รายใหญ่ทิ้งหุ้นก่อนปัญหา 'เบี้ยวหนี้' โผล่

รายใหญ่ทิ้งหุ้นก่อนปัญหา 'เบี้ยวหนี้' โผล่

สำรวจผู้ถือหุ้น "บจ.ที่มีปัญหาตั๋วบีอี" พบว่า "นักลงทุนรายใหญ่" ได้ถอนการลงทุนออกไปก่อนที่บริษัทประสบปัญหา

จากประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายราย โดยล่าสุดคือบริษัทริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) ซึ่งผิดนัดชำระหนี้ธนาคารแห่งหนึ่ง รวมถึงผิดนัดตั๋วบี/อี รวมเป็นเงิน 2,055 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านั้น อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรั่น (IFEC) ได้ขอเลื่อนการชำระตั๋วบี/อี มูลค่า 200 ล้านบาท ออกไปเช่นกัน โดยขอเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบัน บริษัทยังไม่ได้ชี้แจงข้อมูลใดๆ ออกมา

นเรศ งามอภิชน นักลงทุนรายใหญ่ และอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวเคยถือหุ้นอยู่ในบริษัทไอเฟคประมาณ 3.18% เพราะเชื่อมั่นในธุรกิจพลังงานทดแทนที่บริษัทเคยวางแผนจะเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากการเข้าไปซื้อกิจการโรงแรมดาราเทวีแล้ว กลับเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกไม่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพราะแตกไลน์ไปจากธุรกิจที่เคยวางแผนการที่จะเข้าไปลงทุน   ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจขายหุ้นดังกล่าวทั้งหมดออกไป และทำรายการก่อนที่จะเกิดปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้บีอีเกิดขึ้น

“ก่อนหน้านี้ผมเคยให้ข้อมูลไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปซื้อโรงแรมดาราเทวี เพราะบริษัทอยู่ในธุรกิจพลังงานทดแทนซึ่งนักลงทุนให้มูลค่าสูงอยู่แล้ว แต่กลับไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนจะให้มูลค่าต่ำกว่า รวมถึงการนำเงินที่ระดมทุน มาได้ไปลงทุนในธุรกิจอื่นก่อน สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายทางธุรกิจที่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน และอาจทำให้นักลงทุนมองได้ว่า การลงทุนดังกล่าวอาจมีนอกมีในหรือไม่ เมื่อกลับมาทบทวนแล้ว หลังจากนั้นจึงตัดสินใจขายหุ้นออกมาก่อนที่จะเกิดปัญหาอย่างในปัจจุบันด้วยซ้ำ”

หลังจากนี้ไปเชื่อว่าบริษัทไอเฟคจะยังเดินหน้าด้านพลังงานทดแทนต่อ แต่ส่วนตัวคิดว่า จะไม่กลับไปลงทุนด้วยอีกแล้ว เพราะความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เสียไป ทำให้การระดมเงินมาลงทุน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากอาจทำได้ยากขึ้น และต้นทุนก็ต้องสูงขึ้น จะกระทบต่อความสามารถการทำกำไรในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังชื่นชอบธุรกิจพลังงานทดแทน และกำลังพิจารณาที่จะเข้าลงทุนในบริษัทที่อยู่นอกตลาด ซึ่งเป็นบริษัทที่แสดงให้เห็นว่า มีความตั้งใจจะทำธุรกิจนี้อย่างแท้จริง

ขณะที่บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเคยมี วิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ และเป็นอดีตผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ในสัดส่วน 3.41% ณ วันปิดสมุดทะเบียนเมื่อเดือน มี.ค. 2559 ล่าสุดปิดสมุดทะเบียนเมื่อ 31 ต.ค. 2559 ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อของ วิชัย วชิรพงศ์ ถือหุ้นอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่อีกแล้ว

แหล่งข่าวตลาดทุน เปิดเผยว่า การขายหุ้นออกไปของวิชัย วชิรพงศ์ ในครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นตั๋วบีอีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นผลจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นไปตามแผน และความเห็นในเชิงธุรกิจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องลดสัดส่วนการถือครองหุ้น

สำหรับบริษัทริช เอเชีย อยู่ในธุรกิจเหล็ก แต่ด้วยแนวโน้มราคาเหล็กในช่วงก่อนหน้านี้ยังไม่ฟื้นตัว และยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทเลือกจะหันไปทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายไม่เห็นด้วยเช่นกัน 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัท ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หุ้นไอเฟค ปรับตัวลดลงจากราว 6.5 บาท ลงมาแตะจุดต่ำสุดในปัจจุบันที่เกือบ 3 บาท หรือลดลงกว่า 50% ขณะที่ ริช เอเชีย ปรับตัวลดลงจากราว 0.60 บาท มาทำจุดต่ำสุดในช่วงนี้ที่ 0.20 บาท ปรับตัวลดลงกว่า 60%