ร้องยกเลิกสรรหาเลขาสพฉ. อ้างไม่โปร่งใส-ไม่ชอบด้วยกม.

ร้องยกเลิกสรรหาเลขาสพฉ. อ้างไม่โปร่งใส-ไม่ชอบด้วยกม.

ร้องยกเลิกกระบวนการสรรหาเลขาสพฉ. อ้างไม่โปร่งใส-ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้านประธานกพฉ.ระบุกรรมการสรรหาไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 16 มกราคม นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ในนามเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วย ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ ประเทศไทย เครือข่ายการศึกษา/เครือข่ายเด็กเยาวชน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เป็นต้น พร้อมด้วยผู้แทนอีกประมาณ 10 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(กพฉ.) กรณีขอให้ยกเลิกกระบวนการสรรหาเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เนื่องจากความไม่โปร่งใส และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายธนพล กล่าวว่า เครือขายฯ ได้รับทราบข้อมูลว่ามีความบกพร่องและพฤติการณ์ที่อาจไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สพฉ.ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ โดยพบว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวก มีผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะเดียวกันยังพบว่า คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาและเลือกผู้สมัครออกมา 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบุคคลหนึ่งที่กำลังถูกร้องเรียน แต่กลับได้รับการคัดเลือก เพราะทราบว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรรมการใดกรรมการหนึ่งหรือไม่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบตรงนี้ และขอให้ยกเลิกกระบวนการสรรหานี้เสีย

วันเดียวกัน นายต่อพงษ์ ส่งศรีโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อีเมอเจนซี เมดิคอล เซอร์วิส เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด และหนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาฯ สพฉ. กล่าวว่า ตนมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. หลังจากยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงคุณสมบัติของ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ว่าไม่เหมาะสมในการสมัครเป็นเลขาธิการครั้งนี้อีก เนื่องจากกำลังถูกร้องเรื่องการพิจารณาการรับรองจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยปฏิบัติการแพทย์ชั้นสูง ที่ไม่เป็นธรรม

ด้านศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า หลังจากเครือข่ายฯได้ยื่นข้อเรียกร้องมา ตนได้หารือกับฝ่ายกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนการสรรหาครั้งนี้ ซึ่งพบว่า ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่ากรรมการสรรหาต้องมาจากบุคคลใด แต่ต้องไม่มีประโยชน์ทับซ้อน และต้องไม่พบความไม่เป็นกลางอย่างร้ายแรง ซึ่งหลังจากตรวจสอบก็ไม่พบว่า กรรมการท่านใดมีส่วนได้ส่วนเสีย โดยกรรมการสรรหามีทั้งหมด 5 คน มีนพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. เป็นประธานกรรมการ อีก 2 คนเป็นกรรมการบอร์ด คือ รศ.ศิริอร สินธุ กพฉ. และผศ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายพิจิตต รัตนกุล ที่ปรึกษา กพฉ. และนายวิทยา ชาติบัญชาชัย ที่ปรึกษา กพฉ. โดยการสรรหาได้คัดเลือกผู้สมัครมา 3 คน คือ 1.นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร 2.นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี และ 3.นพ.อัจฉริยะ แพงมา อดีต ผอ.สำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ.

ประธานกพฉ. กล่าวอีกว่า นพ.อนุชา จะหมดวาระในการดำรงตะแหน่งเลขาธิการสพฉ.ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 และเมื่อกรรมการสรรหามาได้ 3 คน ถึงแม้ นพ.อนุชา จะถูกร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 จนผู้ร้องเรียนเห็นว่าไม่เหมาะสมนั้น จริงๆ แล้ว ตามกฎหมาย ป.ป.ช. และป.ป.ท. ยังไม่ได้ตัดสินว่าผิด เพราะเป็นการรับเรื่องทางธุรการเท่านั้น ต้องมีการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อน การที่จะตัดสิทธิเพราะถูกร้องเรียนอาจเป็นการปิดโอกาส ประกอบกับตามระเบียบคุณสมบัติของเลขาฯ สพฉ. มี 2 ข้อสำคัญ คือ 1.ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และ2.ต้องไม่เคยถูกพิพากษาให้จำคุก แต่กรณีป.ป.ช. และป.ป.ท.ยังไม่มี

“ในวันที่ 18 มกราคมนี้ ผมจะนำข้อร้องเรียนทั้งหมดของ นายต่อพงษ์ และข้อมูลจากฝ่ายกฎหมายของกระทรวงฯ โดยข้อมูลทั้งหมดจะยื่นต่อบอร์ด กพฉ.ว่าจะให้เดินหน้าต่อหรือไม่ หากเดินหน้าต่อในวันนั้นก็จะทราบตัวเลขาธิการ สพฉ. เพื่อให้ทันต่อการหมดวาระของเลขาธิการ สพฉ.คนเก่า ที่จะหมดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว