กูเกิลร่วมวงปั้นสตาร์ทอัพ ชิงธงธุรกิจดิจิทัลมูลค่าล้านล้าน

กูเกิลร่วมวงปั้นสตาร์ทอัพ ชิงธงธุรกิจดิจิทัลมูลค่าล้านล้าน

กูเกิลร่วมวงปั้นสตาร์ทอัพ ชิงธงธุรกิจดิจิทัลมูลค่าล้านล้าน

ยุคที่สตาร์ทอัพเบ่งบาน เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมโลกธุรกิจและชีวิตประจำวัน โอกาสทำเงินเปิดกว้างให้ทุกรายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
ระยะหลังมานี้จึงได้เห็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพากันตบเท้าสนับสนุนเหล่าสตาร์ทอัพ ล่าสุด ยักษ์อินเทอร์เน็ตอย่าง กูเกิล ขอเข้ามาร่วมวง ยกระดับงานจากเดิมมุ่งส่งเสริมนักพัฒนา สู่เส้นทางสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรม


“เบน คิง” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า กูเกิลมีแผนสนับสนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยบริษัทพร้อมลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร จัดทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ สนับสนุนนักพัฒนา พร้อมผลักดันให้สร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต


นอกจากนี้ ด้วยแต่ละภูมิภาคมีความท้าทายที่แตกต่างกันไป ดังนั้นแนวทางการสนับสนุนจึงให้ความสำคัญกับความต้องการในแต่ละท้องถิ่นอย่างมากด้วย


อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโอกาสทางการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่มหาศาล จากผลวิจัยโดยกูเกิลและเทมาเส็ก อีก 10 ปีจากนี้ หรือราวปี 2568 ธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาคจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เฉพาะในไทย 37,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.33 ล้านล้านบาท

“เป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 6.5 เท่า โดยมีปัจจัย คือ อีคอมเมิร์ซ ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ และสื่อออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อน”

ข้อมูลระบุด้วยว่า 3 ปีข้างหน้าประชากรอินเทอร์เน็ตในไทยจะขยับเพิ่มไปแตะ 59 ล้านราย จากการสำรวจ ผู้บริโภคสัดส่วน 58% อายุต่ำกว่า 40 ปี ศักยภาพทางการเงินเพิ่มขึ้นสะท้อนจากจีดีพีต่อหัวที่แข็งแกร่ง ประเมินขณะนี้นับว่าไทยเป็นประเทศที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตเติบโตได้เร็วเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ เมื่อเทียบในระดับภูมิภาคไทยยังได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ด้วย

จัดบูทแคมป์หนุน
ล่าสุด กูเกิลจัดงานสัมมนา สตาร์ทอัพ บูทแคมป์ (Startup Bootcamp ) เพื่อแนะนำสตาร์ทอัพไทย 70 รายให้แก่ 10 บริษัทร่วมลงทุนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย


ครั้งนี้ ยังได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ แนวทางที่สำคัญเน้น 2 ธีมหลัก คือ ‘เติบโต (Grow)’ และ ‘สร้างและเก็บเกี่ยว (Build and Earn’ รวมไปถึงสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการ
เบนเล่าย้อนถึงที่มาของกูเกิลว่า เคยเป็นสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่เริ่มต้นธุรกิจจากโรงรถในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นบริษัทจึงมีความเชื่อมั่นต่อสตาร์ทอัพ

รุ่นใหม่เช่นกัน
“เราเชื่อว่าเหล่าสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมาใหม่ในไทยมีศักยภาพที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม เปิดตลาดไปสู่กลุ่มใหม่ๆ ขณะเดียวกันขับเคลื่อนการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ ด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์ โอกาสหลากหลายที่มี และพบความต้องการที่ซ่อนอยู่”

พร้อมเอ่ยถึงคำกล่าวของนายอิริค ชมิดท์ ประธาน กูเกิล อิงค์ ซึ่งกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ลักษณะของนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่และบริษัทที่ยิ่งใหญ่ คือ พวกเขาสามารถมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ไม่เพียงแค่รับฟังว่าผู้คนต้องการอะไร แต่มีศักยภาพที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่แม้แต่คุณก็ไม่ทราบมาก่อนว่าต้องการ ทว่าเมื่อได้เห็นสามารถบอกได้ทันทีว่า “ฉันต้องมีมัน”

เปิดกว้างทุกอุตฯ
“ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย” หัวหน้าฝ่ายการตลาดภาคธุรกิจประเทศไทย กูเกิล ประเทศไทย เสริมว่า โรดแมพการทำงานเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพของกูเกิล ระยะแรกนี้จะเร่งสร้างเครือข่ายกับกลุ่มนักลงทุน เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการกับนักลงทุนได้มาพบกัน ปัจจุบันเจรจาไปแล้ว 10 ราย

นอกจากนี้ ช่วยคัดกรองผลงานที่มีคุณภาพ และทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้แก่แต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนี้ จะมีทั้งเวิร์คช้อปและงานอีเวนท์เพื่อสนับสนุน ดูแลโดยทีมงานฝ่ายการตลาด ซึ่งเคยดูแลลูกค้าเอสเอ็มบีและสตาร์ทอัพมาก่อน

สำหรับสิ่งที่จะต่างไปจากเดิม จากนี้จะเชื่อมโยงทุกผลิตภัณฑ์ของกูเกิลเข้ามา มั่นใจความพร้อมว่ามีทั้งด้านเครื่องมือและโซลูชั่น ทั้งจะดึงทรัพยากรระดับภูมิภาคมาใช้โดยมีทีมงานที่เชี่ยวชาญซึ่งประจำอยู่สิงคโปร์ร่วมสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม บริษัทสนใจสตาร์ทอัพทุกระดับ รายที่เริ่มสร้างผลิตภัณฑ์ก็เข้ามาได้ ทั้งเปิดกว้างกับทุกๆ อุตสาหกรรมไม่มีจำกัด

อย่ากลัวที่จะเริ่มต้น
“ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อุ๊คบี และผู้จัดการกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กส์ เผยว่า ในมุมของนักลงทุนคาดหวังแค่ว่าจะมีสตาร์ทอัพ 2 รายจาก 10 รายที่สามารถไปต่อได้ ที่เหลือ 3 รายมักตายไป อีก 5 รายเป็นซอมบี้ คือ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต

ที่ผ่านมา 500 ตุ๊กตุ๊กส์ ชอบเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ลอกต่างประเทศมา หรือลอกมาจากบริษัทรายใหญ่ เป็นบริษัทที่ตอบโจทย์ความต้องการในท้องถิ่นได้ เป็นรายที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมนั้นๆ มักจะโฟกัสรายที่กำลังเริ่มต้น

ในแผนจะเข้าไปลงทุนใน 100 บริษัทอีก 18 เดือนข้างหน้า จากปัจจุบันเข้าไปลงทุนแล้วกว่า 30 รายมองว่า มผู้ประกอบการไทยเป็นของดีที่ราคาถูก

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ความสำเร็จของอุ๊คบีซึ่ง 3-4 ปีมานี้สามารถระดมทุนมาได้กว่า 1,000 ล้านบาท มีแนวคิดว่าการขับเคลื่อนธุรกิจสำคัญต้องมีความชัดเจนในพันธกิจที่วางไว้ อย่ากลัวที่จะเริ่มต้น อย่าด่วนตัดสินใจ จากช่วงเริ่มต้นที่ต้องทำงานทุกอย่างในบริษัท เมื่อธุรกิจเริ่มตั้งตัวได้หรือเติบโตต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้เหมาะสมชัดเจน

โดยแนวทางการขยายทีม ควรหาคนที่ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่าตัวเอง ทั้งต้องมีแผนสำรวจเผื่อไว้ยามฉุกเฉิน ต้องทราบว่าความเสี่ยงของธุรกิจคืออะไรหากมีใครบางคนหายไป ไม่ใช่ฝากอนาคตของบริษัทไว้กับคนบางคน

ด้านผลิตภัณฑ์ ควรมองทุกอย่างเป็นการทดลองซึ่งไม่มีอะไรที่เพอร์เฟ็ค ต้องรับฟังว่าลูกค้าต้องการอะไร ด้านการบริการจัดการควรมุ่งโฟกัสตลาดที่มีความเฉพาะ ทราบว่าเมื่อใดต้องเพิ่มความจริงจัง อีกทางหนึ่งการเป็นผู้ก่อตั้งหรือซีอีโอย่อมทราบอยู่แล้วว่าเมื่อใดเงินจะหมดดังนั้นต้องวางแผนหาเงินเข้ามาเพิ่ม

พร้อมกับแนะว่า ให้ระมัดระวังกับทั้งโอกาสและความท้าทาย เปิดรับเสียงวิจารณ์ และรู้จักที่จะตอบปฏิเสธไม่ใช่รับทุกอย่างเนื่องจากเวลานั้นมีจำกัด