'สมคิด' เข้ม บลจ.ซื้อบีอี สั่งคลัง-ก.ล.ต.เพิ่มเกณฑ์

'สมคิด' เข้ม บลจ.ซื้อบีอี สั่งคลัง-ก.ล.ต.เพิ่มเกณฑ์

“สมคิด” สั่ง "คลัง-ก.ล.ต." สอบกรณีบจ.ผิดนัดชำระหนี้ พร้อมเพิ่มเกณฑ์เข้มงวดบลจ.ซื้อตั๋วบีอี หวั่นกระทบนักลงทุนรายย่อย ยันไม่กระทบเชื่อมั่นศก.

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้มีบริษัทจดทะเบียนบางแห่งผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) รวมทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมาบริษัทริช เอเชียคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า มีการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ธนาคาร,ตั๋วบีอีและหุ้นกู้รวม 5 รายการ มูลหนี้รวม 2.06 พันล้านบาทคิดเป็น 54.15% ของสินทรัพย์รวม ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งกว่า 21%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปดูแลเรื่องการลงทุนในตั๋วบีอีของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ว่า มีหลักเกณฑ์การกำกับที่ดีพอหรือยังและให้ตรวจสอบปริมาณการเข้าซื้อตั๋วบีอีของ บจล.ในระบบว่ามีมากน้อยเท่าใด

ทั้งนี้ กรณีที่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้ประกาศผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีนั้น เท่าที่ตรวจสอบเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบริษัทเอง ไม่ได้เป็นปัญหาที่ทำให้กระทบความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใด

คลังชี้ผิดนัดหนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาศก.

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในตัวบริษัทเอง ซึ่งจำนวนการผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับระบบ โดยปกติแล้ว ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ของระบบจะอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ในขณะนี้ ก็ถือว่า อยู่ในปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว

“ในแง่จำนวนการผิดนัดชำระหนี้นั้น ถือเป็นกลุ่มนิดเดียวเมื่อเทียบกับระบบ แต่การผิดนัดชำระหนี้ทำให้ผู้ลงทุนเดือดร้อน ทางโปรเฟสชั่นนอล อินเวสเตอร์ ซึ่งก็คือ บลจ.ทั้งหลายต้องไปดูว่า ได้ทำหน้าที่ตัวเองดีหรือยัง”

ชี้หน้าที่ ก.ล.ต.กำกับความเสี่ยง บลจ.

การออกตั๋วบีอี ทาง ก.ล.ต.เป็นผู้อนุมัติให้ขายแก่สถาบัน ซึ่งก็หวังว่า สถาบันจะมีความรู้และดูเรื่องความเสี่ยงได้ โดยสถาบันที่เข้าไปซื้อส่วนใหญ่ก็เป็น บลจ.คำถาม คือ บลจ.ที่ไม่สามารถดูแลหรือดูเครดิตเหล่านี้ไม่เป็น ทาง ก.ล.ต.จะว่าอย่างไร ก็ต้องไปถามก.ล.ต.

“เราไม่ห่วงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ลงทุนรายใหญ่ เพราะเขามีการบริหารความเสี่ยง แต่ห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของบลจ.ทั้งหลาย ก็ต้องไปดูว่า ทาง บลจ.ได้เขียนไว้ในการขายหน่วยลงทุนหรือไม่ว่า การลงทุนจะลงในหลักทรัพย์อะไรบ้าง”

ก.ล.ต. เกาะติดผิดนัดหนี้ “หุ้นกู้-บีอี”

ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ติดตามสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด พบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามีตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดที่ผิดนัดคิดเป็นเพียง 0.03% ของจำนวนมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ในระบบทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 3.58 ล้านล้านบาท โดยเป็นตราสารหนี้ที่มิได้มีการจัดอันดับเครดิต (unrated) ที่เสนอขายได้เฉพาะในวงแคบต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยเท่านั้น

ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผิดนัด จึงมีน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งระบบ และอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนในวงจำกัด

“การผิดนัดที่เกิดขึ้นแต่ละกรณี เกิดจากประเด็นเฉพาะของแต่ละบริษัท บางกรณีเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างผู้บริหาร บางกรณีเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ไม่มีประสิทธิภาพ"

สำหรับกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสาร unrated และมีการผิดนัดชำระหนี้ก็เป็นกองทุนที่เสนอขายให้เฉพาะแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และจำกัดอยู่เฉพาะในบางบริษัทจัดการกองทุนเท่านั้น โดยมูลค่าตราสาร unrated ที่ผิดนัดชำระมีเพียง 368 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.34% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนลักษณะดังกล่าว จึงไม่ได้ลุกลามต่อระบบ

ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างติดตามสถานะอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการดังนี้

สั่งบจ.ออกหุ้นกู้unrated หาแหล่งเงินสำรอง

สำหรับบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ unrated ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ก.ล.ต. ได้ขอความร่วมมือให้บริษัททำการประเมินสถานะทางการเงินและติดตามสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และจัดให้มีแหล่งเงินทุนสำรองในกรณีอาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจากการไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ระยะสั้นได้

ส่วนกรณีตัวกลางทางการเงิน ที่เป็นให้บริการแนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ unrated และกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารดังกล่าว ก.ล.ต. กำชับให้ต้องอธิบายรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และจะต้องดำเนินการให้ผู้ลงทุนลงนามในแบบลงนามรับทราบความเสี่ยง

กรณีบริษัทจัดการกองทุน ก.ล.ต. ได้กำชับให้ต้องระบุว่าเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย โดยให้มีข้อความอธิบายความเสี่ยงใต้ชื่อในทุกเอกสารประกอบการขาย และกำชับให้ บลจ.ต้องติดตามดูแลผลการดำเนินงานของกองทุนที่ออกเสนอขายเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความเสี่ยงสอดคล้องกับผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายด้วย

กรุงไทยชี้ผิดนัดหนี้เหตุศก.ชะลอตัว

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้ในช่วงนี้ เป็นสิ่งที่คาดคะเนได้อยู่แล้วในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และเปลี่ยนผ่าน ทำให้ขายสินค้ายาก สินค้าค้างสต็อก หรือขายขาดทุน ทำให้ขาดสภาพคล่อง

อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้นักลงทุนเอง ก็อยากได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยยอมที่จะรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวบริษัทเองก็ไม่ออกหุ้นกู้ ที่ต้องมีการยื่นไฟลิ่งเพราะไม่อยากเปิดเผยข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องผิดนัดชำระหนี้ไม่มีการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง

“กรณีนี้จะลามมาถึงธนาคารหรือไม่ มองว่าเป็นเรื่องปกติที่พอร์ตฟอร์ริโอของแบงก์จะต้องมีหนี้เสียบ้าง ซึ่งสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้มีมาสักพักแล้ว สะท้อนได้จากเอ็นพีแอลของทั้งระบบน ซึ่งเอ็นพีแอลและการผิดนัดชำระหนี้ก็คือเรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ตามสัญญาณการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลก็ชะลอตัวแล้ว”

ตลาดชี้บจ.ออกบีอีใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ปัญหาการออก บีอี ในช่วงที่ผ่านมา มีบางบริษัทจดทะเบียนออกตั๋วดังกล่าวไม่ถูกวัตถุประสงค์ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้น ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์มองว่า บริษัทจดทะเบียนควรจะใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมมากขึ้น

“ที่ผ่านมาอาจมีบางบริษัทจดทะเบียนที่ออกตั๋วบีอี ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ซึ่งตั๋วบีอีเป็นการออกเพื่อใช้เป็นกระแสเงินสดในระยะสั้น ซึ่งเรามองว่า ทางบริษัทจดทะเบียนน่าจะใช้ช่องทางการระดมทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกตราสารหนี้ระยะสั้น หรือ ตราสารหนี้ระยะยาว รวมถึงการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน”

ด้านความเชื่อมั่นต่อตลาดบีอี แม้จะได้รับผลกระทบไปบ้างแต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับการระดมทุนผ่านตลาดบีอี เพราะยังมีสภาพคล่องที่สูง และหลายบริษัทที่มีคุณภาพยังมีผู้ที่ต้องการลงทุนอยู่ ส่วนบริษัทที่อาจจะไม่สามารถออกตั๋วบีอีได้ยังสามารถระดมทุนได้ผ่านช่องทางอื่น อย่างการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งต้นทุนก็ไม่แตกต่างกันมากนัก

ประสาน ส.ตราสารหนี้ตรวจสอบปัญหา

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน ตลาดหลักทรัพย์ได้ประสานงานกับสมาคมตราสารหนี้ไทย อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในเบื้องต้นมูลค่าตั๋วบีอี ทั้งตลาดมีมากกว่า แสนล้านบาท ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการผิดนัดชำระหนี้ทางเทคนิค และเห็นได้ว่าการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวเป็นเพียงการชำระหนี้ที่ล่าช้าเท่านั้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์คาดว่ามีกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ประมาณ หมื่นล้านบาท จากมูลรวม 2-3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์มองว่าการในการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในตั๋วบีอี นั้น บริษัทจดทะเบียนควรจะมีการจัดอันดับเครดิตเรทติ้ง เพื่อให้มีคนกลางเข้ามาวิเคราะห์ฐานะของบริษัทเพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ลงทุนได้ ซึ่งในด้านความเข้มแข็งของบริษัทจดทะเบียนไทย ยังคงแข็งแกร่งมีอัตราหนี้สินต่อทุนในระดับ 1 เท่า และมีกระแสเงินสดที่สูง ซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจโดยรวมยังมีทิศทางที่ดีจึงเชื่อว่าสถานะของบริษัทจดทะเบียนยัง