สปสช.เผย4ปี จัดงบจ่ายเมทาโดนแทนสารเสพติด เกือบ44ล.

สปสช.เผย4ปี จัดงบจ่ายเมทาโดนแทนสารเสพติด เกือบ44ล.

สปสช.เผย 4 ปี จัดงบจ่ายเมทาโดนแทนสารเสพติด เกือบ 44 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 14 ล้านบาท มีผู้รับการบำบัดสะสม 9,573 ราย

ที่โรงพยาบาลแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานให้บริการเมธาโดนระยะยาว (Methadone Maintenance Treatment: MMT)

นพ.ชูชัย กล่าวว่าข้อมูลการเบิกชดเชยการจ่ายยาเมทาโดนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ปี 2558 มีผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่นที่สมัครใจที่รับการรักษาโดยใช้ยาเมทาโดทดแทน ทั้งกลุ่มผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่รับยาต่อเนื่อง 5,458 คน ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2556-2558 มีผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มฝิ่นฯ ที่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยใช้ยาเมทาโนทดแทนสะสม 7,428 คน เฉลี่ยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2,400 คน คิดเป็นมูลค่าการชดเชยค่ายาเมทาโดนสะสม 43,778,823 บาท หรือเฉลี่ยปีละละประมาณ 14 ล้านบาท ทั้งนี้หากรวมผู้รับการบำบัดในปี 2559 (ข้อมูล ณ ก.ค. 59) มีผู้รับการบำบัดโดยใช้ยาเมทาโดนสะสม 9,573 รายแล้ว นับเป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า เมทาโดนเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่สังเคราะห์จากฝิ่น เป็นสารทดแทนที่การแพทย์ยอมรับเพื่อบำบัดรักษาผู้ใช้เฮโรอีน ซึ่งสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมการบำบัดยาเสพติดด้วยยาเมทาโดนระยะยาวนี้ เพื่อมุ่งลดอันตรายจากการเสพยาโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทั้งการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไว้รัสตับอักเสบซี เป็นต้น และต่อมาในปี 2551 จึงขยายให้สิทธิประโยชน์การบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยนอกในกลุ่มผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่น (โอปิออย์) และอนุพันธ์ของฝิ่นที่สมัครใจ โดยร่วมกับสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์) กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข

“ยาเมทาโดนจัดเป็นยาเสพติด ประเภท 2 ต้องมีการควบคุมพิเศษ เนื่องจากเสพติดได้และเป็นอันตรายแก่ผู้รับบริการถึงชีวิต ผู้ให้บริการจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจวิธีรักษาตามหลักการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ขณะที่หน่วยบริการที่จะมีสิทธิเบิกจ่ายยาเมทาโดนได้ ต้องผ่านการขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2552 และต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ 1.ต้องเป็นหน่วยบริการที่ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดครบ 4 ขั้นตอน ทั้งการเตรียมการ การถอนพิษยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการติดตาม 2.แพทย์ผู้ทำการบำบัดรักษาจะต้องผ่านการอบรม หรือมีประสบการณ์รักษาผู้เสพติดเฮโรอีนไม่น้อยกว่า 1 ปี และ 3.หน่วยบริการจะต้องจัดทำทะเบียนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่เข้าร่วมโครงการฯ และรายงานความคืบหน้าในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เข้ารับการบำบัดต่อกรมการแพทย์ รวมทั้งรายงานการใช้ยาเมทาโดนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีสำเนาเก็บไว้ที่หน่วยบริการ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้”นพ.ชูชัย กล่าว