“องค์กรตัวกลาง” เชื่อมระบบนิเวศ ‘การลงทุนเพื่อสังคม’

“องค์กรตัวกลาง” เชื่อมระบบนิเวศ ‘การลงทุนเพื่อสังคม’

การลงทุนเพื่อสังคมต้องหวังผล(ลัพธ์)และจับต้องได้ไม่ใช่แค่ความสุขใจเท่านั้น ติดตาม"องค์กรตัวกลาง"จิ๊กซอว์สำคัญของระบบนิเวศการลงทุนเพื่อสังคม

ผลวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกตัวเลขการบริจาคของคนไทยโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 70,000 ล้านบาท และยังมีเงินอุดหนุนจากรัฐผ่านกองทุนด้านสังคมต่างๆ อีกกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ทว่าถึงกระนั้นก็ยังติดปัญหาเรื่องการนำไปใช้อย่าง “ขาดประสิทธิภาพ” และ “ไม่มากพอ” จะรองรับปัญหาที่หลากหลายของประเทศได้  

จากจุดอ่อนที่สะท้อนผ่านผลการศึกษา นำมาซึ่งความพยายามของหลายๆ ฝ่าย ที่ร่วมกันยื่นข้อเสนอ เพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ในการลงทุนเพื่อสังคมของประเทศไทย ผ่านเวทีสัมมนา ชวนสังคมร่วมลงทุน”โดยทีดีอาร์ไอ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสังคม

หนึ่งในข้อเสนอ นอกเหนือจากการจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้านสังคม” (Social Investment Board) ซึ่งจะให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ให้บริการทางสังคมที่สามารถอ้างอิงผลลัพธ์ได้ โดยไม่จำกัดลักษณะองค์กร การชักชวนให้คนไทยเปลี่ยนมายด์เซ็ท “การให้” เพื่อสังคม มาสู่การให้เพื่อหวังผลลัพธ์มากขึ้น ยังรวมถึงการผลักดันบทบาท “องค์กรตัวกลาง” จิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนและเชื่อมต่องานภาคสังคม ให้แข็งแกร่งขึ้น

การลงทุนทางสังคมต้องหวังผลลัพธ์ที่จับต้องได้ และวัดผลได้ เป็นประโยชน์ที่ตกสู่คนในสังคม และสร้างสังคมที่ดีขึ้น รวมถึงมีการประสานทุนต่างๆ ไม่ว่าจะ ทุนทรัพย์ ทุนความรู้ ทุนมนุษย์ และทุนทางสังคม นอกจากหวังผลทางตรงคือประโยชน์ที่ตกสู่คนในสังคมแล้ว ยังหวังผลทางอ้อม เช่น สู่องค์กรเครือข่ายและกลไกอื่นๆ ในสังคมด้วย”

“ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร” นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายความหมายของการลงทุนด้านสังคม ซึ่งสะท้อนถึงหนึ่งกลไกสำคัญอย่าง “องค์กรตัวกลาง” ผู้จะทำหน้าที่เชื่อมต่อและสนับสนุนการจับคู่ความต้องการของผู้รับ และผู้ให้ ทั้งด้าน ทุนทรัพย์ ทุนความรู้ ทุนมนุษย์ และทุนทางสังคม ซึ่งสามารถตรวจสอบ ติดตามและวัดผลได้ เพื่อสร้างความโปร่งใส ช่วยให้การลงทุนทางสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลกระทบทางสังคมได้ใหญ่ขึ้น

“องค์กรตัวกลางที่ดี ก็เหมือนกับมีธนาคารที่ดี โดยเราเอาเงินไปฝากธนาคาร ต่างคนต่างไป จากนั้นธนาคารก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเอาเงินนั้นไปให้กับโครงการต่างๆ แล้วสร้างอะไรต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าการมีองค์กรตัวกลางเยอะๆ ก็เหมือนกับเรามีระบบธนาคารที่ดี ที่จะสามารถช่วยเชื่อมต่อการให้เพื่อสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือขึ้น”

องค์กรตัวกลาง จึงเป็น “ผู้เล่นรายสำคัญ” ในระบบนิเวศการลงทุนเพื่อสังคม ที่จะเข้าไปช่วยเติมเต็มทั้งเรื่อง เงินทุน องค์ความรู้ และคนทำงาน เพื่อให้คนทำงานภาคสังคมมีความเป็น “มืออาชีพ” มากยิ่งขึ้น

“วาทนันทน์ พีเทอร์สิค” กรรมการอิสระ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ยกตัวอย่าง องค์กรตัวกลางในต่างประเทศ ที่มีหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งที่เป็นผู้บริหารกองทุน ทำหน้าที่เหมือนวานิชธนกิจ หรือเป็นองค์กรตัวกลางเฉพาะกิจ ซึ่งอาจเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างทุนความรู้ และทุนมนุษย์ ให้กับระบบการลงทุนทางสังคม

“ระบบนิเวศของการลงทุนเพื่อสังคมในเมืองไทยยังขาดเรื่องทุนมนุษย์ค่อนข้างมาก โดยเราขาดบุคลากรที่จะมาช่วยสร้างความสามารถขององค์กรภาคสังคมให้ขยายกิจการ หรือปรับปรุงกิจการให้ดีขึ้น ขาดคนที่เข้าใจทั้งฝั่งผู้บริจาค แล้วก็ผู้รับเงิน ซึ่งในต่างประเทศมีหลายรูปแบบมาก อย่าง การจับคู่ระหว่างองค์กรทางด้านสังคม และผู้ที่มีความสามารถทางด้านธุรกิจ เพื่อมาช่วยในเรื่องพื้นฐาน เช่น การทำบัญชี หรือวิธีขยายกิจการ เป็นต้น”

ประเทศไทยมีหลายตัวอย่างองค์กรตัวกลางที่ทำหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน เช่น ที่มาจากฝั่งธุรกิจ อย่าง สถาบันส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(SVN) มูลนิธิเอสซีจี ฯลฯ กลุ่มกิจการเพื่อสังคม(SE) เช่น สถาบันเช้นจ์ฟิวชั่น กลุ่มที่เป็นองค์กรรัฐ เช่น สสส. สภากาชาดไทย ศูนย์คุณธรรม ตลอดจนกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และมูลนิธิเพื่อคนไทย เป็นต้น  

ซึ่ง วาทนันทน์ สะท้อนความคิดว่า องค์กรตัวกลางที่เห็นผลมากในต่างประเทศ อาจเป็นองค์กรเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นองค์กรตัวกลาง แม้แต่องค์กรตัวกลางที่ทำงานอยู่ ก็เปลี่ยนแปลงกิจกรรมที่ทำตลอดเวลา เพราะบทบาทในการแก้ปัญหาสังคมนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ฉะนั้นกลยุทธ์ที่ใช้จึงต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

“อาจไม่ใช่การที่เราต้องออกไปตั้งองค์กรตัวกลางอีกเป็นร้อยองค์กร แต่ให้ดูว่าองค์กรที่เราทำอยู่นั้น สามารถมีบทบาทที่จะเป็นองค์กรตัวกลางในการระดมทุนต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสังคมได้หรือไม่ โดยอาจเป็นองค์กร หรือบุคคลก็ได้ เพราะในต่างประเทศไม่ว่า ระบบนิเวศ หรือระบบลงทุนเพื่อสังคมที่เกิดขึ้น ก็ล้วนเริ่มจากคนแค่ไม่กี่คน องค์กรแค่ไม่กี่องค์กรทั้งนั้น”

 ด้าน “วิเชียร พงศธร” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย หนึ่งในองค์กรตัวกลางที่ขับเคลื่อนงานด้านสังคมมานาน สะท้อนกลยุทธ์ที่องค์กรตัวกลางจะใช้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ของการทำงานเพื่อสังคมให้มี “มูลค่าเพิ่ม” และส่งผล “ทวีคูณ” ขึ้น

ผ่านโมเดลที่เรียก 5E” คือ Entice  การเชิญชวนให้ผู้คนสนใจงานภาคสังคม และเข้ามามีบทบาททางด้านสังคมเพิ่มมากขึ้น Enrich มีกระบวนการนำเข้าที่ทำให้คนมีความเข้าใจงานภาคสังคมมากขึ้น Engage มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนเหล่านี้ ให้มีบทบาท ได้สัมผัส และลงมือทำ  Empower ให้พลังในการขับเคลื่อน กระตุ้นให้ริเริ่มลงมือทำ พัฒนาสังคมด้านต่างๆ ด้วยตนเอง โดยส่งเสริมเขาด้วยเครื่องมือและทุนด้านต่างๆ สุดท้าย Expand การขยายผลให้เกิดขึ้น

“จริงๆ แล้วในบ้านเรามีผู้เล่น มีการจัดการ และมีโครงการต่างๆ อยู่ไม่น้อย ซึ่งสิ่งที่ต้องทำเป็นประการแรกคือ บูรณาการความร่วมไม้ร่วมมือ บริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ต้องทำมากกว่าเดิมสักร้อยเท่า ต้องขยายผลให้ดีขึ้นอีกเป็นร้อยเท่า” เขาประกาศพันธกิจทิ้งท้าย

และนี่คือบทบาทองค์กรตัวกลาง ที่พร้อมสนับสนุนให้ทุกผู้เล่นในสังคม สามารถทำงานได้ทวีคูณ สร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็น “ตัวคูณ” ที่จะสร้างผลลัพธ์สู่สังคมได้มากยิ่งขึ้น