สธ.ห่วงสุขภาพจิตผู้ประสบภัย

สธ.ห่วงสุขภาพจิตผู้ประสบภัย

สธ.ห่วงสุขภาพจิตผู้ประสบภัย เฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชเดิม ผู้ป่วยเรื้อรัง เด็กและผู้สูงอายุ ที่เสี่ยงเครียดรุนแรง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รายงานจาก ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ (14 มกราคม 2560) มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 117 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ปิดซ่อมแซม 3 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านช้าง รพ.สต.บ้านบางจาก และรพ.สต.บ้านบางใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมทีมแพทย์พยาบาลสนาม(MERT)จากทั่วประเทศ ให้การช่วยเหลือจัดบริการประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานีและประจวบคีรีขันธ์ ออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 148 ทีม มีผู้รับบริการ 20,000 กว่าคน

เนื่องจากอุทกภัยครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ได้เร่งรัดจัดบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ประเมินผลกระทบ ดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจทั้งที่บ้าน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่และศูนย์พักพิง เน้นการเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและผู้สูญเสียทรัพย์สิน ที่ทำมาหากิน บ้านเรือนเสียหาย รวมทั้งดูแลและเฝ้าระวังติดตามกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเดิม ผู้ป่วยเรื้อรัง เด็กและผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ที่เสี่ยงเครียดรุนแรงและอาจมีภาวะซึมเศร้าในอนาคตได้ โดยทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต(MCATT)จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 5,11,12 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ออกให้บริการระหว่างวันที่ 7-11 มกราคม 2560 มีผู้ประสบภัยเข้ารับการคัดกรองสุขภาพจิต 7,385 คน พบเครียดระดับมาก 238 คน เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 45 คน

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูแลจิตใจตนเองในระยะนี้ ตั้งสติ สร้างกำลังใจและ สร้างคุณค่าให้ตนเอง ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นต้น ส่วนครอบครัวที่มีผู้มีปัญหาทางจิตใจ สามารถป้องกัน ปัญหาการฆ่าตัวตายได้ คนใกล้ชิดและครอบครัว ต้องให้กำลังใจ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองขอให้สังเกตพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดการฆ่าตัวตาย ดังต่อไปนี้ 1.รู้สึกตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา 2.รู้สึกว่างเปล่าหรือหมดเรี่ยวแรงอย่างมาก 3. ฝันร้าย/ สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีปัญหาการนอน 4.ยังมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์อย่างรุนแรง เช่น รู้สึกกลัว รู้สึกผิด หรือถูกทอดทิ้งอย่างรุนแรง 5.ไม่สามารถควบคุมความโกรธ หรือความเจ็บปวดได้ 6. พฤติกรรมถดถอย เช่น สูบบุหรี่ การดื่มหรือรับประทานอาหารที่ผิดปกติ และ7.แยกตัวจากสังคมอย่างชัดเจน

โดยผู้ใกล้ชิด ผู้มีความเสี่ยงควรปฏิบัติ ดังนี้ บอกคนใกล้ชิดเสมอ “มีอะไรขอให้บอก” รับฟังอย่างตั้งใจและเสนอความช่วยเหลือ เก็บสิ่งที่อาจใช้เป็นอาวุธ อย่าให้คนที่มีความเสี่ยงอยู่เพียงลำพัง พยายามชี้ทางเลือก ด้านบวกที่มีอยู่หลากหลาย สำหรับผู้ป่วยจิตเวชเดิมต้องดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่อง และขอความช่วยเหลือจากบุคลากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ โดย สามารถขอคำปรึกษาได้จากบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง