'แสนสิริ' ดึงเทคโนโลยีสู้ศึกอสังหาฯ

'แสนสิริ' ดึงเทคโนโลยีสู้ศึกอสังหาฯ

"แสนสิริ" เตรียมเปิดตัวธุรกิจ "พร็อพเพอร์ตี้ เทค" 25 ม.ค.นี้ ตั้งบริษัทลูกร่วมทุนลักษณะเวนเจอร์ แคปิตอล ผสานเทคโนโลยีกับธุรกิจอสังหาฯรายแรก

ที่ผ่านมาผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ท็อปเทนในตลาด ต่างสะท้อนว่า สัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจค) เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น กลายเป็นแรงกดดันต่อธุรกิจอสังหาฯในปีนี้ ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ ต้องวางกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงการดึงเทคโนโลยีเข้ามา เข้ามาสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ท่ามกลางกำลังซื้อที่ “อ่อนแอ”

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯปีนี้ เป็นปีท้าทาย ในการทำธุรกิจที่ต้องเพิ่ม “ความระมัดระวัง” และ “วินัยทางการเงิน” มากขึ้น

ขณะที่การเปิดตัวโครงการต้องอาศัยต้องเล็ง “จังหวะที่ดี” ในการช่วงชิงโอกาสและกำลังซื้อ เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการขอสินเชื่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงิน ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับล่าง โดยปัจจุบันสัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อของลูกค้าของบริษัทอยู่ที่ 15-20% และคาดว่าในปีนี้อาจจะยังคงอยู่ในระดับดังกล่าว

คาดอสังหาฯโตเท่ากับปีก่อน

ดังนั้น แนวโน้มตลาดอสังหาฯในนี้ คาดว่าจะเติบโตประมาณ 5% ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยบวกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (เมกะโปรเจค) ของภาครัฐ ซึ่งเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลการเกษตรเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคระดับรากหญ้าปรับตัวดีขึ้น

เน้นเปิดโครงการกลาง-บน

โดยแนวทางการพัฒนาอสังหาฯของบริษัทในปีนี้ จะเน้นพัฒนาโครงการระดับกลางถึงบนมากขึ้น แบ่งสัดส่วนโครงการในระดับบน 30% โครงการระดับกลาง 50% และโครงการระดับล่าง 20% เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ

ในปีนี้บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่จำนวน 19 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 41,200 ล้านบาทไฮไลต์ของปีนี้จะเปิดบ้านเดี่ยวระดับบน ในแบรนด์บ้านแสนสิริ มูลค่าโครงการรวม 2,000 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ยยูนิตละ 80 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังเดินรุกตลาดลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้ายอดขายลูกค้าต่างชาติ 7,500 ล้านบาท เติบโต 38% จากปีที่ผ่านมาที่มียอดขายต่างชาติอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะยังเดินหน้าทำการตลาดในต่างประเทศ โดยร่วมมือกับพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายในเมืองต่างๆ และมีแผนการจัดตั้งสำนักงานขายเพิ่มในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และฮ่องกง จากปัจจุบันมีสำนักงานขายอยู่ในจีน เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์

รุกสู่ “พร็อพเทค”ตอบโจทย์ลูกค้า

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาผสมผสานกับการทำธุรกิจอสังหาฯและการอยู่อาศัยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรับยุคดิจิทัล เพื่อให้มีความง่ายและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในสังคมยุคเทคโนโลยี หรือ “Property Technology” (PropTech) ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องปรับตัวและนำ “โซลูชั่น” ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ปัจจุบันอสังหาฯ ไม่โตแบบก้าวกระโดด และไม่ได้เติบโตมากในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เราต้องปรับตัว และกลับมาบริหารจัดการภายในองค์กรด้วยโซลูชั่นใหม่ๆ เข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยการนำดาต้าเบสมาใช้มากขึ้น ให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด เพื่อพัฒนาองค์กรยืนหยัดในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง ที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯ มีการใช้ดาต้ามาช่วยการดำเนินธุรกิจน้อยไม่ถึง 40% เกือบจะเป็นกลุ่มธุรกิจท้ายๆต่างจากธุรกิจอื่นๆ การเงิน รถยนต์ คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลมาใช้มากกว่า 53%”

จัดตั้ง “เวนเจอร์ แคปปิตอล”

โดยจัดตั้งบริษัทลูกในลักษณะของVenture Capitalขึ้นเพื่อมองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจประเภท“Property Tech”ที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทแสนสิริ และจะมีส่วนช่วยผลักดันธุรกิจหลักของแสนสิริให้มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงมองหาโอกาสและนวัตกรรมทางธุรกิจ และกระบวนการธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง

โดยคาดว่าธุรกิจใหม่นี้จะเป็นช่องทางรายได้ใหม่ของ โดยจะเปิดตัว พร็อพเพอร์ตี้ เทค ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจัดตั้ง ”Venture Capital” ขึ้นมา

ส่วนเป้ายอดขายตั้งไว้ที่ 36,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี2559 ที่คาดว่าทำยอดขายได้ 31,100 ล้านบาท หรือเติบโต 9% จากปี 2558 ด้านรายได้ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท ใกล้เคียงรายได้ในปีก่อนที่คาดว่าอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะมีการทยอยโอนมูลค่า 14,000 ล้านบาทในปีนี้ แบ่งเป็นโครงการของบริษัทที่จะโอน 8,000 ล้านบาท และโครงการร่วมทุนกับบีทีเอส 6,000 ล้านบาท จากมูลค่ายอดสัญญารอโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ที่มีอยู่ทั้งหมด 39,000 ล้านบาท แบ่งเป็น แบล็กล็อกของบริษัท 18,600 ล้านบาท และแบล็กล็อก ของบริษัทร่วมทุน 20,400 ล้านบาท ซึ่งจะมีการทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 4 ปีจากนี้

ค่ายอสังหาฯรับมือยอดรีเจคพุ่ง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริษัทอื่นๆ ก็ได้มีรับมือกับปัญหาดังกล่าว อย่าง บมจ.ศุภาลัย ได้พยายามให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าเพื่อความพร้อมในการขอสินเชื่อ และพิจารณาคัดลูกค้าแต่ละกลุ่มให้เหมาะสมของกลุ่มลูกค้าให้แต่ละธนาคาร เพราะขณะนี้แต่ละสถาบันการเงินเลือกลูกค้า โดยเลือกให้สินเชื่อเฉพาะบางเซกเมนต์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการชำระหนี้

ขณะที่ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มุ่งพัฒนาโครงการที่มีความต้องการแท้จริง (เรียลดีมานด์) เป็นหลัก ปรับกลยุทธ์การขายมุ่งไปสู่การทำโครงการที่มีผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและก่อสร้าง ส่งมอบรวดเร็ว (อีโคโนมี ออฟ สปีด) โดยใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูปพรีคาสท์ ช่วยร่นระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 45-60 วัน โดยจะนำมาใช้ในการก่อสร้างทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ ได้ช่วยเหลือลูกบ้านที่ขอสินเชื่อไม่ผ่านโดยได้เจรจากับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น