คลังเดินหน้าล้างบาง‘หนี้นอกระบบ’ตั้งเป้าแก้ปัญหาจบรัฐบาลนี้

คลังเดินหน้าล้างบาง‘หนี้นอกระบบ’ตั้งเป้าแก้ปัญหาจบรัฐบาลนี้

รัฐมนตรีคลัง ตั้งเป้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยความช่วยเหลือจะบูรณาการผ่านทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ภายหลังกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา 15% ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 15 ม.ค. 2560 ทางกระทรวงการคลังได้เตรียมจัดงานเปิดตัวโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการบูรณาการการแก้ไขปัญหาผ่านทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าหมายที่จะให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปภายในรัฐบาลชุดนี้

“หลังจากนี้ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง หากพบเจ้าหนี้รายใดเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมาย ต้องถูกลงโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ”

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะให้ปัญหาหนี้นอกระบบหมดไปภายในรัฐบาลชุดนี้ เท่าที่ประเมินมีกลุ่มลูกหนี้นอกระบบประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นจะบูรณการทุกหน่วยงาน ทหาร ตำรวจเข้าไปดูแลการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากเจ้าหนี้นอกระบบ ฝ่ายจังหวัดจะคณะกรรมการไกล่เกลี่ย อนุกรรมการฟื้นฟูอาชีพ ส่วนกระทรวงการคลังได้เปิดตัวบริการทางการเงินที่เรียกว่า พิโกไฟแนนซ์ เพื่อให้เจ้าหนี้นอกระบบมีทางเลือกในการทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ที่ถูกกฎหมายสามารถคิดดอกเบี้ยถึง 36%

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังดึงแบงก์รัฐ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เข้ามาช่วยปล่อยกู้ให้กลุ่มลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดให้เป็นสินเชื่อนโยบายรัฐ(พีเอสเอ)ชดเชยให้ 50% หากเกิดหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)ขึ้น ซึ่งทำให้แบงก์กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้คนในกลุ่มนี้ รวมถึง จะมีการส่งเสริมธนาคารชุมชน เพื่อให้ประชาชนรากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เมื่อรวมกับพิโกไฟแนนซ์ ของกระทรวงการคลัง ทำให้ประชาชนฐานรากมีแหล่งเงินที่จะเข้าไปหามากขึ้น คาดว่าจะทำให้หนี้นอกระบบหมดไปในที่สุด

“ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบครั้งนี้จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาที่แก้เฉพาะหนี้ ไม่พัฒนาแหล่งเงินเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง ดังนั้น ปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมาจึงยังไม่หมด แต่ครั้งนี้มีการพัฒนาแหล่งเงินรองรับทั้งพิโกไฟแนนซ์ ออมสิน ธ.ก.ส. พัฒนาแหล่งเงินทุนชุมชนให้ประชาชนเข้าถึงส่วนหนึ่ง และ2 แบงก์ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลหนี้นอกระบบเป็นพิเศษ รวมถึง มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดเจ้าหนี้นอกระบบไห้แรงขึ้น ดังนั้น คาดว่าหนี้นอกระบบจะหมดไปในรัฐบาลชุดนี้ได้”

เขากล่าวด้วยว่า ให้นโยบายแก่แบงก์รัฐทั้งสองแห่งไปว่า การปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยหรือกลุ่มที่มีปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ให้พิจารณาในเรื่องของความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินมากกว่าเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ เพราะต้องการให้แบงก์รัฐได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้ โดยที่รัฐจะเข้าไปชดเชยภาระหนี้เสียให้ในสัดส่วนดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 แล้ว โดย มาตรา 4 ของ “พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๕๖๐” ระบุว่า บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง การให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

1.เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้ 2.กําหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจํานวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืม หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนด หรือ 3.กําหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน