ครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีช่วยน้ำท่วม เร่งฟื้นฟู

ครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีช่วยน้ำท่วม เร่งฟื้นฟู

"ครม."ไฟเขียวลดหย่อนภาษีช่วยน้ำท่วม เตรียมออกมาตรการเยียวยา-ฟื้นฟูเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดเสียหาย 1.5 หมื่นล. ด้าน "บิ๊กตู่" เตรียมลงพื้นที่

รัฐบาลประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมใน 12 จังหวัดภาคใต้ 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยการนำค่าใช้จ่ายซ่อมแซมบ้านและรถยนต์มาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายระหว่าง 1 ธ.ค.2559 - 31 พ.ค.2560

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (17 ม.ค.) ได้หารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับความเสียหายของพื้นที่อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยคาดว่าความเสียหายจะอยู่ที่ประมาณ1.5หมื่นล้านบาท

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ตัวเลขความเสียหายไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายในพื้นที่การเกษตร และน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่จะไม่ท่วมขังเป็นระยะเวลานาน

ขณะที่ มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่นมาตรการช่วยเหลือด้านภาษี รวมทั้งความช่วยเหลือจากภาคเอกชนทยอยลงไปในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยคาดว่าจะทยอยออกมาเพิ่มเติมหลังจากนี้

พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีและผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกคนที่ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยในสัปดาห์หน้านายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้เพื่อดูแผนฟื้นฟูภายหลังอุทกภัยรวมทั้งการวางแผนป้องกันในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีจะน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่สูงสุด

ทั้งนี้ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยทำแผนฟื้นฟู และประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยมารายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในวันที่ 26 ม.ค.นี้ โดยขอให้ประเมินความเสียหายตามข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป

ยกเว้นภาษีซ่อมบ้าน-รถยนต์

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งทางการประกาศให้เป็นพื้นที่อุทกภัย แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ

1.มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุดที่ได้มีการจ่ายไประหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2559 - 31 พ.ค.2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 1 แสนบาท

2.มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ โดยกำหนดให้มีการยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้มีการใช้จ่ายสำหรับการซ่อมแซมรถยนต์หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือว่าด้วยการขนส่งทางบก ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2559 - 31พ.ค.2560 ตามจำนวนที่ได้มีการจ่ายจริงแต่ไม่เกิน3หมื่นบาท

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้มีการประเมินผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวว่าทั้งสองมาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่มากนัก แต่จะช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัยได้รับการฟื้นฟู เยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น และสามารถกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามปกติ รวมทั้งช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นด้วย

หอการค้าชี้ห้องพักกระทบ10-20%

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้หอการค้าได้ประเมินผลกระทบความเสียหาย2กรณี คือ1.หากสถานการณ์น้ำท่วมยุติลงภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ความเสียหายจะอยู่ประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.1%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ1.25%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาค (จีอาร์พี) และ2.หากสถานการณ์น้ำท่วมกินระยะเวลายาวนานประมาณ2- 3เดือน อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายถึง 8.5 หมื่นล้าน - 1.2แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5-0.7% ของจีดีพีประเทศ

สำหรับความเสียหายในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคใต้ ล่าสุดประเมินพบว่าพื้นที่ท่องเที่ยวบริเวณอ่าวไทยได้รับผลกระทบจากกรณีนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกจองห้องพักของโรงแรมประมาณ 10-20% โดยปรับแผนการท่องเที่ยวไปยังฝั่งอันดามันแทน เนื่องจากพื้นที่ท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบมาก

นายวิชัย กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นคาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติ

จับตา 5 จังหวัดเจอฝนรอบใหม่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังคงมีน้ำค้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ ซึ่งฝนระลอกใหม่ในช่วง 16-20 ม.ค.นี้ โดยกรมชลประทานยังได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม คือ จ.สงขลา คาดว่ามีน้ำเพิ่ม 279 ล้านลบ.ม. จ.พัทลุง คาดว่ามีน้ำเพิ่ม 103 ล้าน ลบ.ม. จ.ตรัง คาดว่ามีน้ำเพิ่มขึ้น 121 ล้าน ลบ.ม. จ.นครศรีธรรมราช คาดว่ามีน้ำเพิ่มขึ้น 179 ล้าน ลบ.ม. จ.สุราษฎร์ธานี คาดว่ามีน้ำเพิ่มขึ้น 116 ล้าน ลบ.ม.

คาดว่ามวลน้ำที่เกิดใหม่ จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำในวงแคบ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน นำเครื่องมือไปเตรียมพร้อมในพื้นที่ 5 จังหวัด ในจุดที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมซ้ำซาก

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วงวันที่ 16-20 ม.ค. 60 ว่าจะทำให้เกิดน้ำสะสมเพิ่มเติมในพื้นที่ โดยบริเวณที่มีฝนตกหนัก คือ พื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ได้แก่ อ.เมือง อำเภอโดยรอบ จ.พัทลุง และ คาบสมุทรสทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

คาดว่ามีฝนสะสม 3 วันประมาณ 400 มม. พื้นที่ที่ฝนตกหนักรองลงมา คือ จ.ตรัง ในแถบพื้นที่ต่อเนื่องจาก จ.พัทลุง ได้แก่ อ.นาโยง อ.ห้วยยอด อ.เมืองตรัง คาดว่ามีฝนสะสม 3 วัน ประมาณ 300-400 มม.

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้นั้น ขณะนี้พบว่า จ.นครศรีธรรมราช ลุ่มน้ำปากพนัง มีน้ำค้างอยู่ในพื้นที่ 263 ล้าน ลบ.ม. โดยในระยะนี้น้ำเริ่มระบายลงทะเลได้น้อยลง เนื่องจากอยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุน และน้ำลดระดับลงมาก บางพื้นที่ต่ำกว่าคันนา คันคลอง ประกอบกับมีสิ่งกีดขวางทางน้ำอื่น ๆ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก

พื้นที่เกษตรเสียหายเพิ่มเป็น1.05ล้านไร่

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานผลกระทบด้านการเกษตรในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2559 -16 ม.ค. 2560 พื้นที่ประสบภัย 12 จังหวัด ได้แก่ จ.กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยด้านพืช เกษตรกรได้รับผลกระทบ 449,524 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้นรวม 1,055,091 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 273,372 ไร่ พืชไร่ 46,353 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 735,365 ไร่

ด้านประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 20,906 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบรวม 38,001 ไร่ กระชังที่ได้รับความเสียหาย 95,116 ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 190,647 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบรวม 8,857,120 ตัว ซึ่งกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป