The Inside Line : ทำยังไงให้การปั่นยั่งยืน

The Inside Line : ทำยังไงให้การปั่นยั่งยืน

ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดี สำหรับธุรกิจจักรยานเท่าไร ยอดขายตก ร้านค้าตัดราคากันเอง

 และจำนวนนักปั่นที่ทรงตัว จนเกิดสภาวะที่ผู้ประกอบการหลายรายตัดใจออกจากวงการ 

ฟังดูน่าตกใจ เพราะเรายังเห็นสื่อต่างๆ ตอกย้ำเรื่องการเติบโตของกระแสจักรยานเมื่อไม่นานมานี้ แต่เราจะทำยังไงให้มันเป็นมากกว่ากระแส? ให้การใช้จักรยานเป็นนิสัย เป็นทางเลือกการออกกำลังกายที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงสำหรับคนไทย? ผมว่าเราสามารถศึกษาได้จากความสำเร็จของเนเธอร์แลนด์

เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีจำนวนจักรยานมากกว่าประชากรทั้งประเทศ กว่า 70% ของการสัญจรในอัมสเตอร์ดัมมาจากการปั่นจักรยาน! ทำไมชาวดัทช์ถึงประสบความสำเร็จ ในการรณรงค์ให้คนปั่นแทนการใช้ยานพาหนะอื่นๆ? เรื่องนี้มันมีที่มาที่ไปที่คนไทยควรดูเป็นแบบอย่างครับ

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยุโรปส่วนมากใช้จักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทาง แต่เข้าสู่ยุค 50s และ 60s ที่เทคโนโลยีรถยนต์พัฒนามาจนถึงจุดที่คนทั่วไปสามารถซื้อมาใช้ได้สะดวกและไม่แพงมาก ชาวยุโรปก็เริ่มหันมาใช้รถยนต์แทน เพราะมันสะดวกและรวดเร็วกว่า

พื้นที่บนถนนที่เคยเป็นของคนปั่นก็กลายเป็นช่องเดินรถ ยอดผู้ใช้จักรยานที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุก็พุ่งขึ้นเช่นกัน ในปี 1971 นักปั่นชาวยุโรปกว่า 3,000 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ กว่า 450 คนเป็นเด็ก

สถิติดังกล่าวกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในสังคมผู้ใช้จักรยานชาวดัทช์ จนมีการรณรงค์แคมเปญ Stop the Child Murder โดยสื่อหลายสำนัก เมื่อบวกกับสถานการณ์วิกฤติน้ำมันโลกในปี 1973 ที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ระงับการส่งออกน้ำมันดิบสู่ยุโรปและอเมริกาจนธุรกิจยานยนต์ซบเซา ก็เป็นผลให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจลงทุนพัฒนาโครงสร้างคมนาคม ออกแบบถนนหลวงใหม่ทั่วประเทศให้เอื้อการใช้งานจักรยานมากกว่ารถยนต์

รัฐบาลยังทำถนนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ และเป็นถนนนักปั่นสมบูรณ์แบบที่มีทั้งไฟส่องทาง ไฟจราจร ป้ายเตือนที่จำเป็น ถนนกว้างพอให้จักรยานแซงกันได้โดยไม่เกี่ยวกันล้ม

ไม่ใช่แค่สร้างถนนจักรยาน แต่เขาปลูกฝังให้ประชากรใช้จักรยานตั้งแต่เด็ก เด็กๆในประเทศนี้ มีประสบการณ์อยู่ร่วมกับจักรยานในแบบที่คุณไม่สามารถจินตนาการได้ในประเทศอื่น ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าประชากร 70% สัญจรด้วยจักรยาน นั่นหมายความว่าครอบครัวที่มีลูกน้อย จะไปไหนมาไหน ก็ต้องหยิบลูกน้อยใส่รถลากสำหรับเด็กแบเบาะพ่วงท้ายไปด้วย!

วัยรุ่นชาวดัทช์ไม่สามารถขับรถยนต์ได้โดยไม่มีคนควบคุม ถ้าอายุยังไม่ถึง 18 จักรยานจึงกลายเป็นสิ่งที่ให้อิสระในการเดินทางกับวัยรุ่นชาวดัทช์ทุกคน

เพื่อให้การปั่นจักรยานของคนส่วนใหญ่ราบรื่น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้บรรจุวิชาการปั่นจักรยาน ลงไปในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ทุกโรงเรียนต้องมีที่จอดจักรยาน นักเรียนชาวดัทช์ก็นิยมปั่นจักรยานไปเรียนมากกว่า 90%

การที่ชาวดัทช์เกือบทั้งประเทศปั่นจักรยานทุกวัน ทำให้ผู้ใช้ถนนอื่นๆ เช่นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เคารพสิทธิ์เพื่อนร่วมทางมากกว่าประเทศอื่นๆโดยปริยาย

ในมุมกลับ ผู้ใช้จักรยาน ก็ต้องเคารพกฏหมายจราจรมากเป็นพิเศษ ถ้าตำรวจ (ที่มักจะปั่นจักรยานทำภารกิจ) จับได้ว่าคุณปั่นฝ่าไฟแดงก็จะโดนปรับทันทีหลายพันบาท ยิ่งถ้าไม่ติดไฟส่องสว่างเวลากลางคืนก็จะโดนปรับมากขึ้นอีก 

เห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นประเทศที่คนใช้จักรยานได้จริงและปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ ถึงหลายๆ หน่วยงานและบริษัทในไทยจะพยายามโหมโปรโมทให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ผู้มีส่วนร่วมต้องไม่มองว่ามันเป็นแค่กระแส ต้องวางแผนมองแบบระยะยาว ไม่ใช่เห็นว่าจักรยานกำลังมา ก็โหนหวังเรียกคะแนน กว่าเนเธอร์แลนด์จะเป็นเมืองหลวงจักรยานได้ เขาต้องวางระบบกันต่อเนื่องยาวนาน 

ถ้าไม่คิดในองค์รวมแบบนี้ โครงการจักรยานในไทยก็คงเป็นได้แค่ไบค์เลนราคาแพง ที่สุดท้ายก็กลายเป็นที่จอดรถยนต์ เหมือนสารพัดโครงการจักรยานที่ผ่านมา