ภาวะขาดคนไอทีวิกฤติหนัก 'ซิสโก้' ร่วมมือพันธมิตรหนุนแก้ปัญหา

ภาวะขาดคนไอทีวิกฤติหนัก 'ซิสโก้' ร่วมมือพันธมิตรหนุนแก้ปัญหา

“ซิสโก้” ชี้ภาวะขาดคนไอทีในไทยวิกฤติหนัก แรงงาน 83.5% จัดอยู่ในจำพวก “ไม่มีฝีมือ”

หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะเป็นตัวฉุดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล- ไทยแลนด์ 4.0 ร่วมมือพันธมิตรเร่งแผนพัฒนาคน ตั้งเป้าใน 5 ปี ปั้นคนไอทีป้อนอุตฯ อีกไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอทีและทักษะทางดิจิทัลกำลังเป็นวิกฤติของหลายอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน ความพร้อมทางบุคลากรเป็นหนึ่งความท้าทายลำดับต้นๆ ต่อการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ เนื่องจากทักษะด้านดิจิทัลมีส่วนสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับระบบการทำงาน ระบบราชการ การเรียนรู้ การดำเนินธุรกิจ และที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับประสิทธิภาพธุรกิจ

ข้อมูลระบุว่า อีก 5 ปีข้างหน้า 4 ใน 10 ของบริษัทระดับท็อปในอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และมีโอกาสถูกเบียดจนตกชั้นไปได้

อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมากในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ปัจจัยบวกยังเห็นการเติบโตของจีดีพี เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค มีนโยบายผลักดันประเทศสู่ดิจิทัลที่ชัดเจน การเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ อีคอมเมิร์ซ ทั้งมีการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2563 อีคอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 59 ล้านราย ผู้ใช้สมาร์ทโฟน 104 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ 154%

ส่วนของซิสโก้ บทบาทมุ่งเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาซัพพลายเชน จัดโปรแกรมด้านการเงินเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยโมเดลการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายจะมีส่วนช่วยให้เกิดธุรกิจในไทย

ขณะที่ งานสำคัญจากนี้คือการเร่งพัฒนาโซเชียลอินโนเวชั่น สร้างงาน สร้างคอมมูนิตี้ บิสสิเนสอินโนเวชั่น และพัฒนาคน

นางสาวแซนดี้ วอลช์ ผู้อำนวยการด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม ซิสโก้ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า แนวทางการพัฒนาโซเชียลอินโนเวชั่นในไทยของซิสโก้ โฟกัสการพัฒนาศักยภาพของคน พัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชน

ซิสโก้ทำงานเรื่องดังกล่าวในไทยมากว่า 18 ปี ช่วยอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรไปแล้วกว่า 41,235 ราย โดยรวมมีผู้สอน 94 คน มีคู่ค้าสถาบันการศึกษากว่า 56 ราย

“ประเทศไทยจำเป็นต้องวางแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลพร้อมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ได้มากที่สุด ส่วนบริษัทตั้งเป้าไว้ว่า อีก 5 ปี หรือดเมื่อถึงปี 2564 จะช่วยพัฒนาทักษะบุคคลากรในไทยเพิ่มอีก 3 หมื่นคน”

ส่วนของหลักสูตร มีตั้งแต่ความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงชั้นแอดวานซ์ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการปรับใช้หลักสูตรใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์

นายพิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 คือ ขาดแคลนบุคลากรไอที

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า 83.5% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ในจำพวก “ไม่มีฝีมือ ” หลายปีมานี้ยังไม่มีการพัฒนาที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่การจ้างงานมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ งานขาย บัญชี และไอที ด้านบริษัทวิจัยไอดีซีระบุไว้ด้วยว่า ปี 2566 ทั่วโลกจะขาดแคลนบุคลากรไอทีราว 2 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ส่วนหนึ่งมาจากคนรุ่นใหม่มีค่านิยมประกอบอาชีพอิสระ อ่อนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ส่งผลให้มีผู้เลือกเรียนด้านไอทีน้อยลง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดสอนสาขาไอทีโดยเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ จากข้อมูลสภาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ระบุไว้ด้วยว่า โดยเฉลี่ยแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตด้านไอทีที่มีคุณภาพได้ไม่เกิน 2,000 คน

พร้อมกับแนะว่า สถาบันการศึกษาควรหันมาทบทวนบทบาท แนวทางการพัฒนาบุคลากร เริ่มจากการรับรู้ปัญหา ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมโดยมองจากมุมของอุตสาหกรรม อีกทางหนึ่งแก้จุดอ่อนเด็กไทยที่ยังอ่อนภาษาอังกฤษซึ่งทำให้โอกาสการหางานที่มีเงินเดือนสูงน้อยลง