงสำนักงานปลัดศธ.  และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ที่อยู่ระหว่างการสรรหาผู้อำนวยการสำนัก ซึ่งสามารถดำเนินการต่อได้จนครบกระบวนการ ส่วนการเกลี่ยอัตรากำลังภายในศธ. เพื่อมากำหนดเป็นตำแหน่งบริหารระดับสูง คือ ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 12 ตำแหน่ง และตำแหน่งบริหารระดับต้น คือ  รองศธภ. 12 ตำแหน่ง ที่ประชุมมีมติให้เกลี่ยอัตรากำลังจาก สำนักงานปลัดศธ. 10 อัตรา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 5 อัตรา สอศ.5 อัตรา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 2 อัตรา และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 2 อัตรา  และเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของก.พ. ซึ่งต้องมีจำนวนเงินเพื่อมากำหนดเป็นอัตราเงินเดือน จึงให้มีการยุบตำแหน่ง ที่ไม่มีความจำเป็น และจัดโอนงบประมาณประจำอัตรามากำหนดเงินเดือนศธภ.และรองศธภ.  

“ที่ประชุมให้ทุกส่วนราชการในสังกัดศธ. ได้จัดส่งอัตราข้าราชการพลเรือนสามัญที่จะนำมาใช้เป็นฐานในการกำหนดตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ว่างและเกษียณอายุราชการ และให้ตัดโอนเงินงบประมาณประจำอัตรา มากำหนดเงินเดือนศธภ.และรองศธภ. โดยจะมีในส่วนของ สพฐ. จำนวน 119 อัตรา ที่ว่างลงจากการเกษียณอายุราชการ และเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นน้อยลง คือ กลุ่มรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กลุ่มชั่วคราวและมีเงื่อนไข (รองผู้อำนวยการดอกจัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะถูกยุบตามตัวเมื่อเกษียณอายุราชการ) มากำหนดเงินประจำอัตรา ทำให้มีเงินเพียงพอที่จะใช้ในตำแหน่งดังกล่าว  จำนวน 3,065,400 บาท ต่อปี ส่วนการสรรหา ศธภ.และรองศธภ. นั้น ต้องรอให้มีองค์ประกอบอ.ก.พ.กระทรวงครบถ้วน จึงจะสามารถตั้งกรรมการสรรหาทั้ง 24 ตำแหน่งได้”ดร.ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว