หวั่นบ.นอกตลาดเบี้ยวบีอี ยอดหนี้รวมเฉียด2แสนล.

หวั่นบ.นอกตลาดเบี้ยวบีอี ยอดหนี้รวมเฉียด2แสนล.

โบรกหวั่นบริษัทนอกตลาดเบี้ยวหนี้บีอี ฉุดเชื่อมั่นระดมทุน บล.ทิสโก้ แจงมียอดหนี้คงค้างราว 1.8 แสนล.คิดเป็น 45% จากมูลหนี้คงค้างรวม 4.06 แสนล.

จากกรณีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (บีอี) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตราสารดังกล่าว นักวิเคราะห์ กล่าวว่า กรณีปัญหาบริษัทผิดนัดตั๋วบีอี ยังคงส่งผลกระทบต่อภาพรวมความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อเนื่อง

สิ่งที่น่ากังวล คือ บริษัทที่ออกตราสารดังกล่าวไม่ได้มีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมดูแล และช่องทางการระดมทุนค่อนข้างจำกัด รวมถึงไม่สามารถตรวจสอบฐานะการเงินที่แท้จริงได้ ดังนั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงสูง และมีโอกาสจะทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเสียหายได้มากกว่าที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

บล.ทิสโก้ ระบุว่า ขณะนี้เริ่มมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ล่าสุด คือ บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดของบริษัทดังกล่าวผันผวนมากในระยะสั้น ถึงแม้ปัจจุบันบางบริษัทสามารถชำระคืนหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นได้แล้ว แต่ตลาดยังคงกังวล กับยอดตั๋วเงินระยะสั้นที่จะทยอยครบกำหนดไถ่ถอนภายในช่วง 1 ปีข้างหน้า ทั้งของบริษัทที่เป็นข่าวเดิมและบริษัทรายอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบลูกโซ่ตามมาในระยะสั้น

บ.นอกตลาดมีหนี้คงค้าง 1.8 แสนล.

ฝ่ายวิจัย บล.ทิสโก้ ได้รวบรวมข้อมูลตั๋วเงินระยะสั้นทั้งระบบ ณ เดือน พ.ย. 2559 ของ ก.ล.ต. มียอดคงค้างรวมอยู่ที่ 4.06 แสนล้านบาท แบ่งเป็นยอดคงค้างฯ ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดราว 2.22 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 55% ส่วนที่เหลือเป็นยอดคงค้างฯ ของบริษัทที่อยู่นอกตลาด และจากการสังเกตบริษัทที่เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น มักจะเป็นบริษัทที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ มีสัดส่วนหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นต่อหนี้สินรวมที่สูง มากกว่า 10% มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่มากกว่า 1 เท่า มีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่า 1 เท่า และมีเงินสดในมือน้อย

ปัจจุบันการออกหรือต่ออายุตั๋วเงินระยะสั้นทำได้ยากขึ้น ทำให้ฝ่ายวิจัย มองบริษัทที่เคยออกตั๋วเงินระยะสั้นได้ อาจต้องหันไประดมทุนด้วยวิธีการกู้ยืมทางช่องทางอื่นๆ แทน ซึ่งมีแนวโน้มดอกเบี้ยจ่ายจะสูงขึ้น แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกำไรอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่กลุ่มธนาคารอาจได้ประโยชน์จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น

สรุป มองว่าปัญหาหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นกระทบภาพรวมตลาดน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก และมีจำนวนผู้เกี่ยวข้องจำกัด เนื่องจากการขายตั๋วเงินระยะสั้นไม่ได้ทำเป็นการทั่วไป แต่เป็นการขายแบบเฉพาะเจาะจง โดยมองหุ้นเป็นรายตัวเท่านั้นที่ต้องใช้ความระมัดระวังการลงทุนเพิ่ม

“รายใหญ่”ห่วงผลกระทบมากขึ้น

นายวิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ เปิดเผยว่า ปัญหาอาจจะมีผลกระทบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนสูง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเพราะบริษัทนำเงินกู้ยืมระยะสั้นไปลงทุนในโครงการระยะยาว จนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และอาจทำให้บริษัทอื่นๆ ไม่สามารถระดมทุนเพื่อต่ออายุตั๋วแลกเงินนั้นได้ ซึ่งนักลงทุนควรจะติดตามบริษัทที่มีหนี้ระยะสั้นอยู่มาก เพื่อติดตามความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

15บจ.ดีอีเกิน3เท่า“ไม่น่าห่วง”

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีที่เกิดขึ้น กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนในระดับหนึ่ง และน่าจะทำให้การระดมทุนในรูปแบบนี้ชะงักไประยะหนึ่ง โดยอาจจะเห็นผู้ลงทุนไม่ลงทุนต่อเมื่อครบอายุสัญญาแล้ว แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นและภาพรวมจะจำกัด ขึ้นกับแต่ละบริษัท และจะเห็นอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

“จากการพิจารณาหุ้นไทยที่มีหนี้สินต่อทุนเกิน 3 เท่า มีเพียง 15 บริษัทเท่านั้น และเป็นบริษัทใหญ่ 2 แห่ง คือ ซีพี ออลล์ (CPALL) และการบินไทย (THAI) ขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่ามีความเสี่ยง เพียงแต่มีหนี้สินต่อทุนสูง ฉะนั้นหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้จริง ก็ไม่ได้กระทบต่อภาพตลาดนัก เพราะคิดเป็นสัดส่วนน้อย ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้น่าจะเกิดจากการนำเงินระดมทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยอาจนำไปลงทุนในโครงการระยะยาว ทั้งๆ ที่เป็นเงินกู้ระยะสั้น”

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนอาจต้องเลือกใช้ช่องทางการระดมทุนอื่นๆ อาทิ กู้จากธนาคารพาณิชย์ ออกหุ้นกู้ หรือเพิ่มทุน แต่ก็ต้องรับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะสูงขึ้น

“ตลาด”ยันกระทบไม่แรง

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ ตั๋วบีอีอย่างใกล้ชิด ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น มีมูลค่าที่ไม่มาก และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับภาพรวมของความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สมาคมตราสารหนี้ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันดูแลและวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ ในกระแสของตั๋วบีอีที่ผิดนัดชำระหนี้ อาจจะกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนได้บ้าง โดยเฉพาะกรณีบริษัทที่จะไม่สามารถออกตั๋วกู้เงินระยะสั้นได้อีก ส่วนบริษัทที่มีการชี้แจงยืนยันในระบบของตลาดหลักทรัพย์ว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

นายอดิศร ธนนันท์นราพูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงกรณีบริษัทจดทะเบียนที่มีเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ ตั๋วแลกเงินระยะสั้น หรือ บี/อี เชื่อว่าปัญหาผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ยังเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งระบบ ไม่น่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯโดยรวม ทั้งนี้ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนใหญ่มาจากเรื่องการขาดสภาพคล่อง