ผูกพันทางอารมณ์ ลดเสี่ยงอาชญากรตัวน้อย

ผูกพันทางอารมณ์ ลดเสี่ยงอาชญากรตัวน้อย

กรมสุขภาพจิตชวนสร้างความผูกพันทางอารมณ์ ลดเสี่ยงอาชญากรตัวน้อย ของขวัญชิ้นสำคัญ รับวันเด็กแห่งชาติ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดงาน “รักและผูกพัน สร้างสรรค์เด็กไทย” เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2560 ร่วมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล คณะผู้บริหาร และเด็กๆ พร้อมครอบครัว แนะ พ่อแม่ รู้ใจ เข้าใจ สร้างความผูกพันทางอารมณ์ ความผูกพันแบบพิเศษ ที่จะช่วยเสริมสติปัญญา ทักษะชีวิต ปกป้องเด็กจากการก่ออาชญากรรม

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พื้นฐานสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูเด็กอยู่ที่ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นความผูกพันระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก เด็กแต่ละคนจะมีความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูที่อยู่รอบตัวได้หลายคน เช่น เด็กที่อยู่ในครอบครัวขยายจะมีความผูกพันกับปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอาที่อยู่ในบ้าน คอยดูแลหรือเล่นกับเด็กๆ แต่เด็กจะมีความผูกพันที่แน่นแฟ้น เหนียวแน่น และลึกซึ้งจนกลายเป็น “ความผูกพันทางอารมณ์” ซึ่งเป็นความผูกพันแบบพิเศษกับผู้เลี้ยงดูเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ที่ “รู้ใจ” และ “เข้าใจ” นิสัยใจคอของเด็กเป็นอย่างดี

โดยการเข้าใจนี้ไม่ได้หมายถึงการตามใจเด็ก แต่เป็นความเข้าใจที่ช่วยให้เด็กรู้สึกสงบ ปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ๆ และสามารถสังเกตได้จากการที่เด็กติดใครในบ้าน เมื่อใครออกจากบ้านแล้วเด็กร้องตาม ในเวลาที่เด็กง่วงนอนจะต้องการให้ใครอุ้ม เวลาเจ็บปวดหรือมีความทุกข์ เด็กวิ่งหาใครให้ช่วยและปลอบโยน เป็นต้น ทั้งนี้ เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี จะมีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง กล้าคิด กล้าสำรวจ กล้าลงมือทำ มองโลกแง่ดี เชื่อฟังและร่วมมือกับกฎเกณฑ์ของผู้ใหญ่ จากวิจัยทางการแพทย์ พบว่า เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี มักมีระดับสติปัญญาที่สูงกว่า และเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ จะปรับตัวได้ง่ายกว่าเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง

นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 52 ของเด็กที่ได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์และกว่า ร้อยละ 30 ของเด็กที่พ่อแม่ติดสารเสพติด ล้วนมีปัญหาความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง จำเป็นต้องได้รับความสนใจจากสังคมและครอบครัวในการป้องกันแก้ไข และเด็กที่ขาดความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคง จะเสี่ยงก่ออาชญากรรมได้ถึง ร้อยละ 80

แนวทางสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงให้กับลูก ได้แก่ “กินอิ่มท้อง อบอุ่นใจ” ให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ รับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือใช้อารมณ์กันในมื้ออาหาร “กอดหอมให้ สัมผัสรัก” ลูบศีรษะ อุ้ม โอบกอด หอมแก้ม หอมหน้าผาก สบตา ดูแล เอาใจใส่ ตอบสนองความต้องการของลูกแต่ละช่วงวัยอย่างพอเหมาะและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก “เล่นเสริมสายใยรัก” เล่นร่วมกันกับลูก ที่สอดคล้องกับความสนใจและพัฒนาการตามช่วงวัย อย่างน้อย 15-30 นาทีต่อวัน “ฟูมฟักเล่า เคล้านิทาน” บอกรักลูก สังเกต/สอบถามอารมณ์และความรู้สึก เล่า/อ่านนิทานร่วมกัน

ที่สำคัญ ในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย ควรมีคนเลี้ยงหลักเพียงคนเดียว ระมัดระวังการใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดและความก้าวร้าว แต่ต้องมีความหนักแน่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ลูกทำผิด ไม่เชื่อฟัง ดื้อ หรือต่อต้าน ไม่ใช้การตี การดุ ตวาดเสียงดัง หรือใช้คำพูดรุนแรงอย่างไร้เหตุผล และรู้จักเลือกใช้วิธีลงโทษและการสร้างวินัยทางบวกเข้าทดแทน

ทั้งนี้ ได้มอบหมายสถาบันราชานุกูลให้พัฒนาเครื่องมือประเมินความผูกพันทางอารมณ์ในเด็กและแนวทางการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมความผูกพันทางอารมณ์สนับสนุน รพช. ใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ตลอดจนขอเชิญชวน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งผลงานครอบครัวเข้าร่วมการประกวดภาพถ่ายและคลิปวิดีโอครอบครัว ภายใต้แนวคิด "สานความผูกพัน สร้างเด็กไทยให้แข็งแรง" ตั้งแต่วันนี้ – 1 มีนาคม 2560 ติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rajanukul.go.th , Facebook Fanpage : SUKSANGDAI อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว