คร.ชี้เอาผิดหนุ่มต่างชาติ แพร่เชื้อเอดส์ต้องดูที่เจตนา

คร.ชี้เอาผิดหนุ่มต่างชาติ แพร่เชื้อเอดส์ต้องดูที่เจตนา

กรมควบคุมโรค ชี้เอาผิดหนุ่มต่างชาติแพร่เอชไอวีต้องดูที่เจตนา แนะคนมีพฤติกรรมเสี่ยง-มีโอกาสรับเชื้อ เข้าตรวจหาเชื้อฟรีปีละ 2 ครั้ง

ระบุมียาเป็ป (PEP)กินหลังมีความเสี่ยง 24- 48 ชั่วโมง เพื่อต้านไวรัส ยาเพร็พป้องกันการติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยแล้วอาจมีพฤติกรรมในการแพร่เชื้อเอชไอวี(HIV)ให้ผู้อื่นว่า เบื้องต้นทราบว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวได้แล้ว ส่วนในเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ต้องรอการตรวจสอบอีกครั้ง กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีว่าเชื้อนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่าย สามารถติดต่อได้แค่ 3 ช่องทางหลักเท่านั้น คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้มีเชื้อเอชไอวี และการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก

“ประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือประเมินตนเองว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีสามารถเข้ารับคำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยใช้เพียงบัตรประชาชนที่มีเลข 13 หลักเท่านั้น และรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ฟรีตามสิทธิ เพื่อให้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง หากรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีจะได้เข้ารับการรักษาทันที ทำให้วางแผนดูแลสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว เป็นการหยุดการแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีได้อีกทางหนึ่ง และที่สำคัญปัจจุบันการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี แบบทราบผลการตรวจในวันเดียว ทำให้ประหยัดเวลาและสามารถเริ่มการรักษาได้เร็ว จะทำให้มีสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว เรียนหนังสือได้ ทำงานได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ”นพ.เจษฎากล่าว

กรมควบคุมโรค ได้กำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ พร้อมผลักดันและส่งเสริมให้หน่วยงานในทุกระดับดำเนินการตาม 5 มาตรการสำคัญ คือ 1.ส่งเสริมให้ประชาชนรู้สถานะการติดเชื้อ และรับการรักษาแต่เนิ่นๆ โดยให้ความสำคัญของการใช้ยาต้านไวรัสหรือยาเพร็พ (PrEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่มีพฤติกรรมเสี่ยง 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการถุงยางอนามัยและส่งเสริมภาพลักษณ์ถุงยางอนามัยอย่างต่อเนื่อง 3.พัฒนาการดูแลรักษาการติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและขยายให้ทั่วประเทศ 4.ขยายการดำเนินงานให้หน่วยงานภาครัฐเป็นตัวอย่างเพื่อป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน โดยในปี 2560 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 120 หน่วยงาน และ 5.รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อนำสู่การป้องกันโรคที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่ดี ไม่มีการรังเกียจและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

ด้านนพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีนี้หากมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาจะต้องดูกันที่เจตนาว่าตั้งใจแพร่เชื้อหรือไม่ ด้วยจุดประสงค์ใด แต่ที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ได้ในครั้งนี้เนื่องจากชายคนดังกลัวมีคดีติดตัวมาจากต่างประเทศอยู่แล้ว และอยากแจ้งเตือนไปยังประชาชนที่มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีและเชื้อเอดส์ให้เข้าตรวจร่างกายกับแพทย์เพื่อดูว่าติดเชื้อหรือไม่ ไม่ใช่แค่ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชายคนนี้เท่านั้น แต่ประชาชนทุกคนที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจหาโรค

“ใครมีพฤติกรรมเสี่ยงได้รับเชื้อ เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ถูกข่มขืน ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น ไม่แน่ใจว่าตัวเองได้รับเชื้อมาหรือไม่ สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อแจ้งว่าตัวเองมีความเสี่ยง แพทย์จะจ่ายยาเป็ป(PEP)ให้รับประทานหลังมีความเสี่ยง 24 - 48 ชั่วโมง เพื่อต้านไวรัส นอกจากนี้ยังมียาอีกชนิดคือยาต้านไวรัสPrEP (ยาเพร็พ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่มีพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งสามารถขอรับยาได้ที่สภากาชาด”นพ.สุเมธกล่าว

นพ.สุเมธ กล่าวด้วยว่า ตามสถิติขณะนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 4.3 แสนคน มีผู้เข้ารับยาต้านไวรัส 3.1 แสนคน มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละ 1.5 หมื่นคนต่อปี และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละ 7,000คน โดยร้อยละ90 ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ รองลงมาคือติดเชื้อจากการใช้เข็มร่วมกัน และติดจากแม่สู่ลูก จึงอยากแนะนำให้ป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะโรคที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีแค่สองโรคนี้เท่านั้น แต่ยังมีโรคติดต่ออื่นๆด้วย นอกจากนี้แนะนำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวี เข้ารับยาต้านไวรัสและรับยาอย่าต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อลดจำนวนไวรัสในร่างกาย แต่ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมีสถิติการเกาะติดยาดีมาก