'มิสเตอร์ ดาการ์' สเตฟาน ปีเตอร์อองเซล

'มิสเตอร์ ดาการ์' สเตฟาน ปีเตอร์อองเซล

ในประวัติศาสตร์ของ ดาการ์ แรลลี นอกจากชื่อของ เธียร์รี ซาบีน ในฐานะผู้ริเริ่มการแข่งขัน

 อีกหนึ่งชื่อที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คงไม่พ้น สเตฟาน ปีเตอร์อองเซล

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักขับชาวฝรั่งเศสวัย 51 ปี เดินหน้าสร้างสถิติใหม่ใหักับรายการ และตนเอง ด้วยตำแหน่งแชมป์สมัยที่ 13 นับแต่เข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี 1991 หรือเมื่อ 26 ปีที่แล้ว นับเป็นผลงานที่ไม่มีนักแข่งคนไหนเทียบได้ และยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดง่ายๆเช่นกัน

ชัยชนะอันหอมหวาน

ย้อนกลับไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สเตฟาน ปีเตอร์อองเซล นักขับฝรั่งเศส จากทีมเปอโยต์ คว้าแชมป์ ดาการ์ 2017 ไปครอง หลังฝ่าฟันอุปสรรคตลอดระยะเวลา 12 วัน กับอุปสรรคจากพายุฝน จนต้องยกเลิกถึง 2 สเตจ รวมถึงตัดระยะทางใน 3 สเตจให้สั้นลง รวมแล้วกว่า 1 ใน 3 ของระยะทางเดิม

ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคแค่ไหน ปีเตอร์อองเซล ก็นำรถคู่ใจเข้าเส้นชัยที่กรุงบัวโนส ไอเรส ด้วยเวลารวม 28 ชั่วโมง 49 นาที 30 วินาที​ เหนือเพื่อนร่วมทีม เซบาสเตียน โลบ 5 นาที 13 วินาที

ส่วนประเภทจักรยานยนต์ แซม ซันเดอร์แลนด์ กลายเป็นนักบิดชาวสหราชอาณาจักร คนแรกที่ได้แชมป์ไปครอง หลังทำเวลาดีสุดที่ 32 ชั่วโมง 6 นาที 22 วินาที เซอร์เก คายาคิน จากรัสเซีย ได้แชมป์ในประเภทควอดไบค์ เวลา 39:18:52 ชั่วโมง เลอันโดร ตอร์เรส จากบราซิล เป็นแชมป์ในประเภทบักกี 54:01:50 ชั่วโมง และ เอดูอาร์ด นิโคลาเยฟ จากรัสเซีย ในประเภทรถบรรทุก เวลา 27:58:24 ชั่วโมง

หลังจบการแข่งขัน ปีเตอร์อองเซล เผยว่าชัยชนะครั้งนี้ หอมหวานที่สุดเท่าที่ตนเคยได้สัมผัสมา หลังจากต้องขับเคี่ยวกับ โลบ แชมป์โลกแรลลี 9 สมัย มาตลอดระยะเวลาเกือบสองสัปดาห์ ชนิดที่กว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ ก็ต้องรอจนถึงเกือบสเตจสุดท้ายเลยทีเดียว 

หนนี้มันมีความพิเศษมาก เพราะมีการแข่งขันกันสูง การต้องแข่งกับ เซบาสเตียน และจบด้วยเวลาที่เหนือกว่าเขาแค่ไม่กี่นาที มันเป็นความสำเร็จที่ไม่ได้มาแบบง่ายๆเลย อองเซล ซึ่งคว้าแชมป์ในประเภทรถยนต์เป็นสมัยที่ 7 หลังจากเคยได้แชมป์โลกในประเภทรถจักรยานยนต์มา 6 สมัย กล่าว  

สเก็ตบอร์ดสู่มอเตอร์สปอร์ต

ในช่วงวัยรุ่น กีฬาที่ ปีเตอร์อองเซล หลงใหลที่สุด คือสเก็ตบอร์ด ก่อนจะผันตัวเข้าสู่วงการมอเตอร์สปอร์ต และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวงการมอเตอร์สปอร์ต ด้วยความสำเร็จในแรลลีรายการที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกมานานกว่าสองทศวรรษ

ปีเตอร์อองเซล เริ่มลงแข่งในรายการนี้เป็นครั้งแรก ขณะยังใช้ชื่อ ปารีส ดาการ์ ในประเภทจักรยานยนต์ เมื่อปี 1988 ด้วยรถยามาฮ่า ขณะอายุ 33 ปี ก่อนคว้าแชมป์หนแรกในชีวิต เมื่อปี 1991 และเป็นแชมป์ในประเภทนี้ถึง 6 สมัย ในช่วงเวลา 8 ปี โดยสองครั้งที่เจ้าตัวไม่ได้แชมป์ เกิดขึ้นเนื่องจากไม่ได้ลงแข่ง 1 หน และถอนตัวกลางคันหนึ่งหน

จากนั้น ปีเตอร์อองเซล ก็ขยับมาแข่งขันในประเภทรถยนต์เป็นครั้งแรกในปี 1999 อย่างไรก็ดี แม้จะเริ่มต้นได้ดีด้วยอันดับ 7 ในปีแรก และอันดับ 2 ในปีถัดมา แต่กว่าที่เจ้าตัวจะคว้าแชมป์โลกได้อีกครั้ง ก็ต้องรอจนถึงปี 2004 เลยทีเดียว แต่นั่นก็คุ้มค่า เพราะทำให้ ปีเตอร์อองเซล กลายเป็นนักแข่งคนที่สองถัดจาก อูแบร์ โอริโอล ที่ได้แชมป์รายการนี้ 2 ประเภท

กับรถมิตซูบิชิ ปีเตอร์อองเซล ยังเดินหน้าคว้าแชมป์มาครองอีก 2 หนในปี 2005 และ 2007 ก่อนที่ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจะถอนตัวไปในปี 2009

สามปีให้หลัง ปีเตอร์อองเซล กลับมาทวงความสำเร็จอีกครั้งในสังกัด มินิ ด้วยตำแหน่งแชมป์ 2 สมัย และอันดับ 2 อีก 1 สมัย ในเวลา 3 ปี ก่อนย้ายมาร่วมงานกับ เปอโยต์ ที่หวนกลับมาส่งทีมแข่งในดาการ์อีกครั้ง โดยแม้จะเริ่มต้นได้ไม่ดีนักกับอันดับ 11 ในปี 2014 แต่ก็กลับมาคว้าแชมป์ได้อีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงหนนี้เป็นครั้งล่าสุด

ปีหน้าต้องดีกว่า 

แม้จะครองแชมป์รายการนี้มายาวนาน แต่ความกระหายของ ปีเตอร์อองเซล กลับไม่ลดลงแม้แต่น้อย และความท้าทายจาก โลบ นักขับรุ่นน้องวัย 42 ปี ซึ่งเพิ่งลงแข่งในรายการนี้เป็นหนที่สอง  ก็น่าจะช่วยปลุกไฟในตัวของนักขับชาวฝรั่งเศสให้ลุกโชนยิ่งขึ้น

ผมรู้สึกว่านี่เป็นดาการ์ที่สูสีที่สุดครั้งหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นมานานแล้ว ปีเตอร์อองเซล กล่าว ในช่วงแรกมีรถอย่างน้อยหกหรือเจ็ดคันที่มีลุ้นแชมป์ จากนั้น ก็เหลือสี่คัน และในสัปดาห์สุดท้าย ก็เหลือแค่ผมกับ เซบาสเตียน เราสู้กันเต็มที่กว่าที่ผมจะเอาชนะเขาได้ มันเป็นความต่างแค่เล็กน้อย จากเรื่องประสบการณ์เท่านั้น

ด้าน โลบ ก็เสริมถึงเรื่องนี้ว่า ผมทุ่มเต็มที่แล้ว และมันก็เป็นการแข่งขันที่ดี ปีนี้ผมได้ที่สอง หวังว่าปีหน้า ผมจะทำได้ดีกว่านี้” 

นอกจาก โลบ แล้ว ในปีหน้า ปีเตอร์อองเซล อาจเจองานหนักยิ่งขึ้นในการป้องกันแชมป์ เมื่อ นาสเซอร์ อัล อัตติยาห์ จากกาตาาร์ แชมป์ปี 2011 และ 2015 คงหวังจะกลับมาแก้ตัวให้ได้ หลังต้องถอนตัวไปตั้งแต่สเตจ 4 ขณะที่ ซีริล เดส์เปรส์ อีกหนึ่งสมาชิกของ เปอโยต์ ก็คงหวังจะยกระดับตัวเองจากผลงานที่ 3 ในปีนี้เช่นกัน

บรรยากาศในทีมดีเยี่ยมเหมือนที่ผ่านมา ที่นี่ไม่มีทีมออร์เดอร์ให้ใครต้องปฏิบัติตาม มีแค่นักแข่งที่ต้องขับเคี่ยวกันเองด้วยรถแบบเดียวกัน ส่วนเรื่องแชมป์สมัยที่ 14? ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ล่ะ?”