นายกฯสั่งติดเครื่อง 'อีอีซี' ปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ

นายกฯสั่งติดเครื่อง 'อีอีซี' ปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ

"นายกรัฐมนตรี" เร่งรัดโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กำชับต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมในปีนี้ พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 2 ชุด

คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ประชุมนัดแรกวานนี้(12 ม.ค.) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เร่งรัดโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในปีนี้

อีอีซีถือเป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าคณะกรรมการฯเร่งขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีให้เป็นรูปธรรม โดยตั้งกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่มาคอยดูแลในเชิงนโยบาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนอีกชุด คือ คณะกรรมการบริหารและพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยจะเป็นคณะกรรมการที่ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

“คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นทั้งสองชุดเพื่อให้งานเดินหน้าไปก่อนระหว่างที่รอกฎหมายอีอีซีมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะส่งให้ ครม.พิจารณาและส่งให้ สนช.ต่อไป โดยขณะนี้สามารถเดินหน้าจัดทำรายละเอียดที่สำคัญเช่น การกำหนดพื้นที่ให้แต่ละประเภทของอุตสาหกรรม,การกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษ นอกเหนือจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) การวางระบบขนส่งให้เชื่อมโยงข้างในอีอีซีและเชื่อมโยงไปสู่นอกประเทศ เพื่อที่สุดท้ายแล้วอย่างน้อยจะได้มีแผนผังว่าในอีอีซี มีอะไรอยู่ที่ไหนบ้างให้เห็นภาพได้โดยเร็ว เมื่อกฎหมายคลอดออกมาจะมีกลไกถาวรมากำกับดูแลให้เกิดการลงทุนตามนโยบายต่อไป” นายอุตตม กล่าว

นายกฯสั่งเร่ง 5 ด้านสำคัญในปีนี้

นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะทำงานด้านการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก กล่าวว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก แต่ละประเทศมีการใช้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนพื้นที่อีอีซี โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ40% และสามารถระดมการลงทุนผ่านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขับเคลื่อน5เรื่องที่สำคัญเพื่อให้โครงการอีอีซีเห็นผลที่เป็นรูปธรรมภายในปีนี้ประกอบไปด้วย1.การลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งในขณะนี้ความก้าวหน้าไปมากทั้งการก่อสร้างทางขึ้นลงเครื่องบิน (รันเวย์) ที่2การสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับจำนวนผู้โดยสารจาก8แสนคนเป็น3ล้านคน โครงการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ของโลกทั้งแอร์บัส และโบอิ้ง ที่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน

2.การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่3ซึ่งจะสร้างการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือจากไทยไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี 3.โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง ซึ่งได้มีการออกแบบให้เส้นทางมีการเชื่อมโยงสนามบินทั้ง3แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นหัวใจในการลงทุนของอีอีซี 4.สิทธิประโยชน์ที่จะใช้ดึงดูดนักลงทุนระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี เพื่อสร้างการต่อยอดของอุตสาหกรรมในไทยให้สามารถยกระดับการผลิตได้ รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการลงทุนวิจัยและพัฒนาระดับโลก

“ในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าการดึงดูดนักวิจัยระดับโลกเข้ามาทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างการวิจัยและพัฒนาควรจะพิจารณาให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับนักวิจัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย”

สร้างเมืองใหม่ฉะเชิงเทรารองรับ

5.การผลักดันการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่3จังหวัด จ.ระยอง จ.ชลบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา จะทำให้เกิดเมืองใหม่ ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ได้เสนอว่าควรมีการวางแผนพัฒนาเมืองฉะเชิงเทราขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยทันสมัยเพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯและการเติบโตของเมืองหลังการขยายตัวของอุตสาหกรรมในชลบุรีและระยอง

“โครงการพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะเป็นโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเดียวแต่การพัฒนานี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยว และความเจริญของพื้นที่ต่างๆ จะทำให้เกิดเมืองใหม่และการกระจายรายได้ ซึ่งจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และโรดโชว์สร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ"

นายกานต์ กล่าวว่าหลังจากนี้จะต้องมาหารือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องหากับบีโอไอที่จะต้องไปทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้นเพราะเรามีความพร้อม ทั้งเรื่องแผนการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน กฎหมายและสิทธิประโยชน์ที่สนับสนุน“ นายกานต์ กล่าว

เร่งลงทุน4หมื่นล้านให้เกิดจริงปีนี้

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าในปีที่ผ่านมามีภาคเอกชนที่ยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ประชุมฯมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องผลักดันการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงในปีนี้

ส่วนการผลักดันเรื่องกฎหมายและกองทุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันวงเงิน1หมื่นล้านบาทก็จะผ่านขั้นตอนของกฎหมายในเร็วๆนี้

นายปรเมธี กล่าวว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็มีความคืบหน้าไปตามลำดับโดยโครงการรถไฟขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังที่กำหนดแล้วเสร็จในปี2561 มีความคืบหน้าแล้ว40%โครงการมอเตอร์เวย์พัทยา–มาบตาพุด กำหนดแล้วเสร็จในปี2562มีความคืบหน้าแล้ว 20% รถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย กำหนดแล้วเสร็จในปี2562มีความคืบหน้าไปแล้ว25%เป็นต้น

สำนักงบฯเพิ่มงบหนุนประชารัฐ

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบกรอบวงเงินโครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ จำนวน110,433ล้านบาท โดยขยายวงเงินจากเดิมที่จะมีการอนุมัติโครงการไม่เกินวงเงิน1แสนล้านบาทจากงบประมาณกลางปี2560 วงเงิน1.9แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯเสนอ

การคัดกรองจากโครงการที่กลุ่มจังหวัดเสนอเข้ามาขอใช้งบประมาณกลางปี 2560 ประมาณ 234,000 ล้านบาท ให้เหลือเฉพาะโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการได้ทันทีในปี2560

ส่วนงบประมาณที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะมีการลงทุนให้กลุ่มจังหวัดเตรียมโครงการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการกลุ่มจังหวัด (กนจ.) พิจารณาต่อไปในปีงบประมาณ2561 โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนยุทธศาสตร์ชาติ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2560 จะทำรายละเอียดเสร็จภายในวันที่17ม.ค. และจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสนช.พิจารณาเห็นชอบ 3 วาระในวันที่ 24 ม.ค. หลังจากนั้นเงินงบประมาณในส่วนนี้จะทยอยลงระบบเศรษฐกิจทันที

16 ม.ค.นี้ถกกองทุนเอสเอ็มอี

นายอุตตม กล่าวอีกว่าที่ประชุมยังได้มีการหารือในเรื่องการพัฒนาสนับสนุนเอสเอ็มอี ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยสำนักงบประมาณเสนอในหลักการอนุมัติงบเพิ่มกลางปี 2560 ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในชุมชนสร้างความเจริญจากภายในชุมชนโดยไม่ต้องรอให้มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปลงทุน

ในงบกลางปีนี้ ส่วนหนึ่งจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในปีนี้ มีกรอบวงเงินกองทุนไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะร่วมกันดูแลกองทุนนี้

“ในวันที่ 16 ม.ค. นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประชุมกำหนดกรอบการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งจะมีความชัดเจน”