มิตรภาพนักปั่น มหัศจรรย์ เขาใหญ่

มิตรภาพนักปั่น มหัศจรรย์ เขาใหญ่

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการเสด็จออกมหาสมาคมงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2521

 เรื่องการรักษาทรัพยากรความตอนหนึ่งว่า

“ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่งสวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดี ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราดัวย”

ป่าไม้จึงเปรียบเสมือนลมหายใจของทุกชีวิตบนโลกนี้ ที่คนมักจะหลงลืม แล้วคิดติดกรอบว่าทุกอย่างบนโลกนี้เป็นของเรา ทุกพื้นที่มนุษย์รุกล้ำได้หมด

การเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชาติ พัฒนาป่าไม้ อนุรักษ์ป่าใหญ่ และหลายชีวิตบนแผ่นดินของพ่อ ของ หมอล็อต - ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่าผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์ป่า เพราะได้เห็นตัวอย่างความมุ่งมั่นการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายไปยังถิ่นทุรกันดารทั่วแคว้นแดนไทย เพื่อคลายทุกข์เข็ญให้แก่ประชาราษฎร์ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ไม่เพียงแค่เพื่อความเป็นอยู่สุขสบายของคนไทย แต่ยังทรงเผื่อแผ่พระเมตตาไปยังสรรพสัตว์ที่อยู่ใต้ฟ้าแผ่นดินนี้ ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ในร่มเงาของพระบรมโพธิสมภารอีกด้วย

เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มมิตรภาพนักปั่น Bike Finder ได้จัดกิจกรรมปั่นจักรยานไปทำโป่งภายใต้ชื่อ Bike Finder Safe เขาใหญ่ ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 6 ที่ได้พากลุ่มจักรยานผู้หลงใหลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มาร่วมกันทำโป่งอาหารให้สัตว์ป่า พร้อมกับร่วมปรับปรุงพืชอาหารสัตว์ และร่วมกันรณรงค์ปลุกจิตสำนึกการท่องเที่ยวให้แก่เขาใหญ่ ด้วยมาตรการ 4 ม. + 1

ม. ที่ 1 คือไม่ทิ้งขยะให้เป็นภาระกับเขาใหญ่ให้นำกลับบ้าน ม. ที่ 2 คือไม่ให้อาหารสัตว์ ม. ที่ 3 คือไม่ขับรถเร็ว ม. ที่ 4 คือไม่ส่งเสียงดัง ม. ที่ 5 คือไม่นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยในอุทยานฯ ซึ่งรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

กิจกรรมนี้เป็นการร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และกลุ่มอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็น ชมรมคนรักษ์สัตว์-ป่า, กลุ่มรักษ์เขาใหญ่, กลุ่มใบไม้, กลุ่มเยาวชนต้นกล้านครนายก โดยได้รับเกียรติจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครรชิต ศรีนพวรรณ มาร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ มีมิตรภาพนักปั่น นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทุกภาคส่วน ตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรมกันพร้อมเพรียง

ก่อนที่จะเข้าไปลุยสร้างโป่งในพื้นที่จริง หมอล็อตได้กล่าวถึงการรักษาป่า รักษาต้นน้ำ ยึดตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และเรื่องน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่างสูงสุดเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้ รวมถึงสัตว์ป่า ก็ต้องพึ่งป่าเช่นกัน

หลังจากอบรมและเรียนรู้กิจกรรมรวมถึงวัตถุประสงค์ของการปั่นจักรยานทำโป่งสัตว์ รวมถึงการถางต้นสาบเสือแล้ว ก็ปล่อยให้ทุกคนได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ ในช่วงนี้ถือว่าอากาศกำลังเย็นสบายในช่วงกลางวัน อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 23-27 องศา ส่วนช่วงค่ำอุณหภูมิจะอยู่ประมาณ 15-17 องศา ถือว่าอากาศกำลังหนาว ต้องใส่เสื้อกันหนาว เสื้อกันลมไว้ด้วย

การเข้ามาทำกิจกรรมโป่งสัตว์ป่า สำหรับในปีนี้ทางเจ้าหน้าที่เลือกเส้นทางเป็นการเดินป่า ปั่นจักรยาน เส้นทางเดียวกับ หอส่องสัตว์หนองผักชี วิธีการเดินทางคือปั่นจักรยานจากศูนย์อำนวยการนักท่องเที่ยว ผ่านเนินซึมเล็กๆ 2 ถึง 3 เนิน จนจุดจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินสำรวจป่า หลังจากที่เราปั่นเข้าไปถึงหอส่องสัตว์หนองผักชีแล้ว ก็จอดจักยานไว้เพื่อเดินป่าด้วยระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร พร้อมแบกอุปกรณ์ จอบ เสียม ก้อนเกลือแร่ เพื่อนำไปทำโป่งให้แก่สัตว์ป่า หมอล็อตให้คำแนะนำอีกครั้งก่อนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อสร้างอาหารเสริมจานโปรดให้สัตว์ป่าในเขาใหญ่ งานนี้ พี่ช้าง กวาง เก้ง และสารพัดสัตว์คงอิ่มกันไปเป็นเดือนกันเลยทีเดียว เมื่อเสร็จภารกิจทำโป่งแล้ว หมอล็อต ยังแบ่งทีมไปช่วยกันกำจัดต้นสาบเสือกันแบบถอนรากถอนโคน

แล้วทำไมต้องกำจัดสาบเสือ... สาบเสือมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกากลาง ปัจจุบันแพร่กระจายไปทั่วโลก ต้นสาบเสือเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และเจริญเติบโตเร็ว จึงแย่งพื้นที่พืชพันธุ์พื้นเมืองจนทำให้ดอกหญ้าพันธุ์พื้นเมืองหลายชนิดสูญหายไปจากพื้นที่นั่นเอง

ต้นสาบเสือ ในฐานะพืชเบิกนำ (Pioneer species) ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าสาบเสือคือพืชต่างถิ่นรุกราน (Alien invasive species) ที่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศธรรมชาติได้ และเป็น 1 ใน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมอย่างร้ายแรงของโลก ตามคู่มือ Global Invasive Species Database (GISD) ที่จัดทำขึ้นโดย IUCN (International Union for Conservation of Nature) นั้นเป็นเพราะสาบเสือ (Siam weed) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chromoleana odoratum (L.)R.M. King & H. Rob.) นั้นแพร่กระจายมาอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1)

  ทั้งปั่นจักรยานใกล้ชิดผืนป่าเขาใหญ่ ทั้งทำโป่งให้สัตว์ป่า และกำจัดวัชพืชต่างถิ่น ทั้งหมดนี้น่าจะนำทางไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า เขาใหญ่ให้อะไรเรา แล้วเราให้อะไรเขาใหญ่บ้าง