“แฟชั่น 4.0” นวัตกรรมเคลื่อนโลกแฟชั่น

“แฟชั่น 4.0” นวัตกรรมเคลื่อนโลกแฟชั่น

ติดตามคมอาวุธ “แฟชั่น 4.0” เมื่อโลกแฟชั่นจะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ไม่ใช่แค่ที่กระบวนการผลิต หรือออกแบบเท่านั้น ทว่าเริ่มกันตั้งแต่ “วิธีคิด”

แฟชั่นเครื่องแต่งกาย ต้องตอบสนองไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันการพัฒนาต้องเร็ว ต้องทัน และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปกับแฟชั่น 4.0”

คำของ “พิบูลย์ มนัสพล” นายกสมาคมคลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ดสตาร์ท จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาสายพันธุ์ไทย ที่ฝากไว้บนเวทีเสวนา “ก้าวทันแฟชั่น 4.0” โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สะท้อนการเร่งปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ต้องรวดเร็ว และเท่าทัน ในวันโลกเปลี่ยน

ในยุคที่ทุกอย่างต้อง 4.0 ไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬา เขาว่า ต้องตีโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ให้แตก ตั้งแต่ ใช้ชีวิตเร่งรีบ เวลาน้อย ต้องการผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษและประสิทธิภาพสูง นั่นคือเหตุผลที่จะใช้ผ้าเบสิคๆ มาผลิตไม่ได้ ทว่าต้องศึกษา ค้นคว้า พัฒนากันตั้งแต่ เส้นด้าย ไปจนถึงโครงสร้างการทอ การย้อม การถนอมเส้นด้าย เพื่อให้มีคุณสมบัติพิเศษ พร้อมถักทอเป็นโครงสร้างผ้าที่ดี เอื้อต่อการออกกำลังกาย และสอดรับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ

เขายกตัวอย่างการพัฒนา “เสื้อไตรกีฬา” ที่ตัวเดียวเอาอยู่ทั้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่งระยะไกล สนองการใช้งานของนักไตรกีฬาได้อยู่หมัด ซึ่งพัฒนาคุณสมบัติจนเทียบเท่ากับเกรดเมืองนอก ความสำเร็จที่มาจากการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษามาให้ความรู้ ความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ช่วยเป็นหน่วยทดสอบคุณสมบัติให้ การนำความรู้จากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนความร่วมมือกับกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอ เพื่อนร่วมวงการของพวกเขา

“ตั้งแต่กระบวนการผลิต ออกแบบ ทดสอบ จะต้องสมบูรณ์ ผิดพลาดไม่ได้ ฉะนั้นเราจะเดินขาเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย หน่วยงานรัฐเองก็ต้องไม่ขาดการให้บริการตรงนี้ ถ้าแบบปีนี้ให้งบ ปีหน้าไม่มี มันก็สะดุด ก็ไม่โต อยู่แบบแกร็นๆ ไปตลอด ฉะนั้นต้องสนับสนุนให้สืบเนื่องไปเรื่อยๆ จนพวกเราโตได้”

 ในการออกแบบยุคแฟชั่น 4.0 นักออกแบบจะติดอยู่ในโลกแคบๆ ของตัวเองไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ “อาจารย์ ทัศน์ฐรสชง ศรีกุลกรณ์” หัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องประดับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกเราว่า ดีไซเนอร์ยุค 4.0 ต้องมีองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์แนวความคิดตั้งแต่ต้น โดยต้องมีการวิจัย ซึ่งอาจเป็นการวิจัยในเชิงประวัติศาสตร์ หรือความสนใจด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้ แล้วสร้างแนวความคิดหรือองค์ความรู้จากตรงนั้น พัฒนาต่อยอดเป็นผลงานขึ้นมาได้

“นักออกแบบที่ดี ต้องลงไปใช้ชีวิตเหมือนคนที่เราจะออกแบบให้ ต้องรู้จักชีวิตจริงๆ ของเขา” เธอย้ำ

ก่อนบอกอีกหัวใจสำคัญที่ต้องอยู่คู่นักออกแบบแฟชั่นยุค 4.0 นั่นคือ การมี “นวัตกรรมในวิธีคิด”

“สิ่งที่ยากที่สุดในปัจจุบันคือเวลาพูดถึงนวัตกรรมดีๆ มักเป็นเรื่องของการลงทุนในระดับใหญ่  แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด และเปลี่ยนแปลงทุกวัน นั่นคือ การใช้ชีวิตของเราเอง ฉะนั้นยังมีนวัตกรรมในเชิงวิธีคิดอีกมากมาย ที่จะสามารถสร้างการออกแบบใหม่ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตจริงของคนให้ดีขึ้น”

ดีไซเนอร์ในอดีตอาจถนัดทำงานคนเดียว แต่จะเป็นดีไซเนอร์ยุค 4.0 ได้ อาจารย์นักออกแบบบอกเราว่า ต้องมีพาร์ทเนอร์ และต้องทำงานเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะร่วมกับกลุ่มผู้ผลิต และนักออกแบบวัสดุต่างๆ ซึ่งเมื่อนักออกแบบจับมือกับพันธมิตรเหล่านี้ได้และทำงานร่วมกันได้ดี ก็จะนำมาสู่ผลงานรูปแบบใหม่ตลอดจน “วิธีคิดใหม่ๆ” ที่จะช่วยให้การออกแบบดีขึ้นได้

นอกจากการผลิตและออกแบบ ยังมีโจทย์สำคัญให้คนแฟชั่นยุค 4.0 นั่นคือเรื่อง “การตลาด” ลองดูวิธีจาก “พัชรพิมล ยังประภากร”  เจ้าของแบรนด์ S’uvimol Bangkok (สุวิมล แบงคอก) กรรมการบริหาร บริษัท ฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์สมุทรปราการ จำกัด บริษัท จระเข้ทองการเกษตร (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สุวิมลฟาร์ม จำกัด

แบรนด์สุวิมล แบงคอก เกิดมาได้ประมาณ 6 ปี หลังขยับจากผู้ขายวัตถุดิบหนังจระเข้ให้กับแบรนด์ไฮเอ็นด์ทั่วโลก  มาสร้างแบรนด์เครื่องหนังเอ็กโซติก (Exotic Leather) ของตัวเอง โดยใช้เวลาเพียง 6 ปี สามารถขยายไปมีถึง 6 สาขา ในไทย และโบยบินไปเฉิดฉายอยู่ทั้งใน บาร์เรน ดูไบ คูเวต ญี่ปุ่น และเร็วๆ นี้ที่ นิวยอร์ค

ความสำเร็จไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ แต่อาศัยการทำสินค้าคุณภาพดี มีเอกลักษณ์ ใช้ประโยชน์ได้จริง และ “คุ้มค่า” ขณะช่องทางการตลาดก็หลากหลายและเปิดกว้าง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รับไลฟ์สไตล์คนยุค 4.0

“ในส่วนของการตลาดและการขาย เราทำทุกช่องทางที่คิดว่าจะขายได้ ไปในห้างฯ ก็มีสินค้าของเรา ในออนไลน์ ในเว็บไซต์ก็มี โซเชียลมีเดีย ทั้ง อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือกระทั่งสื่อโซเชียลส่วนตัวก็มี เพราะสังคม วิธีการใช้ชีวิต และไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นเราต้องประเมินตัวเองตลอดเวลาและต้องตามให้ทัน”

เธอบอกว่าการจะทำแฟชั่นยุค 4.0 ทุกคนต้องตื่นตัวออยู่ตลอดเวลา ต้องเปิดดูแฟชั่น ดูว่าโลกกำลังก้าวไปทิศทางไหน ทุกคนกำลังทำอะไรกันอยู่ แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะก้าวให้ทัน หรือไม่ก็ก้าวไปพร้อมๆ เขา

สอดคล้องกับความเห็นของ อาจารย์ ทัศน์ฐรสชง ที่บอกเราว่า คนแฟชั่น 4.0 ต้องเป็นคนที่ตื่นรู้ ทุกอย่างไม่สามารถนั่งเทียนได้ แต่ต้องลงไปอยู่กับความจริง อย่าไปคิดว่าเทรนด์โลกบังคับเรา แต่เราต้องเข้าใจว่าถนัดอะไร แล้วปรับใช้ให้ได้กับเทรนด์นั้น                ต้องเข้าใจเทรนด์ และใช้ให้เป็น และปัจจุบันคนมีคุณภาพน้อยลง ฉะนั้น “ต้องสู้ด้วยตัวเอง” ให้มากที่สุด

ขณะที่ พิบูลย์ แห่งกู๊ดสตาร์ท ย้ำทิ้งท้ายว่า การจะเข้าสู่แฟชั่น 4.0 ได้นั้น วิธีคิด (mindset) ต้องเปลี่ยน เอสเอ็มอีต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลา ต้องออกไปศึกษาดูงาน ทำการค้นคว้าวิจัย และร่วมมือแลกเปลี่ยนกัน นอกจากนี้ ต้องเร็ว และเท่าทัน จะชักช้าไม่ได้ ที่สำคัญต้องไม่ทิ้งคุณภาพ มาตรฐานต้องได้ ต้องทดสอบโดยองค์กรที่ทุกคนยอมรับ และยอมลงทุนในเรื่องนี้ ต้องเป็นนักธุรกิจที่ใจกว้าง เห็นคู่แข่งเป็นเพื่อน และทำงานร่วมกันเป็นคลัสเตอร์ เป็นเครือข่าย สุดท้ายต้อง “อดทน” ให้มาก

"เราต้องอดทน เพราะการเปลี่ยนจาก 3.0 มา 4.0 ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นสเต็ปที่ท้าทายมาก ถ้าไม่เพียรพยายาม ก็อาจล้มเหลวได้ ซึ่ง ความมีสติ อดทนอดกลั้น เป็นคุณสมบัติพิเศษของผู้ประกอบการยุคแฟชั่น 4.0”

อีกหนึ่งหนทางของการเพิ่มแต้มต่อทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยพลังแห่ง “แฟชั่น 4.0”

………………………………….  

key to success

คุณสมบัติคนแฟชั่น 4.0

๐ เข้าใจไลฟ์สไตล์คนยุคนี้

๐ ปรับตัวรวดเร็ว และเท่าทัน

๐ มีนวัตกรรมในวิธีคิด

๐ ใจกว้าง ทำงานเป็นทีมได้

๐ เข้าใจการตลาดยุคดิจิทัล

๐ ตื่นรู้ ตื่นตัว อยู่ตลอดเวลา

๐ มีสติ อดทนอดกลั้น สู้ด้วยตัวเอง