เจมาร์ทปรับใหญ่สู่บริษัทโฮลดิ้งชู ‘โมบาย-ฟินเทค' รับตลาดดุ

เจมาร์ทปรับใหญ่สู่บริษัทโฮลดิ้งชู ‘โมบาย-ฟินเทค' รับตลาดดุ

เจมาร์ท ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หวังสร้างดีเอ็นเอบริษัทใหม่ ผันตัวเองสู่ ‘โฮลดิ้ง’ ส่ง ‘เจมาร์ท โมบาย’ แกนหลักสร้างรายได้เติบโต

ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่มีความท้าทายมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และกระแสที่มาแรงของ “ฟินเทค” บริษัทค้าปลีกมือถือรายใหญ่อย่างเจมาร์ท ต้องปรับทัพรับการแข่งขันใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ล่าสุดตัดสินใจลงสู่สนาม “สตาร์ทอัพ” พร้อมเดินหน้าธุรกิจเกี่ยวกับฟินเทคอย่างเต็มตัว ขณะที่ยังชู “โมบาย” สร้างรายได้หลัก 

ผันสู่โฮลดิ้ง-ลงสนามฟินเทค

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง แผนธุรกิจประจำปี 2560 ของกลุ่มว่า ปีนี้จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเจมาร์ทจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยเจมาร์ทผันตัวเองเป็นบริษัท โฮลดิ้งส์ ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และยังคงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยการจัดตั้งบริษัทย่อย บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด โดยประกาศต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา

"การผนึกกำลังต่อเนื่องในปีนี้ (Synergy Chapter II) จะเห็นผลชัดเจน และสามารถสร้างผลการดำเนินการให้เติบโตอย่างโดดเด่น" 

นอกจากนี้ ตามเทรนด์ของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเงิน เจมาร์ท ได้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกด้วยฟินเทค ภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล และล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ และลงทุนในธุรกิจ สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ด้วยมองว่าในอนาคตรูปแบบการทำธุรกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีทางการ เงินที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งกลุ่มเจมาร์ทมีฐานข้อมูลลูกค้า ลูกหนี้ และช่องทางการจำหน่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีฟินเทคเข้ามาในธุรกิจค้าปลีก จะทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ แข็งแรงขึ้น

นายอดิศักดิ์ ระบุว่า แต่ละส่วนธุรกิจสร้างผลการดำเนินงานได้เป็นที่น่าพอใจ การผนึกกำลังครั้งนี้จะเป็นแค่จุดเริ่มต้น และจะเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าปีนี้รายได้รวมของกลุ่มบริษัทโต 30% โดยในปี 2559 ยังไม่ได้ประกาศรายได้อย่างเป็นทางการ แต่เติบโตจากปี 2558 ที่มีรายได้ 9,900 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจของเจมาร์ท โมบาย มีรายได้ 13,000 ล้านบาท ขณะที่ใช้งบการลงทุนรวมทั้งกลุ่มราว 7,700 ล้านบาท

“เราอยู่ในช่วงของธุรกิจภาพรวมที่โดนผลกระทบจากหลายปัจจัย ถ้าเราไม่ทำตามความต้องการของผู้บริโภคจะทำให้เราไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้น การแตกบริษัทต่อยอดไปสู่เทรนด์ของอุตสาหกรรมจะทำให้บริษัทอยู่รอด เพราะเจมาร์ทไม่ต้องการเป็นผู้แพ้”นายอดิศักดิ์ กล่าว

ตลาดรวมมือถือพุ่ง1.2 แสนล้าน

ด้านนายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ได้กล่าวถึง แนวโน้มตลาดโทรศัพท์มือถือในปีนี้ว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง โทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทสำคัญ ขณะที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้บริโภคต้องการใช้เครื่องที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น ราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆ ได้มีการออกโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคให้มากขึ้น 

ทั้งนี้ คาดว่า สิ้นปีนี้ตลาดรวมมือถือจะเพิ่มขึ้นอยู่ ที่ 120,000 ล้านบาท จากปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 110,000 ล้านบาท และตั้งเป้าขยายร้านเจมาร์ทและแบรนด์ช็อปในปีนี้เพิ่มอีก 35 สาขา จากสิ้นปี 2559 มีสาขาจำนวนทั้งสิ้น 205 สาขา รวมทั้งใช้ช่องทางการจำหน่ายผ่านซิงเกอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่มีตัวแทนขายมากที่สุดในประเทศไทย และกระจายอยู่ทั่วประเทศ เสริมทัพธุรกิจมือถือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขยายไลน์สู่ “กล้องถ่ายรูป”

นอกจากนี้ เจมาร์ทยังขยายไลน์ธุรกิจไปยังกล้องถ่ายรูป โดยปัจจุบันได้วางจำหน่ายกล้องถ่ายรูปไปยังหน้าร้านเจมาร์ทกว่า 50 สาขาเรียบร้อยแล้ว พร้อมวางจำหน่ายเป็น 100 สาขาในปี 2560 เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดร้าน Jaycamera ที่ชั้น 3 แฟชั่นไอซ์แลนด์ เป็นสาขาแรก หวังขยายแบรนด์ และเพื่อเป็นแหล่งรวมของคนรักกล้องในพื้นที่ดังกล่าว โดยตั้งเป้าในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 10 สาขา เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้น และตั้งเป้าหมายรายได้ของ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ปีนี้เติบโต 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 800 ล้านบาท

ด้านนายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเจเอ็มที ซื้อหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตทะลุ 1 แสนล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ในปี 2560 นี้ บริษัทฯ จะเดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่อง จากภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

ดังนั้น จึงมั่นใจจะส่งผลดีต่อผลประกอบการบริษัทให้แข็งแกร่ง โดยตั้งเป้างบลงทุนปีนี้ 1,560 ล้านบาท สำหรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท หรือสิ้นปี 2560 มีพอร์ตบริหารหนี้แตะ 1.4 แสนล้านบาทได้สำเร็จ มั่นใจผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรจะเติบโตอย่างโดดเด่นปีนี้ และมีแผนจะช่วยพาร์ทเนอร์ในการติดตามหนี้สิ้นที่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยจะเริ่มที่กัมพูชาเป็นประเทศแรก

ส่วนธุรกิจการบริหารจัดการพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า และนักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทิศทางธุรกิจปี 2560 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาจากธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าศูนย์โทรศัพท์มือถือ ภายใต้ชื่อ “IT JUNCTION” ที่ปัจจุบันมีอยู่ 52 สาขา และตั้งเป้าปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 8 สาขา รวมถึงธุรกิจศูนย์การค้าชุมชนภายใต้ชื่อ The Jas  ปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ The Jas วังหิน , The Jas รามอินทรา และความสำเร็จล่าสุดกับ Jas Urban ศรีนครินทร์ ที่เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดผู้เช่าเต็มทั้ง 100%

ซิงเกอร์ เทิร์นอะราว

ด้านนางนงลักษณ์ ลักษณะโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เผยถึงภาพรวมธุรกิจปีนี้มั่นใจจะ เทิร์น อะ ราวด์ หลังผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มบริษัทเจมาร์ท และได้ปรับโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ หวังรุกการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 1 หมื่นคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นจุดแข็งสำคัญในการขยายไลน์สินค้าใหม่ๆ ทั้ง โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 30%