ทรูวิชั่นส์ปั้นแบรนด์คอนเทนท์ลดเสี่ยงวืดซื้อลิขสิทธิ์ 

ทรูวิชั่นส์ปั้นแบรนด์คอนเทนท์ลดเสี่ยงวืดซื้อลิขสิทธิ์ 

การประกาศยกเลิกบริการ 6 ช่องรายการในเครือเอชบีโอ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 ของเพย์ทีวี “ทรูวิชั่นส์”

มาจากปัจจัยการไม่บรรลุข้อตกลงการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์รายการ, นโยบายการปรับเปลี่ยนคอนเทนท์ตามแนวโน้มการรับชมรายการจากทั่วโลก รวมทั้งทิศทางการบริหารคอนเทนท์ของทรูวิชั่นส์

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนท์และมีเดีย บริษัทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าธุรกิจเพย์ทีวีเป็นบริการที่ต้องพัฒนาโปรดักท์ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ“คอนเทนท์”ที่ต้องมีความหลากหลายทั้งรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหาที่ตอบความต้องการกลุ่มเป้าหมายแต่ละวัย

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มคอนเทนท์ภาพยนตร์ระดับโลกเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำตลาด โดยสตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์ได้พัฒนา“ช่องรายการ”เอง  เพื่อนำเสนอคอนเทนท์บันเทิงที่ผลิตเป็นช่องทาง(วินโดว์)แรกหลังออกจากโรงภาพยนตร์ ปัจจุบันท็อปไฟว์สตูดิโอผลิตภาพยนตร์ระดับโลกต่างมีช่องรายการเอง คือ วอลท์ดิสนีย์,พาราเมาท์, วอร์เนอร์, โซนี่ และฟ็อกซ์  

ดังนั้นรูปแบบการทำตลาดเพย์ทีวี จึงต้องตอบโจทย์เทรนด์ความหลากหลายของคอนเทนท์ที่ได้รับความนิยม ซึ่งแต่ละปีทรูวิชั่นส์จะปรับเปลี่ยนช่องรายการใหม่ ที่อยู่ในความสนใจของผู้ชม โดยจะปรับช่องรายการที่มีเรทติ้งไม่สูงออก เนื่องจากปัจจุบันทรูวิชั่นส์มีช่องรายการรวม 170 ช่อง และใช้ทรานสปอนเดอร์ดาวเทียมระบบเคยู แบนด์เต็มพื้นที่  “การเพิ่มช่องใหม่จึงต้องนำช่องเก่าออก"

ที่ผ่านมาทรูวิชั่นส์เป็นพันธมิตรกับ“เอชบีโอ”มากว่า 25 ปี และยอมรับว่า “เอชบีโอ เอชดี” เป็นช่องหนังที่ได้รับความนิยมสูง ขณะที่อีก 5 ช่องที่อยู่ในแพ็คเกจการขายไลเซ่นส์ ได้รับการความคิดเห็นจากสมาชิกทรูวิชั่นส์ว่าเป็นช่องที่นำคอนเทนท์จากเอชบีโอมาออกอากาศซ้ำ บริษัทจึงเจรจากับเอชบีโอ เพื่อขอซื้อคอนเทนท์เพียงช่องเดียวคือ “เอชบีโอ เอชดี”แต่การเจรจาไม่บรรลุเป้าหมาย จึงต้องยกเลิกให้บริการช่องรายการเอชบีโอทั้ง 6 ช่องเมื่อวันที่1 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมมาตรการเยียวยากลุ่มที่จ่ายเงินล่วงหน้าสามารถ“ยกเลิก”บริการได้  

ทั้งนี้ ตั้งแต่เปลี่ยนช่องรายการใหม่ได้เปิดช่องทางให้สมาชิกสอบถามข้อมูล 24 ชั่วโมง เพื่อรับเรื่องร้องเรียน พบว่ามีสมาชิกสอบถามข้อมูลผ่านคอลเซ็นเตอร์และทรูช็อปกว่า 5,000 ราย  หรือคิดเป็นสัดส่วน 2% ของสมาชิกกลุ่มพรีเมียม 3 แสนราย ที่ยกเลิก 6 ช่องเอชบีโอ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึงปัจจุบัน มีสมาชิกยกเลิก 500 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.16% ของกลุ่มพรีเมียม 

พีรธน กล่าวว่าธุรกิจเพย์ทีวีเป็นบริการที่ต้องตอบโจทย์ “เซ็กเมนท์”ผู้ชมทุกวัย จึงต้องมีความหลากหลายของคอนเทนท์  รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านความคมชัดสูง แพลตฟอร์มและเซอร์วิสอื่นๆไปพร้อมกัน  ทรูวิชั่นส์จึงมุ่งให้บริการทั้งช่องเอชดี ที่มีกว่า 55 ช่อง  กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาช่อง 4K  บริการ TrueVisions Anywhere การรับชมผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์มนอกจากจอทีวี บริการอัดรายการ เป็นต้น 

ด้านการพัฒนาคอนเทนท์“ช่องรายการ”หลังจากนี้จะมุ่ง “สร้างแบรนด์”ช่องรายการของทรูวิชั่นส์มากขึ้น ทั้งการผลิตโลคอล คอนเทนท์และการนำ“รายการ”(โปรแกรม)ที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศมาจัดผังช่องรายการเอง เช่น ช่องทรู มูฟวี่ ฮิต ซึ่งเป็นช่องหนังอันดับ1 ในขณะนี้  ปัจจุบันทรูวิชั่นส์มีช่องรายการที่ผลิตเองทั้งคอนเทนท์ไทยและซื้อโปรแกรมต่างประเทศมาจัดผังเองรวม 25 ช่อง หรือราว 15% ของช่องรายการ ทั้งกลุ่มหนัง ซีรีส์ กีฬา ซึ่งมีโอกาสทำตลาดแมสได้หลากหลายกลุ่ม

“การสร้างแบรนด์ช่องรายการเอง จะช่วยลดความเสี่ยงการเจรจาซื้อไลเซ่นส์คอนเทนท์ต่างประเทศที่อาจไม่บรรลุข้อตกลงในอนาคตและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเพย์ทีวี ที่ต้องปรับเปลี่ยนคอนเทนท์ตามเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภค”

นอกจากนี้ลิขสิิทธิ์รายการต่างประเทศปรับขึ้นทุกปี การเจรจาซื้อคอนเทนท์ปีก่อนเพื่อออกอากาศปีนี้ ราคาปรับขึ้น 30% 

สำหรับผลประกอบการทรูวิชั่นส์ ไตรมาส 3 ปี2559 ฐานสมาชิกเติบโต 12% รวมจำนวน 3.7 ล้านราย ส่วนหนึ่งขยายตัวจากกลุ่มที่ซื้อแพ็คเกจ“พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ที่มีจำนวน 2 แสนราย และกลุ่มพรีเมียมที่รับชมพรีเมียร์ ลีก อังกฤษฟรี