“นครชุม” คุมขังไว้ในขุนเขาแห่งอิสระ

“นครชุม” คุมขังไว้ในขุนเขาแห่งอิสระ

หมอกจางๆ ไม่ได้มาพร้อมกับความเย็น แต่เป็นรอยยิ้มที่คลี่บาน ถ้าสวรรค์บนดินมีอยู่จริง ก็คงจะเป็นที่นี่แหละ

เช้ามืดวันนั้นเราพากันเดินฝ่าอากาศยามเช้าที่หนาวเล็กๆ ไปบนภูเขาหินทรายด้านหลังของหมู่บ้าน


ราตรีกาลที่มืดดำอาจทำให้บางคนกลัว ทว่า สุดท้ายก็ต้องใช้ความกล้าทลายกำแพงแห่งความหวาดหวั่นออกไป ส่วนรางวัลที่ได้คือผลงานของธรรมชาติที่ปรากฏชัดอยู่ตรงหน้า


ราวกับการร่ายรำเมื่อหมอกสีขาวๆ นั้นพากันเลื่อนไหลไปตามทิศทางของสายลมอย่างช้าๆ ครั้นพอเคลื่อนมาปะทะกลุ่มยอดไม้ด้านหน้าก็พากันแหวกแยกออกเป็นสาย สร้างทิศทางใหม่ให้กับตัวเอง


ชีวิตคนเราก็คงคล้ายกัน ที่เมื่อเดินทางมาถึงทางตันก็มักจะทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางออกใหม่ แม้จะต้องลด “ขนาด” ของตัวเองไปบ้างก็ไม่เป็นไร ขอแค่ได้หายใจต่ออย่างอิสระก็พอ


หลงรักเมืองลับแล


“ไปนครชุมกันพี่”


“ดีๆ พี่ไม่ได้ไปกำแพงเพชรมานานแล้ว”


“ไม่นะ นี่จะพาไปพิษณุโลก”


“อ้าว ไม่ใช่นครชุมกำแพงเพชรเหรอ”


“ลับแลของพิษณุโลกเลยพี่ ไปมะ น้องจะพาไปรู้จัก”


สิ้นบทสนทนาปากเปล่ากับน้องสาวผู้รักการ “สุย”(กิน)ประจำการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานพิษณุโลก เราก็ทำการค้นหาข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตทันที


และก็อย่างที่น้องบอก “ที่นี่มันคือเมืองลับแล” แม้แต่ “พี่ Goo(gle)” ที่รู้ทุกเรื่องยังต้องยอม สงสัยต้องไปทำความรู้จักเองซะแล้ว


นครชุม เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของขุนเขาทั้งสี่ด้าน คล้ายเมืองนอกสายตาที่ถูกปิดตาย ถ้าไม่มีถนนสายนั้น บางทีก็อาจจะยังไม่มีใครรู้จัก


“เข้าออกทางเดียวเลยนะ ไม่ใช่เมืองผ่าน มันเป็นเมืองที่ต้องตั้งใจมาจริงๆ” น้องสาวคนเดิมเอ่ยขึ้นระหว่างที่รถกำลังเลี้ยวเข้าสู่ถนนสายหนึ่งซึ่งเป็นทางหลวงชนบท


เธอว่า นครชุมมีฐานะเป็นตำบลที่อยู่ในสังกัดอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ครอบคลุมหมู่บ้านทั้งหมด 8 แห่ง ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย โดยอาศัยท้องทุ่งที่ราบกลางร่องเขาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ


และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ครั้งหนึ่งที่นี่จึงถูกใช้ให้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและกำลังไพร่พลเพื่อปกป้องข้าศึกในคราวที่ “พ่อขุนบางกลางท่าว” เจ้าเมืองบางยาง(นครไทย) ต้องออกไปรบตีเอาเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง (อย่าถามว่า ขอมสบาดโขลญลำพงเป็นใคร เพราะนักประวัติศาสตร์เองก็ยังไม่รู้และตีความต่างกันออกไป)


เรื่องนี้ยืนยันได้ด้วยข้อมูลทางโบราณคดี ที่มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีนครชุม แล้วพบว่ามีค่ายทหารโบราณ เครื่องถ้วยต่างๆ ตลอดจนอาวุธโบราณศิลปะสมัยสุโขทัย และด้วยความที่เป็นเมืองที่ถูกปิดล้อมด้วยขุนเขา ใครๆ จึงพากันเรียกเมืองเล็กๆ นี้ว่า “นครซุ่ม” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “นครชุม” ในที่สุด


แต่ข้อมูลอีกทางบอกว่า นครชุมมีที่มาจากคำว่า “เมืองคนชุม” เพราะราวปี พ.ศ.1736-1738 มีผู้คนจำนวนมากอพยพลงมาจากทางเหนือ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวลาวที่ต้องการแสวงหาที่ทำกิน เมื่อพบสถานที่อันอุดมสมบูรณ์ ดินดำ น้ำชุ่ม และปลอดภัย จึงพอใจที่จะปักหลักในร่องเขาแห่งนี้ เมื่อมีคนมาพบว่ากลางป่าเขามีคนอาศัยอยู่มากมายจึงพากันเรียก เมืองคนชุม


ว่ากันว่า ผู้นำคนสำคัญของชุมชนนี้เป็นพี่น้องกัน คนพี่ชื่อ “ขุนกังหาว” ส่วนคนน้องชื่อ “ขุนหาญห้าว” มาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่บริเวณบ้านนาลานข้าวและบ้านนาเมือง ต่อมาได้ช่วยกันสร้างที่ประทับสำหรับเจ้าเมืองขึ้น และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นเจ้าเมือง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อ “เมืองคนชุม” ให้ดูเพราะพริ้งยิ่งขึ้นว่า “นครชุม” ซึ่งเรียกกันมาจนปัจจุบัน


ถนนสายนั้นดูราบเรียบยาวไกล สองข้างทางซ้ายขวาคือทุ่งนาผืนกว้าง จนพ้น “โค้งลานบิน” ที่มีลักษณะคดเคี้ยวอย่างที่เรียกว่าหักศอกไปนั่นแหละ จึงเริ่มมองเห็นต้นไม้ใหญ่ที่ร่มครึ้ม บางช่วงถึงกับโน้มปลายยอดเข้าหากัน มองคล้ายว่าเรากำลังเดินทางผ่านอุโมงค์ต้นไม้ทะลุไปอีกมิติ


แค่ส่งยิ้มก็สุขใจ


เทียบคู่อยู่กับป้ายต้อนรับที่ระบุข้อความ “ร่องเขาแห่งนครชุม” คือเจ้าบ้านใจดีที่ขี่จักรยานคู่ใจขึ้นเขามาต้อนรับเราถึงจุดชมวิว สุรินทร์โรจน์ ศรีสังข์ ปลัด อบต.นครชุม ยิ้มทักทายพวกเราทันทีก่อนจะบอกว่า บริเวณนี้คือจุดแรกที่นักท่องเที่ยวสามารถชมวิวเมืองนครชุมก่อนที่จะได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนอย่างจริงจัง


ระเบียงไม้ขนาดกว้างราว 3 เมตร ยาว 5 เมตร ถูกสร้างยื่นลงไปริมผา แม้จะดูหวาดเสียวในบางที แต่ว่าก็แข็งแรงและหนักแน่นดี


จากมุมสูงเรามองเห็นนาผืนกว้างที่ถูกตีตารางแห่งการทำกินอย่างเป็นระเบียบ ติดๆ กันคือหลังคาบ้านของชาวนครชุม ตั้งเรียงรายอยู่ใกล้กับถนนสายสำคัญของชุมชน ซึ่งมีอยู่เพียงสายเดียว ภาพเมืองที่ถูกขุนเขาโอบล้อมชัดเจนขึ้นทันที เพราะรอบๆ เมืองในร่องเขาแห่งนี้คือภูเขาหินทรายสีดำทะมึนที่ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ในป่าทึบ


ถ่ายภาพกันอย่างจุใจก็ได้เวลาเคลื่อนพลลงไปเยือนชุมชนด้านล่าง ปลัด อบต.นครชุม บอกว่า นครชุมเป็นชุมชนโบราณที่อยู่ตรงนี้มาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคน มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม และความงดงามในแบบของตัวเอง เมื่อเล็งเห็นว่าน่าจะเปิดให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้ จึงพยายามนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้ทุกคนได้สัมผัส


บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้หลังนั้นดูสะอาดสะอ้านและอบอุ่น เจ้าของบ้านคือ มยุเรศ หรือที่ทุกคนเรียกว่า ครูเรศ ออกมาต้อนรับพวกเราด้วยรอยยิ้ม ครูเรศจัดแจงแบ่งที่หลับที่นอนให้พวกเรา ผู้หญิงนอนในห้องด้านบน ส่วนผู้ชายปูที่นอนด้านล่าง ห้องน้ำก็ใช้กับเจ้าของบ้าน มีทั้งชั้นล่างและบน ส่วนอาหารครูก็ทำเมนูพื้นบ้านง่ายๆ ให้เราได้ชิม


ปลัดสุรินทร์โรจน์ บอกว่า นครชุมมีโฮมสเตย์ที่ให้บริการประมาณ 20 หลัง แต่ละหลังสะอาดไม่แพ้กัน และอยู่รวมกับเจ้าของบ้าน ส่วนกิจกรรมก็มีตั้งแต่ปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตของชาวบ้านและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ภายในชุมชน จนถึงการเดินป่าเพื่อชมทะเลหมอกยามเช้าบน “เขาโปกโล้น” ซึ่งอย่างหลังนี้คือไฮไลท์ เพราะภาพแรกที่ใครๆ รู้จักนครชุมก็ภาพหมอกหนาเต็มร่องเขานี่แหละ


จักรยานนับสิบคันจอดเรียงรายอยู่แล้วเมื่อเราเดินลงมาจากชั้น 2 ของบ้าน บ่ายแก่ๆ วันนั้นเรานัดกันจะไปปั่นจักรยานชมบ้านเมืองนครชุม โดยมีปลัดคนเดิมเป็นหัวหน้าขบวน


ทุกครั้งที่จักรยานเคลื่อนผ่านบ้านและผู้คน เรามักจะได้รับรอยยิ้มเป็นคำทักทายจากเจ้าบ้านรายทางเสมอๆ บ่อยครั้งถึงกับจอดรถคุยกัน ซักถามว่ามาจากที่ไหน มาเที่ยวกี่วัน แล้วจะกลับมาเที่ยวที่นี่กันอีกมั้ย คนได้ยินก็ได้แต่ยิ้มพร้อมกับตอบคำถามในใจว่ามีโอกาสเมื่อไรจะต้องมาทักทายแบบนี้อีกครั้งแน่นอน


จุดแรกที่ปลัด อบต.นครชุม พาแวะนั่นคือ บ่อเกลือพันปี ที่มีชื่อย่อยไปอีกว่า บ่อเกลือสองสาวพี่น้อง ซึ่งมีข้อห้ามติดอยู่ตั้งแต่ตรงทางเข้าเลยว่า 1.ห้ามบ้วนน้ำลาย 2.ห้ามพูดคำหยาบ 3.ห้ามทิ้งสิ่งสกปรก นั่นก็เพราะบ่อเกลือแห่งนี้ยังคงถูกใช้ประโยชน์อยู่นั่นเอง


“ที่นี่มีเกลือที่ชาวบ้านต้มกินกันมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ชาวบ้านจะเอาน้ำในบ่อเกลือมาต้มเก็บไว้กินได้ทั้งปีคล้ายๆ ที่บ่อเกลือ จังหวัดน่าน แต่ไม่ถึงขั้นส่งไปขายที่อื่นๆ แค่ทำกินกันในครัวเรือนเท่านั้น บ้านไหนขาดเกลือก็มาบ่อเกลือแล้วต้มไปกิน ที่นี่เกลือตลาดแทบขายไม่ได้ แต่ตอนหลังๆ มาวัฒนธรรมการต้มเกลือเริ่มหายไป ชาวบ้านไปซื้อเกลือถุงกินง่ายกว่า เราจึงพยายามฟื้นฟูวิถีอันนี้ให้กลับคืนมาอีกครั้ง” ปลัดสุรินทร์โรจน์ กล่าว


เกลือที่นี่มีสีขาวอมชมพู ชิมแล้วก็เค็มแบบเกลือนี่แหละ แต่ดูเหมือนยิ่งชิมยิ่งมีพลัง ปั่นจักรยานไม่เหนื่อยเลย(จริงๆ)


เรามาหยุดจักรยานที่บ้านหลังเล็กๆ ที่ทุกคนในชุมชนรู้จักกันในฐานะ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านปู่ช่วง ดูแลโดย ปู่ช่วง มีเฟีย อดีต อส.(ราษฎรอาสา) ที่เป็นทั้งหมอสมุนไพรและผู้ให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน


ปู่ช่วง เล่าว่า นครชุมเป็นชุมชนโบราณที่สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย เคยมาทำการสำรวจ และพบโบราณวัตถุ เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและเนื้อดินแกร่ง นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ พบพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย รวมถึงดาบโบราณยุคสุโขทัยด้วย


ปั่นกันจนตะวันเกือบจะลับฟ้า แวะไปกราบพระที่ วัดนาลานข้าว กันก่อนเข้าที่พักดีกว่า ซึ่งก่อนเข้าวัดมีป้าคนหนึ่งกำลังเผาข้าวหลามอยู่ริมทาง เห็นแล้วน่ากินมาก เพราะเขายังใช้วิธีเผาแบบโบราณ คือขุดดินฝังกระบอกข้าวหลามแล้วสุมไฟด้านข้าง แต่เก็บอาการอยากกินไว้ก่อน


สำหรับวัดนาลานข้าวเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครชุม ด้วยมีความเก่าแก่และมีพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ภายใน ใครไปใครมาจึงมักแวะมากราบพระขอพรเป็นประจำ สังเกตว่าในโบสถ์และบนกุฏิพระจะมีบายศรีรูปพญานาคตั้งอยู่มากมาย พระท่านว่า นี่คือบายศรีที่ชาวบ้านทำขึ้นเมื่อมีงานบวชพระ พินิจดูแล้วฝีมืองดงามและทำได้อลังการมากๆ


กลับออกมาเป็นจังหวะเดียวกับที่ป้าเผาข้าวหลามเสร็จ เมื่อจอดรถเพื่อไปถามซื้อสักกระบอก ป้าบอก ป้าปันให้ไปเลย ไม่เอาสตางค์ แถมยังยัดใส่มืออีกกระบอกด้วย ช่างเป็นน้ำใจที่น่ารักจริงๆ


ไข่ป่าม หลามไก่ และเมนูพื้นบ้านอีกมากมายรอเราอยู่แล้วบนโต๊ะอาหาร ไม่ใช่ร้านหรูหรา แต่ว่ามีดาวล้านดวงรับประกัน ใช่แล้ว เราดินเนอร์กันท่ามกลางหมู่ดาวนับล้านๆ ดวงบนท้องฟ้า


อากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ พร้อมกับความเหนื่อยล้าจากการปั่นจักรยาน สารภาพว่าเผลอหลับไปบนที่นอนนุ่มๆ นั้นโดยไม่ทันได้บอกราตรีสวัสดิ์กับใครเลย


ปีนป่ายไปจับหมอก


เช้ามืดวันนั้นเราพากันเดินฝ่าอากาศยามเช้าที่หนาวเล็กๆ ไปบนภูเขาหินทรายด้านหลังของหมู่บ้าน


ราตรีกาลที่มืดดำอาจทำให้บางคนกลัว ทว่า สุดท้ายก็ต้องใช้ความกล้าทลายกำแพงแห่งความหวาดหวั่นออกไป ส่วนรางวัลที่ได้คือผลงานของธรรมชาติที่ปรากฏชัดอยู่ตรงหน้า


ราวกับการร่ายรำเมื่อหมอกสีขาวๆ นั้นพากันเลื่อนไหลไปตามทิศทางของสายลมอย่างช้าๆ ครั้นพอเคลื่อนมาปะทะกลุ่มยอดไม้ด้านหน้าก็พากันแหวกแยกออกเป็นสาย สร้างทิศทางใหม่ให้กับตัวเอง


เขาโปกโล้น เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่สวยงามที่สุดในนครชุม แม้จะต้องใช้ความอดทนในการเดินทางอยู่สักนิด แต่เมื่อมาถึงแล้วจะคิดเหมือนกันทุกคนว่ามันคุ้มจริงๆ


สังเกตว่าที่ยอดเขาไกลๆ มีธงผืนใหญ่ปักไว้ด้วย ปลัด อบต.นครชุม บอกว่า ทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ชาวนครชุมจะพากันเดินขึ้นมาบนยอดเขาโปกโล้นแห่งนี้เพื่อสืบทอดประเพณีปักธงปฐมฤกษ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของพ่อบุนบางกลางท่าว ฟังแล้วรู้สึกว่าชาวนครชุมช่างมีศรัทธาแรงกล้าจริงๆ เพราะระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตรในป่า ไม่ได้ง่ายเหมือนเดินอยู่ริมคันนา มันต้องอาศัยทั้งใจและกายที่แข็งแรงจริงๆ


เราเพลิดเพลินอยู่บนเขาโปกโล้นจนสายก็ได้เวลากลับลงมา ระหว่างทางกลับเราแวะ โรงกลั่นมิตรชาวนา ซึ่งเป็นโรงกลั่นสุราแบบวิสาหกิจชุมชน โดยมี ป้าสมพร บุญมีจิว เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายด้วยตัวเอง ป้าสมพรบอกว่า นี่คือเหล้าถูกกฎหมายเพราะขออนุญาตมานานกว่า 14 ปีแล้ว จริงๆ ป้าต้มเหล้ามานานหลายสิบปี แต่เป็นเหล้าเถื่อน ต้มแล้วต้องหนีๆ จนในที่สุดขออนุญาตแบบถูกกฎหมายดีกว่าจะได้ไม่ต้องหนีอีก ส่วนคำว่า “มิตรชาวนา” ก็ตั้งเพราะลูกค้ารายสำคัญคือกลุ่มชาวนาในหมู่บ้านนั่นเอง


ต้นตะเคียนยักษ์ 2 ต้น ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าชุมชน เป็นตะเคียนคู่ที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีอายุหลายร้อยปี โดยตั้งอยู่ติดกับ ศาลปู่หลวง ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธา


ไม่ได้มีแค่เหล้าเท่านั้นที่เป็นของดีของเด็ดของนครชุม แต่เมืองนี้ยังมี กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า ที่ถือว่าเป็นรายได้เสริมสำคัญ โดยในช่วงหลังปีใหม่ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ดอกหญ้าบนภูขัดจะมีปริมาณเยอะ ชาวบ้านก็จะไปตัดเอามาทำไม้กวาดส่งขายกันในตำบลและอำเภอนครไทย อีกกลุ่มคือ กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง ที่ส่วนมากจะทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม โดยมีลายดอกแก้วและลายขอระฆังเป็นลายเอกลักษณ์ของชาวบ้านนครชุม


เราขี่จักรยานในชุมชนกันได้แบบสบายใจ ไม่ต้องกลัวอันตรายจากรถรา หรืออาชญากรรมอื่นๆ เพราะชุมชนนี้อยู่กันอย่างเรียบง่าย แถมปลอดภัยสุดๆ ชาวบ้านบอกว่า ตำรวจประจำตำบลนครชุมแทบจะว่างงาน เพราะที่นี่ไม่มีการกระทำความผิด ไม่มียาเสพติด ไม่มีโจรขโมย เรียกว่า นครชุมเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดเลยก็ได้


สองล้อคู่ใจพาเราเดินทางกลับบ้านพักไปอย่างช้าๆ อยากจะเก็บรอยยิ้มที่รวบรวมมาได้ระหว่างทางใส่กระเป๋า แล้วเอาไปยิ้มตอบเมื่อเรากลับเข้าไปอยู่ในเมืองหลวงที่วุ่นวาย เมืองที่แทบไม่มีใครรู้จัก “รอยยิ้ม”


………….


สำหรับ “คนอื่น” อาจมองว่านครชุมเป็นเมืองเล็กๆ ที่ถูกโดดเดี่ยวออกจากสังคมมาเนิ่นนาน แต่ “คนใน” กลับยืนยันว่า ที่นี่เป็นบ้านหลังใหญ่ที่ไม่เคยไร้ร้างซึ่งความสุข


ในฐานะ “คนกลาง” ที่เพิ่งเดินทางเข้ามาทำความรู้จัก ขออนุญาตใช้คำว่า “เมือง(เกือบ)ปิดที่แสนอิสระ” เพราะแม้จะถูกห้อมล้อมไปด้วยขุนเขา แต่หัวใจของพวกเขากลับอิสระเสรี จนแทบจะเรียกว่าเป็นชุมชนที่มีความสุขที่สุดก็ว่าได้


………….


การเดินทาง


ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 110 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง
จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปพิษณุโลกได้หลายวิธี ทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสารประจำทาง ซึ่งถ้ามาใน 3 รูปแบบนี้สามารถต่อรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอนครไทยได้ที่สถานีขนส่งจังหวัดพิษณุโลก สอบถาม โทร. 0 5524 2430 จากนั้นติดต่อโฮมสเตย์ในนครชุมให้มารับ หรือโบกรถเข้าไป เพราะไม่มีรถประจำทาง


แต่ถ้าขับรถมาเอง เมื่อมาถึงพิษณุโลกแล้วให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ขับไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอวังทอง จนถึงแยกบ้านแยงให้เลี้ยวซ้ายแล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 2013 ตรงไปยังอำเภอนครไทย ถึงแล้วขับต่อไปบนทางหลวงชนบทอีกประมาณ 28 กิโลเมตรก็จะถึงตำบลนครชุม


สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ ททท.สำนักงานพิษณุโลก โทร. 0 5525 2742-3 หรือ อบต.นครชุม โทร. 0 5500 9808