'สมคิด'รื้อตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หนุนปฏิรูปประเทศ

'สมคิด'รื้อตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หนุนปฏิรูปประเทศ

“สมคิด” เผยรัฐบาลมีแนวคิดปรับวิธีแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้วิธีพิเศษ คัดสรรมืออาชีพบริหาร ชี้หากทำสำเร็จจะเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้ง

รัฐบาลเตรียมปรับระบบการบริหารราชการครั้งใหญ่ โดยการปรับวิธีการสรรหาผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่จากเดิมการแต่งตั้งมาจากกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเห็นว่านโยบายการพัฒนาในส่วนภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลจำเป็นต้องมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนักบริหารมืออาชีพ

ความพยายามปรับวิธีการสรรหาผู้ว่าราชการจังหวัดมีมานาน จากนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้พยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้งในจังหวัดที่มีความพร้อม แต่ไม่เคยทำได้สำเร็จ โดยอำนาจการแต่งตั้งยังอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

แนวคิดในการปรับวิธีการสรรหาผู้ว่าราชการจังหวัดในครั้ง รัฐบาลต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระดับจังหวัดและระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อรองรับนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยการกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนภูมิภาค

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลได้เพิ่มงบลงทุนในระดับจังหวัดในจำนวนที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยอาจใช้วิธีพิเศษ เพื่อให้ได้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ โดยแนวคิดในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นด้วยแล้ว

“นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้แล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การปรับระบบการคัดเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่ โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่จังหวัดมีงบพัฒนาระดับไม่กี่ร้อยล้านบาท เป็นระดับพันล้านบาทขึ้นไป จำเป็นต้องได้ผู้ว่าที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ”

ชี้หากทำสำเร็จเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่

นายสมคิด กล่าวว่าในอนาคต การดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ใช่อยู่ในตำแหน่งแค่ 1 -2 ปี แต่จะต้องอยู่ยาวนานขึ้น 4-5 ปี เพื่อให้การพัฒนาภายในจังหวัดมีความต่อเนื่อง และ ส่วนตัวผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ควรมีอายุในระดับ 50 ปีต้นๆและเมื่อจะมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง จะต้องมีแนวทางการพัฒนาจังหวัดนั้นที่ชัดเจน โดยเฉพาะในจังหวัดขนาดใหญ่อย่างเชียงใหม่ หรือภูเก็ต

“การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรงบประมาณ ที่ไปลงสู่จังหวัดมากขึ้น จำเป็นที่เราจะต้องได้คนที่เก่ง เป็นนักบริหารที่แท้จริง เพื่อสามารถเป็นผู้นำของกลุ่มจังหวัดได้ ดังนั้นแนวทางนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ”

ระบุต้องปรับวิธีการจัดสรรงบใหม่

นายสมคิด เห็นว่าหากแนวคิดดังกล่าวประสบความสำเร็จ ในอนาคตจังหวัดที่มีความเจริญ จะมีการกระจายตัวมากขึ้น ไม่ใช่แค่จังหวัดใหญ่ที่เคยเจริญมาในอดีต แต่อาจเป็นจังหวัดเล็กๆ อย่างแม่ฮ่องสอน หรือลำปางก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น มีประสิทธิภาพที่จะผลักดันอะไรในจังหวัด

“หากเรายังอยู่ในระบบการจัดสรรงบประมาณแบบเดิม ที่งบประมาณจะลงไปมาก สู่จังหวัดที่มีประชากรมาก แต่ผู้ว่าราชการไม่มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ดีพอ ก็จะกลายเป็นปัญหา ทำให้จังหวัดไม่พัฒนา”

นายสมคิด กล่าวว่ารูปแบบการพัฒนาแบบใหม่ดังกล่าว ยังจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจในการคิดโครงการเพื่อพัฒนาจังหวัดของตนเอง เพราะสามารถมีงบประมาณรองรับได้ เช่น จังหวัดภูเก็ตที่เป็นจังหวัดสำคัญสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงของประเทศ แต่ปัจจุบันมีปัญหาการจราจรติดขัด โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง ไม่เพียงพอ ต่อการขยายตัวของจังหวัด ผู้ว่าราชการก็สามารถที่จะคิดโครงการด้านระบบคมนาคมขนส่ง ภายในจังหวัด ไม่จำเป็นต้องรองบประมาณจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งมองโครงการพัฒนาที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศเท่านั้น

ชี้งบประมาณลงกลุ่มจังหวัดแสนล้าน

นายสมคิด กล่าวว่ารัฐบาล เริ่มให้ความสำคัญ ต่อการจัดสรรงบประมาณ ลงสู่ระบบจังหวัด แบ่งออกเป็น 18 กลุ่มจังหวัด โดยรัฐบาลได้จัดทำงบประมาณ 2560 เพิ่มเติมกลางปี อีก 1.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ ได้จัดสรรงบให้กลุ่มจังหวัด 1 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่าแต่ละกลุ่มจังหวัดจะมีงบประมาณเพื่อการพัฒนาราว 5 พันล้านบาท

สำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาในระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อใช้งบดังกล่าวเป็น 5 แนวทางในการพัฒนา 1. การเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน, แนวทางที่ 2. การเพิ่มศักยภาพการเกษตร แนวทางที่ 3 การเพิ่มศักยภาพภาคการท่องเที่ยวและบริการ, แนวทางที่ 4 การเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และแนวทางที่ 5. โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ ที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ

โครงการพัฒนาในระดับกลุ่มจังหวัดดังกล่าว จะต้องสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ของชาติใน 20 ปีข้างหน้า รวมถึง สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 ซึ่งประกอบด้วยแผนพัฒนาระดับภาคทั้ง 4 ภาค ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ด้วย

สำหรับนโยบายการพัฒนากลุ่มจังหวัดมีมาตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ และได้เสนอจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดและส่วนจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 โดยแบ่งจังหวัดทั่วประเทศออกเป็น 18 กลุ่มจังหวัด ดังนี้

1. ภาคกลางตอนบน 1 มี 4 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี โดยให้พระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 2. ภาคกลางตอนบน 2 มี 4 จังหวัด คือ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยให้ลพบุรีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 3.ภาคกลางตอนกลาง มี 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และสระแก้ว โดยให้ฉะเชิงเทราเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 4. ภาคกลางตอนล่าง 1 มี 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี โดยให้นครปฐมเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวั และ5.ภาคกลางตอนล่าง 2 คือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยให้เพชรบุรีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด

6. ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มี 4 จังหวัด คือ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง และสุราษฎร์ธานี โดยให้สุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 7.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มี 5 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และระนอง โดยให้ภูเก็ตเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด และ 8. ภาคใต้ชายแดน มี 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล โดยให้สงขลาเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด

9. ภาคตะวันออก มี 4 จังหวัด คือ จันทบุรี ชลบุรี ตราด และระยอง โดยให้ชลบุรีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด

10. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มี 5 จังหวัด คือ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และอุดรธานี โดยให้อุดรธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 11. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 มี 3 จังหวัด คือ นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร โดยให้สกลนครเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 12. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง มี 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยให้ขอนแก่นเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 13. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มี 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยให้นครราชสีมาเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด และ 14. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 มี 4 จังหวัด คือ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี โดยให้อุบลราชธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด

15. ภาคเหนือตอนบน 1 มี 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน โดยให้เชียงใหม่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 16. ภาคเหนือตอนบน 2 มี 4 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ โดยให้เชียงรายเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด 17. ภาคเหนือตอนล่าง 1 มี 5 จังหวัด คือ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ โดยให้พิษณุโลกเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด และ 18. ภาคเหนือตอนล่าง 2 มี 4 จังหวัด คือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี โดยให้นครสวรรค์เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด