'แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์' ศึกชิงแชมป์แห่งกาฬทวีป

'แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์' ศึกชิงแชมป์แห่งกาฬทวีป

ได้ฤกษ์เปิดฉากแล้ว สำหรับฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติแอฟริกา หรือ แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2017

 ซึ่งจะมีขึ้นที่ กาบอง ระหว่าง 14 ม.ค.-6 ก.พ.

รายการนี้ นับเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ ซึ่งจัดกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1957 โดยในครั้งนี้ เป็นการครบรอบปีที่ 60 ของการแข่งขันพอดี

จากรายการเล็กๆที่ ซูดาน ซึ่งมีทีมเข้าร่วมแข่งขันในครั้งแรกเพียง 3 ชาติ แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ ค่อยๆเติบโตจนกลายเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกาฬทวีป จนเพิ่มขึ้นเป็น 16 ทีมในรอบสุดท้าย ตั้งแต่ปี 1998 เรื่อยมา

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ เป็นหนึ่งในรายการที่น่าจับตามอง คือพัฒนาการของผู้เล่นของทวีป ซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปสู่สโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปในปัจจุบัน

แอฟริกัน เอฟเฟกต์

แม้จะเป็นทัวร์นาเมนท์สำหรับชาวแอฟริกา แต่สโมสรในยุโรป ทั้ง อังกฤษ, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส, สเปน และตุรกี ล้วนแต่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากรายการนี้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะผู้เล่นถึง 232 จากทั้งหมด 368 คนใน แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ หนนี้ ล้วนแล้วแต่ค้าแข้งอยู่ในยุโรป รวมแล้วถึง 28 ประเทศ ส่วนที่เหลือนั้น หากไม่ได้เล่นให้กับสโมสรในทวีปแอฟริกา ก็กระจัดกระจายกันไปใน แคนาดา, จีน, ตะวันออกกลาง และ สหรัฐ หรือกระทั่งเวียดนาม

ในจำนวนนี้ เป็นนักเตะที่เล่นในอังกฤษ และฝรั่งเศสมากถึง 89 คนเลยทีเดียว อาทิ ริยาด มาห์เรซ เจ้าของรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมทวีปแอฟริกาคนล่าสุดของ เลสเตอร์ ซิตี, เอริค ไบยี ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ ซาดิโอ มาเน ของ ลิเวอร์พูล ขณะที่ อองเชร์ และ ลีลล์ ใน ลีกเอิง ฝรั่งเศส ต้องเสียผู้เล่นตัวหลักไปพร้อมกันถึงสี่และห้าคน ระหว่าง 3 สัปดาห์ที่รายการนี้ทำการแข่งขันกัน 

ความชุลมุนของเจ้าภาพ

ด้วยความที่ทวีปแอฟริกา ยังเต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่ยุ่งเหยิง หลายครั้งที่กว่าจะหาข้อสรุปสำหรับชาติที่เป็นเจ้าภาพจัด แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ ได้ จึงเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง

หนนี้ก็เช่นกัน กาบอง ชาติเจ้าภาพในครั้งนี้ไม่ได้ยื่นเสนอขอเป็นเจ้าภาพต่อทาง ซีเอเอฟ ตั้งแต่แรก โดยเป็น แอฟริกาใต้ ที่ได้รับมอบหมาย แต่ภายหลังเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในลิเบีย ช่วงปี 2011 ทำให้ ลิเบีย ซึ่งจะต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปี 2013 ขอสลับสิทธิ์กับทาง แอฟริกาใต้

จากนั้น ในปี 2014 ลิเบีย ก็จำต้องคืนสิทธิ์ให้กับ ซีเอเอฟ ด้วยความไม่พร้อม ส่งผลให้ต้องมีการยื่นบิดเป็นรอบสองจาก 7 ชาติ และสุดท้ายเป็น กาบอง ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพร่วมกับ อิเควทอเรียลกินี ในปี 2012 ได้รับสิทธิ์นี้แทน

ตัวเต็ง

51 ชาติในทวีปแอฟริกา ตอบรับเข้าร่วมแข่งขันในรอบคัดเลือกรายการนี้ ก่อนจะคัดเหลือเพียง 15 ชาติที่ดีที่สุด มาร่วมแข่งขันกับ กาบอง เจ้าภาพ โดยในครั้งนี้ มีถึง 8 ชาติที่เคยได้แชมป์รายการนี้มาครอง นำโดย ไอวอรี่โคสต์ แชมป์เก่า, โมร็อกโก, แอลจีเรีย, แคเมอรูน, กานา, ตูนิเซีย, ดีอาร์คองโก รวมถึงการกลับมาของ อียิปต์ ชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรายการนี้ (7 สมัย) หลังห่างหายไปนานกว่า 6 ปีด้วย ขาดไปเพียง ไนจีเรีย แชมป์ 3 สมัยเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังถือเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ กินี-บิสเซา ชาติเล็กๆซึ่งมีประชากรเพียง 1.7 ล้านคน ผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายรายการนี้อีกด้วย

ทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์ในครั้งนี้ ตามที่บริษัทรับพนันถูกกฎหมาย และสื่อต่างประเทศคาดการณ์ เต็ง 1 ตกเป็นของ ไอวอรี โคสต์ แชมป์ 2 สมัย ที่แม้จะขาด ยาย่า ตูเร่ ห้องเครื่องจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่ประกาศอำลาทีมชาติเป็นที่เรียบร้อย แต่กำลังหลักคนอื่นๆ ยังอยู่กันพร้อมหน้า ด้วยการผสมผสานผู้เล่นสายเลือดเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน อาทิ ซาโลมง กาลู จากแฮร์ธา เบอร์ลิน กับ วิลฟรีด ซาฮา ปีกจาก คริสตัล พาเลซ รวมถึง เอริก ไบยี กองหลังจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ที่น่าสนใจคือ เต็ง 2 เซเนกัล เพราะแม้จะได้รับการยกย่องให้เป็นชาติชั้นนำด้านลูกหนังของทวีป แต่กลับยังไม่เคยคว้าแชมป์ แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ ได้เลย โดยผลงานที่ดีที่สุดคือการเป็นรองแชมป์ในปี 2002 แต่ในปีนี้ พวกเขามีการเตรียมทีมมาเป็นอย่างดี ภายใต้การนำของ อาลิยู ซิสเซ อดีตนักเตะทีมชาติ ซึ่งเคยคุมทีมชุดยู-23 มาก่อน

นักเตะตัวหลักของทีมชุดนี้ ได้แก่ ซาดิโอ มาเน แนวรุก ลิเวอร์พูล, มุสซา โซ หัวหอกจาก เฟเนร์บาห์เช, อิดริสซา เกย์ กองกลาง เอฟเวอร์ตัน และ คาลิดู คูลิบารี ปราการหลังจากนาโปลี

เต็ง 3 เป็นของ แอลจีเรีย แชมป์เก่าเมื่อปี 1990 ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นม้ามืดที่แซงบรรดาทีมชั้นนำขึ้นมาคว้าแชมป์ หลังได้ จอร์จ ลีเกนส์ โค้ชชาวเบลเยียม ซึ่งเคยคุมทีมในปี 2003 กลับมาทำหน้าที่นี้อีกครั้ง

ส่วนผู้เล่นหลักๆ ก็ล้วนแต่เป็นที่รู้จักกันดี นำโดย ริยาด มาห์เรซ เจ้าของรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมทวีปแอฟริกาคนล่าสุด กับ อิสลาม สลิมานี เพื่อนร่วมทีมเลสเตอร์ ซิตี ขณะที่สมาชิกคนอื่นๆกว่าค่อนทีม ก็ล้วนแต่ค้าแข้งอยู่ในยุโรปแทบทั้งสิ้น

กรุ๊ปออฟเดธ

รูปแบบการแข่งขันของ แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ รอบสุดท้าย จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม โดยแชมป์กลุ่ม และรองแชมป์จะได้เข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเพื่อหาผู้ชนะต่อไป

ส่วนกลุ่มที่ถือว่าเป็น กรุ๊ปออฟเดธ ในปีนี้ คงหนีไม่พ้น กลุ่ม ดี ที่ประกอบไปด้วย อียิปต์ แชมป์ 7 สมัย ภายใต้การคุมทีมของ เอคตอร์ คูเปร์ เฮดโค้ชชาวอาร์เจนตินา ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในยุโรป และมีตัวทีเด็ดอย่าง โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ของ โรมา โดย อียิปต์ ต้องอยู่ร่วมสายกับ กานา แชมป์ 4 สมัย ที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูทีมกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ภายใต้การคุมทีมของ อัฟราม แกรนท์ อดีตผู้จัดการทีม เชลซี และผู้เล่นประสบการณ์สูง อย่าง อซาโมอาห์ กียาน รวมถึง 2 พี่น้อง อังเดร และ จอร์แดน อายิว

ขณะที่ มาลี ที่ได้ อแลง ชิแรส ซึ่งเคยนำทีมคว้าอันดับ 3 เมื่อปี 2012 กลับมารับหน้าที่อีกครั้ง ก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน ด้วยเกมรุกอันดุดัน นำโดย อดามา ตราโอเร่ ผู้เล่นของโมนาโก

ขณะที่ อูกันดา แม้พิจารณาจากชื่อชั้นแล้ว จะเป็นรองอีก 3 ทีมที่เหลือ แต่ในความเป็นจริง ลูกทีมของ มิลูติน ซเรโดเยวิช ยังมีลุ้นผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่รัสเซีย ด้วยเกมรับอันเหนียวแน่น และทีเด็ดจาก เดนนิส ออนยานโก ซึ่งเพิ่งนำ มาเมโลดี ซันดาวน์ส ต้นสังกัด คว้าแชมป์ แอฟริกัน แชมเปียนส์ลีก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ช่วยยืนยันความน่าสนใจของศึกชิงแชมป์กาฬทวีปหนนี้ ว่าจะเต็มไปด้วยความดุเดือดไม่แพ้ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลใหญ่ๆรายการอื่นแน่นอน