วัยเด็กที่หายไป กับแว่นสายตาที่ชำรุด

วัยเด็กที่หายไป กับแว่นสายตาที่ชำรุด

หมออ้อม แพทย์ธรรมชาติบำบัด เล่าพฤติกรรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ทำให้ลูกเติบโตเป็นคนที่ขี้หวาดระแวง เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ก้าวร้าวและมองโลกแง่ร้าย

จากการทำงานเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกและพัฒนาการของเด็กๆ หมอพบว่า ประสบการณ์ในช่วงชีวิตที่เป็นเด็กจะกำหนดมุมมองของชีวิตเด็กคนนั้นไปจนตลอดชีวิต เปรียบเสมือนลูกเป็ดที่เพิ่งออกจากไข่ เห็นอะไรเคลื่อนไหวได้ มันก็จะจำว่าเป็นแม่ของมันโดยทันที ยากที่จะเปลี่ยนแปลงกลับกลายในภายหลัง คนเราก็เช่นกัน เรามีช่วงเปลี่ยนของชีวิตที่สำคัญในวัยเด็กอยู่ 3 ช่วง
๐ ช่วงแรกเป็นการตื่นรู้ของวัยประมาณ 3 ขวบต่อการมีตัวตนของ “ฉัน” กล่าวคือครั้งแรกที่เราจำได้ เช่น จำได้ว่าแม่กำลังกล่อม ความทรงจำเช่นนั้นจะเป็นเสมือนแว่นสายตาอันหนึ่งที่ถูกใส่ให้เราในการนิยามว่า “โลกนี้ดีอย่างไร” ไม่ขึ้นว่าจะเป็นเหตุการณ์ดีหรือร้าย จิตใต้สำนึกของเราจะตีความว่า “ความดี” เป็นเช่นนั้น ถ้าเหตุการณ์ที่จำได้คือ ความสนุกกับการเล่นกับพ่อ เราจะรู้สึกว่า โลกใบนี้น่าค้นหา แต่ถ้าเราตื่นตัวขึ้นจากความทรงจำที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งไว้กับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็น พี่เลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก เราจะมีแว่นสายตาฉาบสีของความหวาดระแวงต่อโลกค่อนข้างมากไปตลอดชีวิต

๐ อีกครั้งหนึ่งที่เรามักจะเริ่มมีความประสบการณ์ต่ออารมณ์ของตนเองอย่างลึกซึ้งก็คือประมาณ 9 ขวบ วัยนี้เป็นวัยที่เด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกเหงาอย่างบอกไม่ถูก โลกที่เคยสวยงามแบบภาพฝันได้หายไปเสียแล้ว ดังนั้น เด็กวัยนี้จะพยายามเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่มากเป็นพิเศษ เพื่อจะยืนยันกับตัวเองให้ได้ว่า “ฉันยังเป็นคนที่ถูกรักเหมือนเดิม” แม้จะเป็นวัยที่ดื้อดึงและยียวนมาก (ด้วยความอยากเป็นที่สนใจ) หากพ่อแม่อดทน และทำให้มั่นใจได้ว่า มีคนที่รักและห่วงใย เขาจะสร้างมุมมองหรือแว่นตาสายตาอีกอันหนึ่งของการมองโลกในแง่งามขึ้นมาได้ เพราะแม้ว่าโลกใบนี้จะไม่งดงามเหมือนเดิม แต่สัมพันธภาพที่งดงามระหว่างพ่อแม่ลูกจะยังคงสัมผัสได้อยู่เสมอ ข่าวร้ายก็คือ พ่อแม่ส่วนหนึ่งล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวให้กับเด็กวัยนี้ ทำให้เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้นมา ไม่เคยเชื่อในความงดงามของสัมพันธภาพที่มีกับผู้ใด

๐ โค้งสุดท้ายก่อนกลายเป็นผู้ใหญ่ ในเด็กหญิงคือราว 15 ปี ส่วนเด็กผู้ชายอาจช้าเนิ่นออกไปหน่อยคือราว 16 ปี เด็กจะเริ่มมีการตั้งคำถามต่อโลกมากขึ้น เพราะอะไรคือตัวตนของเขา สัจจะความจริงต่างๆ ของโลกจะถูกท้าทายอย่างมากในวัยนี้ หากเขาค้นพบความภาคภูมิใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาจะใส่แว่นสายตาอันที่สาม ที่จะเป็นวิธีการมอง “ความจริง” ที่มีต่อโลกใบนี้ในแบบของเขา ความภูมิใจในการเป็นคนที่ทำอะไรได้สักอย่างจริงๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่ได้เอื้อให้เด็กสามารถผ่านพ้นหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าวได้ เราพากันเร่งเขาให้โตเร็วที่สุดด้วยการแข่งขัน การสอบวัดผลและตรรกะแบบผู้ใหญ่มากเกินไป แม้แต่การแข่งขันร้องเพลงวันเด็ก ผู้ใหญ่ก็ทุ่มเทแต่งหน้าทาปากให้ลูกหลานร้องเต้นด้วยจริตจะก้านของผู้ใหญ่ ซ้อมหนักซะจนเด็กร้องไห้
โดยไม่ได้รู้ว่า เราได้สร้างชุดความคิด (Mindset) ที่ว่า “ความดี” ของโลกคือต้องแข่งให้ได้รางวัลที่หนึ่ง “ความงาม” ของโลกก็คือการแต่งหน้าทาปากสร้างภาพให้ดูสดสวย “ความจริง” ของโลกก็คือการถูกกรรมการที่ไม่รู้จักให้ผ่าน จึงจะได้รับการยอมรับ รางวัลวัยเด็กที่ได้มานั้น เทียบไม่ได้กับการเสียแว่นสายตาสามอันที่เด็กคนนั้นได้ติดตัวไป เราจึงพบว่าเด็กเหล่านี้เมื่อโตมา “ความดี” จึงพังทลายหมดสิ้นเมื่อเขาสอบไม่ได้ที่หนึ่ง “ความงาม” ก็สูญสลายเมื่อเพื่อนล้อว่าอ้วนเกินไป ส่วนโลกก็ไม่น่าอยู่เสียแล้วเมื่อไม่สามารถสอบเข้าคณะที่ต้องการ ถ้าโลกใบนี้ไม่ดี ไม่งามและน่าอยู่อีกต่อไป เราจึงพบเด็กก้าวร้าวหรือฆ่าตัวตายด้วยเรื่องเหล่านี้มากขึ้นทุกทีๆ นั่นเพราะพวกเขาได้ถูกช่วงชิงความสุขของวัยเด็ก ไปปรนเปรอความภูมิใจของพ่อแม่จนหมดสิ้น และในมุมมองของการบำบัดเยียวยา แว่นตาทั้งสามอันที่ชำรุดนี้ก็ยากเหลือเกินที่จะถอดออกได้

ในปีนี้ หมออ้อมจึงอยากเห็นเด็กๆ ที่ได้ยิ้มและหัวเราะอย่างเต็มที่กับประสบการณ์ที่พ่อแม่มอบให้โดยไม่คาดหวัง โลกนี้มันน่ากลัวกว่าสมัยพวกเราเป็นเด็กมากพอแล้ว
หากจะขอให้เด็กๆ ได้ตักตวงความสุขในวัยเด็กของเขาอีกสักนิด เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้เผชิญความทุกข์ในวันข้างหน้าก็คงจะดีไม่น้อย
*บทความเผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ(กายใจ) ฉบับวันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2560 โดย "หมออ้อม" พญ.กอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป แพทย์ธรรมชาติบำบัด American board nutrition wellness (ANW) ติดต่อ facebook.com/Dr.Aom Family Mentor