ปรับพันธกิจแบงก์รัฐปี60 ดึงรายได้ “เกษตรกร-ฐานราก”วัดเคพีไอ

ปรับพันธกิจแบงก์รัฐปี60  ดึงรายได้ “เกษตรกร-ฐานราก”วัดเคพีไอ

สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFI ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก

ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ

ในปี 2559 ที่ผ่านมา จึงเห็นได้ว่า SFI หรือแบงก์รัฐ ทำโครงการออกมามากมาย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รับมือกับสารพัดปัจจัยลบที่เข้ามากระทบได้ มีทั้งโครงการที่รัฐบาลต้องใช้งบอุดหนุน และโครงการที่แบงก์รัฐดำเนินการเอง โดยที่รัฐไม่ต้องควักกระเป๋าชดเชยให้

เพราะรัฐบาล โดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายตรงกันว่า ต้องการให้แบงก์รัฐมีบทบาทในการดูแลระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และทำโครงการออกมา โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลสั่งการ แม้บางโครงการขาดทุนบ้างในช่วงแรก ก็ต้องทำ เพราะแบงก์รัฐไม่ตั้งขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจแข่งกับแบงก์พาณิชย์ และไม่ได้หวังสร้างกำไรสูงสุดให้กับองค์กร

ปีที่ผ่านมาจึงเห็นได้ว่าแบงก์รัฐแทบทุกแห่ง เริ่มปรับบทบาทและทิศทางการทำงาน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นอกจากช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มเอสเอ็มอีเกษตร เพื่อยกระดับต่อยอดการผลิตให้เกษตรกร โดยมีโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตรขึ้นมา วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ธนาคารออมสิน มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการฐานรากในชุมชนเมือง กลุ่มสตาร์ทอัพ การทำตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้

สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ช่วงที่ผ่านมา ทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลายโครงการ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อบ้าน ทั้งโครงการบ้านประชารัฐ และโครงการสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย เป็นต้น

เรียกได้ว่า แบงก์รัฐ เริ่มดำเนินงาน โดยยึดตามพันธกิจ หรือวัตถุประสงค์การจัดตั้งมากขึ้น โดยไม่ต้องห่วงการมุ่งทำกำไรให้ได้ตามเป้า เพราะรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังที่เป็นต้นสังกัด ให้นโยบายชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้แบงก์รัฐทำกำไรสูงสุด แต่ให้มุ่งเน้นช่วยเหลือกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำ และที่สำคัญต้องช่วยพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของกลุ่มเหล่านี้ ให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ได้

โดย “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ “ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในปี 2560 นี้ แบงก์รัฐก็ยังต้องทำงานตามพันธกิจของตนเองให้ได้ โดยเคพีไอที่สำคัญที่สุด คือการพัฒนาความเป็นอยู่ของกลุ่มลูกค้า เช่นธ.ก.ส. เคพีไอที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ดีขึ้น ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายที่กำไรเพียงตัวเดียว ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็วัดจากรายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้น

เช่นเดียวกับแบงก์อื่นก็ต้องปรับตัว เช่น ออมสินก็ช่วยคนจนในเมือง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้ชุมชนต่างๆ พึ่งพาตัวเองได้ นี้คือเป้าหมายการทำงาน ไม่ใช่ไปปล่อยกู้โครงการใหญ่ๆ ส่วนธอส.ก็ปล่อยกู้ให้กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ที่แบงก์พาณิชย์ไม่ปล่อย ธอส.ก็ต้องพยายามช่วยกลุ่มนี้ แต่ไม่ใช่เอามาทั้งหมด ยอมให้เอ็นพีแอลสูงขึ้นบ้าง แต่ยังพออยู่ได้ เป็นต้น

“ปีนี้แบงก์รัฐต้องใส่เคพีไอ เรื่องความเป็นอยู่ของกลุ่มลูกค้าเข้าไปด้วย ไม่ใช่ตั้งเป้ากำไรอย่างเดียว เป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะคำนวณออกมาเลยว่าดีขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์”

แม้นโยบายจะสั่งการให้แบงก์รัฐเพิ่มเป้าการทำงานด้านการพัฒนากลุ่มลูกค้า และนำไปใส่ไว้ในเกณฑ์ที่ใช้ประเมินผลการดำเนินงานของแต่ละแห่งด้วย แต่แบงก์รัฐยังมีเป้าดำเนินงานด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะสินเชื่อ เพราะการให้สินเชื่อของแบงก์รัฐ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ นอกเหนือจากเม็ดเงินงบของรัฐบาล

แบงก์รัฐส่วนใหญ่ ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้ จะเติบโต 6% จากปี2559 โดย ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 8.6 หมื่นล้านบาท ไม่รวมสินเชื่อตามนโยบายรัฐ ตั้งเป้ารับเงินฝากเพิ่ม 5 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันต่อเงินฝากรวม 43.22% มีรายได้ค่าบริการและค่าธรรมเนียม 4 พันล้านบาท อัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อไม่เกิน 4% และกำไรสุทธิ 7.19 พันล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 62.2% โดยแผนงานสำคัญมุ่งพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร

ขณะที่ธนาคารออมสิน ตั้งเป้าสินเชื่อและเงินฝากเติบโต 1-1.5 เท่าของจีดีพี หรือเติบโต 3-4.5% จากปีนี้ ส่วนกำไรจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีนี้ ที่คาดจะมีกำไร 2-2.1 หมื่นล้านบาท โดยแผนงานปีนี้ ออมสินมุ่งเน้น ส่งเสริมการออม การนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ โดยปรับเป็นดิจิทัลแบบไทยๆ หรือ  ดิจิไทยแบงก์กิ้ง และการส่งเสริมเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตและบริการ โดยตั้งเป้าให้ได้ 100 กิจการ เป็นต้น

สำหรับธอส.วางเป้าสินเชื่อเติบโต 6% หรือปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.8 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ 1.7 แสนล้านบาท และลดเอ็นพีแอลลงได้อีก 1.2-1.3% จากสิ้นปี 2559 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.25% โดยมีแผนงานสำคัญคือ การออกผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมากขึ้น โดยจะเจาะเป็นกลุ่มเฉพาะมากขึ้น เช่นกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นต้น

ด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ประมาณ 8%หรือใกล้เคียงกับปีนี้ที่จะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารมุ่งเน้นด้านการพัฒนาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแข็งแรงขึ้น ส่งเสริมเอสเอ็มอีในกลุ่มสตาร์ทอัพ สร้างนวัตกรรม พร้อมส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี ไอที เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และใช้กลไกของตลาดอีคอมเมิร์ซในการทำการตลาด เป็นต้น