สนุกคลุกโลก

สนุกคลุกโลก

คืนโลกใบใหญ่ให้เด็กไทยไม่ไร้รัก(ษ์)

ตาจดจ้องอยู่ที่จอ นิ้วเขี่ยไปมาราวกับว่าโลกทั้งใบของเด็กน้อยซ่อนอยู่ในนั้น...

นี่คือภาพของเด็กไทยยุค 4.0 ที่สังคมไม่อาจปฏิเสธ ทว่า โลกใบใหญ่ควรอยู่แค่ในกรอบสี่เหลี่ยมอย่างนั้นหรือ

คำตอบมีมานานแล้ว ไม่ว่าจะในมุมมองทางสังคม จิตวิทยา การศึกษา หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม เด็กควรเรียนรู้โลก เพราะเขาเป็นหนึ่งเดียวกับโลก แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาออกมาสัมผัสโลก นั่นต่างหากคือคำถามสำหรับผู้ใหญ่ในวันนี้

รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่

“เมื่อกี้ผมเดินไปก็เห็นเด็กสองคนเอา Ipad มาเล่นกัน เดี๋ยวนี้เด็กจะเล่นกันเยอะเลยไม่ค่อยได้สัมผัสกับธรรมชาติ อยู่ที่ไหนก็จะก้มหน้าเขี่ยอย่างเดียว “ อาจารย์สมบัติ ตาปัญญา นักจิตวิทยาเด็ก ศูนย์ฝึกไอคิโดเรนชินกัน เปิดประเด็น ก่อนจะอธิบายถึงพัฒนาการของเด็กที่มีผู้ใหญ่เป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญ

“การที่เด็กจะสมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรัก ความเอาใจใส่ ความอบอุ่น การสั่งสอน การให้แนวทางของพ่อแม่ พ่อแม่บางคนให้ความอบอุ่น ให้ความรักก็จริงแต่ไม่มีขอบเขต คือเด็กบางคนจะไม่รู้ขอบเขต ไม่เกรงใจใคร ไม่สนใจใคร แต่พ่อแม่บางคนก็จะตรงกันข้าม คือเน้นเรื่องการเชื่อฟังมากเกินไป จะบังคับ จะควบคุม”

ในฐานะนักจิตวิทยาที่พยายามถ่ายทอดแนวคิดเรื่องวินัยเชิงบวก อ.สมบัติมักได้รับเชิญให้ไปอบรมในโรงเรียนและชุมชนต่างๆ เพื่อให้ความรู้กับพ่อแม่และคุณครู

“พ่อแม่และครูหลายคนคิดว่าลูกจะต้องเป็นเด็กดี จะต้องเชื่อฟัง จะต้องทำตามคำสั่ง พ่อแม่ก็จะใช้ทั้งการควบคุม บังคับและการลงโทษ ผลก็คือเด็กบางคนไม่อยากสุงสิง ไม่ยุ่งกับใคร ไปอยู่ที่ไหนก็นั่งคนเดียว พูดไม่เป็น เข้ากับคนอื่นไม่เป็น สร้างความสัมพันธ์ไม่เป็น พอโตมาเขาก็จะมีปัญหา ซึ่งการที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะการดูแลของพ่อแม่ไม่ค่อยสมดุล เราจะพบว่ามีการใช้ความรุนแรงกับเด็กและเป็นข่าวขึ้นมา แต่ที่ไม่เป็นข่าวเยอะมาก ภาษาจิตวิทยาเรียกว่าการละเลยทอดทิ้ง ละเลยทอดทิ้งไม่ได้หมายถึงไม่ให้กินข้าว หมายถึงการละเลยทอดทิ้งทางจิตใจ ครูไม่เอาใจใส่ ไม่ให้ความรักความอบอุ่น หมกมุ่นแต่กับงาน”

ดังนั้นเวลาเห็นเด็กจดจ่ออยู่กับโลกเสมือนในมือ อย่าโทษเขาเพียงอย่างเดียว เพราะบางทีผู้ใหญ่เองนั่นแหละที่เป็นคนผลักไสให้เขาติดกับดักของโลกออนไลน์ ซึ่งวิธีแก้พ่อแม่และครูต้องเข้าใจว่า การเล่นคือธรรมชาติของเด็ก และสนับสนุนให้เขาเล่นกับธรรมชาติ

“เราจะเห็นว่าเด็กเขาอยากสำรวจ อยากทดลอง อยากรู้อยากเห็น มีจินตนาการสูง อย่างเวลาเขาเล่นขี้โคลนเขาก็จะคิดจินตนาการของเขาไป อีกส่วนก็เรียกว่าเป็นบทบาทสมมติ อย่างเล่นขายข้าวแกง เป็นการเตรียมตัวว่าอีกหน่อยเวลาที่เป็นผู้ใหญ่เขาจะทำได้ดี แล้วถ้าเขาได้เล่นด้วยกันก็เป็นการฝึกเรื่องความสัมพันธ์ รู้จักการแบ่งปัน รู้จักรอให้ถึงตาตัวเอง หรือว่าถ้ามีความขัดแย้งกัน แย่งกัน ก็จะหาวิธีที่จะตกลงกันโดยไม่ทำร้ายกัน เป็นการเรียนรู้

เวลาที่เคลื่อนไหวก็เป็นพัฒนาการทางร่างกาย ประสาทสัมผัส แต่ในขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการทางสังคม เวลาเล่นเขาจะรู้ว่าแค่ไหนพอดี แค่ไหนจะเจ็บมากเกินไป เพื่อนไม่พอใจแล้วนะ นี่เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่จะสอนเขา อีกหน่อยเขาจะอยู่กับคนอื่นได้ดี”

นักจิตวิทยาท่านนี้บอกว่าการที่เด็กได้อยู่กับธรรมชาติ ถือเป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส ตรงกันข้ามกับเด็กที่นั่งอยู่แต่หน้าจอทีวี จอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา เขาจะได้เห็นและได้ยินเสียง แต่ไม่มีการสัมผัส ไม่ได้กลิ่น ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น... “มันแห้งแล้งมาก ไม่มีชีวิต”

 เล่นเลอะให้รักโลก

 “ไม่เล่นนะคะมันสกปรก” เสียงดุลูกแบบนี้ควรหมดไปเสียที พร้อมกับทัศนคติที่ว่า ดิน หิน ทราย ต้นไม้ คืออันตรายสำหรับเด็ก

บุณฑริก สุขาบูรณ์ คุณครูจากศูนย์การเรียนฮอมขวัญ (Waldorf Initiative) จ.เชียงใหม่ บอกว่าการเล่นในเด็กเล็กเป็นวิธีการเดียวที่เขาใช้เรียนรู้โลก เป็นวิธีการที่เด็กทำความรู้จักโลกใบนี้และรู้จักตัวเอง

“การเล่นในมุมมองของผู้ที่เข้าใจ คือการที่เด็กจะได้สัมผัสรู้จักกับโลกทั้งหมด รู้จักสัมผัสกับโลกทั้งหมดเขาต้องรู้จักตัวเองด้วย และเท่าที่เราดูแลเด็กๆ และลูกๆ ของเรานะคะ เราก็จะแนะนำให้เขาเล่นกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติจริงๆ เพราะว่านั่นคือโลกที่แท้จริงที่เขาควรจะได้รู้จัก ทราย หิน น้ำ ท่อนไม้ ต้นไม้ใบหญ้าทุกสิ่งทุกอย่าง”

คลุกดินคลุกทราย เลอะเทอะเปรอะเปื้อนจึงไม่ควรเป็นปัญหาใหญ่กว่าการที่เด็กจะไม่รู้จักอะไรรอบๆ ตัวเลย เพราะนั่นไม่เพียงทำให้พัฒนาการตามวัยของเขาสะดุดลง ยังส่งผลต่อโลกใบนี้อย่างน่าเป็นห่วง

“ถ้าเราปล่อยเขาตามธรรมชาติ เขาสนใจอยู่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าเขาอยากรู้จักโลกใบนี้ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะต้องปลูกฝังเรื่องรักโลก เพราะว่าเขาไม่ได้มองว่าตัวเองกับโลกต่างจากกัน

การที่เด็กเล่นกับของธรรมชาติพวกนี้ มันส่งเสริมหลายๆ อย่าง สัมผัสที่เขาได้จับต้อง ดินเปียก ดินแห้ง ทุกอย่างเป็นความหลากหลาย เป็นเรื่องที่ช่วยให้เขาเรียนรู้เมื่อโตขึ้น ยกตัวอย่าง หิน ก้อนเล็กมันก็เบา ก้อนใหญ่มันก็หนัก พอเขาได้สัมผัสเขาก็ได้เรียนรู้ เรื่องนี้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์นะ แต่ถ้าเกิดว่าเขาไปเล่นของเล่นพลาสติกอันใหญ่มากยกแล้วเบาโหวงเลย ความสัมพันธ์ตรงนี้มันถูกบิดเบือน เขาก็ไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา” ครูบุณฑริกให้ข้อคิด

น่าเสียดายที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลับทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครูเชื่อว่าของเล่นที่พัฒนาสติปัญญาต้องมีราคาแพง ต้องได้รับออกแบบมาอย่างดี โดยละเลยสภาพแวดล้อมใกล้ตัว และหัวใจสำคัญคือสภาพแวดล้อมใน “การเล่น”

“โลกทุกวันนี้มันขโมยสิ่งเหล่านั้นไปหมดเลย ดังนั้นโรงเรียนเหมือนจำเป็นต้องสร้างเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่มันเป็นธรรมชาติ เราลองมองย้อนตอนเราเป็นเด็กกัน ไม่เห็นจะต้องมานึกว่าจะเล่นอะไร ทำไม มีกล่องอันนึงหรือว่ามีใต้โต๊ะเราก็เป็นได้สารพัด”

ของเล่นในความหมายนี้จึงไม่จำเป็นต้องราคาแพง หรือสมบูรณ์แบบ อาจเป็นแค่ท่อนไม้ ใบไม้ ก้อนหิน หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เด็กสามารถใช้จินตนาการในการเล่นอย่างเต็มที่ ซึ่งจินตนาการเหล่านี้เองที่จะช่วยหล่อเลี้ยงเขาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

“ครูก็ต้องมีวิธีการว่าจะดูแลยังไง เช่น ถ้าวันไหนฝนตก บางทีเราก็ให้เขาใส่ชุดกันฝนแล้วเดินสำรวจรอบๆ โรงเรียน ซึ่งเขาจะสนใจไปหมดว่ารอบตัวเป็นยังไง หรือในห้องเรียนมีโต๊ะ ตู้ อะไรต่างๆ ที่เขาจะมาตีลังกาพลิกเป็นเรือบิน เป็นรถไฟ เป็นอะไรก็แล้วแต่เขา มีพวกผ้าต่างๆ ก็สามารถเอามาแต่งเป็นอะไรก็ได้ตลอดเวลา”

ในมุมมองของคุณครู นอกจากจะเห็นถึงความสำคัญของการเล่นแล้ว ต้องเข้าใจด้วยว่าการเล่นที่เหมาะสมคืออะไร

“การให้เขามาจิ้มๆ เลื่อนๆ มันไม่ใช่การเล่นในเชิงที่จะส่งเสริมเด็ก เพราะเขาจะไม่ได้รับรู้ความจริงอะไรเลย สิ่งที่เขาได้รู้ก็คือ ถ้าเขาอยากได้อะไร แค่จิ้มมันก็มา แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างต้องรอคอย”

แปลงโลกเป็นของเล่น

เหมือนจะแค่ย้อนกลับไปเล่นอะไรง่ายๆ สมัยคุณย่ายังสาว แต่ในความเป็นจริงของสังคมเมือง ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่หาพื้นดินพื้นทรายต้นไม้ใบหญ้าให้เด็กได้เล่นสนุก

การสร้างสนามเด็กเล่นแนวคิดธรรมชาติจึงเป็นโจทย์ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันออกแบบและผลักดันให้เกิดขึ้นในทุกชุมชน

“มันเหมือนเป็นเหรียญ 2 ด้านนะครับ เพราะที่ผ่านมากับสนามเด็กเล่นแบบที่เราคุ้นตากัน ผู้ใหญ่เองก็คิดว่าสิ่งที่ตัวเองให้มันใช่แล้ว อะไรที่มันสำเร็จรูปมันง่าย มันมีมูลค่าเพิ่มได้เยอะ แต่อีกด้านเราก็มองว่าสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดมันไม่เห็นต้องยุ่งยากมากเลย แต่ว่าประโยชน์มันสูงสุดกว่า ผมกำลังพยายามประติดประต่อว่า คนยุคปัจจุบันเริ่มมีคำพูดคำนึงคือ คนเบื่อเมือง ผมว่าก็จริงเหมือนกันนะ พอไปถึงจุดสูงสุดมันต้องคืนสู่สามัญ สิ่งที่เรียบง่ายที่สุด ชีวิตไม่ต้องยุ่งยากแต่ก็สร้างให้มันเกิดประโยชน์ได้” อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย หมอต้นไม้และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.แม่โจ้ ให้ความเห็น

“ถ้าเราอยากขยายตรงนี้ อาจจะต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น สร้างตัวอย่างขึ้นมาเพื่อสื่อสารให้กับคนที่ต้องการจะเอาไปขยายผล ให้เขามองเห็นแล้วบอกว่ามันไม่ได้ยาก เพียงแต่เปลี่ยนมุมมองในการมองของเล่นไม่ให้เป็นแค่ของแล้ว เป็นการเล่นมากกว่า เป็นการเรียนรู้มากกว่า เป็นการฝึกฝนความเข้าใจที่จะเอาสิ่งรอบข้างมาเป็นครูด้วย”

ในพื้นที่ขนาดกะทัดรัดของศูนย์ฝึกไอคิโดเรนชินกัน จ.เชียงใหม่ สนามเด็กเล่นเรียบง่ายที่มีเพียงเนินทรายและต้นไม้ใบหญ้า จึงถูกใช้เป็นโมเดลจำลองของการเล่นกับธรรมชาติภายใต้แนวคิด “สนุกคลุกสวน” โดยการร่วมแรงร่วมใจของผู้ใหญ่ใจดี อาทิ เขียว สวย หอม, ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา, กลุ่มหมอต้นไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เห็นว่าความสุขและการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณก้อนโตหรือสนามเด็กเล่นที่เต็มไปด้วยเครื่องเล่นที่เป็นเหล็กและพลาสติก

“อย่างสนามเด็กเล่นตรงนี้ ค่อนข้างตรงกับที่เราอยากจะให้ทำ คือมีทั้งการปีนป่าย การวิ่ง การมุดลอด การพยายามเดินทรงตัว ทุกอย่าง เพราะเราเชื่อว่าเด็กอนุบาล 0-7 ปี เขาต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม แล้วเขาต้องล้มนะ เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้เรื่องทักษะ เมื่อเขาล้มจนกระทั่งรู้ว่าทำยังไงถึงจะไม่ล้ม เมื่อนั้นความไว้วางใจที่เขามีกับโลกกับตัวเองจะมีมากขึ้น เขาจะไม่รู้สึกหวาดกลัว แล้วอยากจะสัมผัสโลกเพิ่มเติม” ครูบุณฑริก บอก

ขณะที่ในมุมมองของสถาปนิก อ.บรรจง เพิ่มเติมว่าสวนสำหรับเด็กไม่ควรให้ผู้ใหญ่เข้าไปชี้นำ ต้องปล่อยให้เด็กเล่นเองตัดสินใจเอง ผู้ใหญ่ควรเป็นแค่ผู้ดูแลเรื่องความปลอดภัย

“บางทีเราไปกำหนดการเล่นของเด็กมากไป อันนี้ค่อนข้างสำคัญ เดี๋ยวนี้อะไรที่มันสำเร็จรูป มันเข้ามาเร็วมาก ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า โรงเรียน ท้องถิ่น หรือชุมชน หรือเทศบาลก็แล้วแต่มีงบประมาณมาปุ๊บ มักจะมีรูปแบบลอยมานะเป็นแคตตาล็อกเลย”

แต่ในฐานะนักออกแบบสิ่งที่อยากเห็นก็คือ สวนที่ใช้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการเล่น ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง สามารถซ่อมเองได้ เปลี่ยนแปลงไปตามจินตนาการได้

“เหมือนกับเอาโจทย์ของธรรมชาติมาดัดแปลง สื่อสารไปที่เด็กให้ได้ สมมติผมอยากทำให้อุโมงค์นี้มันมีเสียง โดยที่เด็กอยู่สองฟากไม่เห็นหน้ากัน จะทำยังไงให้เขาได้ยินเสียงกัน คุยกันผ่านอุโมงค์นี้เหมือนตอนเด็กเราใช้กระป๋องนมกับเชือก มันก็กลายเป็นโทรศัพท์ ซึ่งพอมาทำเป็นสวนเป็นสนาม มันก็จะมีโจทย์ให้เราแกะมากขึ้น ออกแบบมากขึ้น”

หลักการและเหตุผลครบถ้วน ไอเดียการออกแบบพร้อม จะเหลือก็แต่เพียงชักชวนผู้ใหญ่ใจกว้างมาช่วยกันสร้างสนามธรรมชาติให้เด็กเล่นครอบคลุมทุกมุมเมือง

เพราะความหวังที่จะเห็นเด็กไทยได้เรียนรู้และรักโลก...ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 

..........................................................

(ภาพแรกจาก http://cdn.skim.gs/image/upload/v1456337832/msi/nature-kids_umobrm.jpg)