อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์ว่ายข้ามมหาสมุทร

อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์ว่ายข้ามมหาสมุทร

ในบรรดากีฬาแนวเอ็นดูแรนซ์ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ว่ายน้ำถือเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความอึดที่สุด

ในระยะทางเท่ากัน สังเกตว่าในไตรกีฬา ว่ายน้ำมีระยะทางที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกีฬาอื่น แต่ใช้พลังงานเทียบเท่ากัน และหากเป็นการว่ายน้ำระยะไกลในแหล่งน้ำเปิด (Open Water) ก็ยิ่งต้องใช้ความแกร่งของร่างกายในขั้นสุด

ว่ายข้ามมหาสมุทรสุดขั้ว

ร่างกายของมนุษย์จะต้องเจอกับอะไรบ้างในการว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร ที่ไม่ได้มีแต่ระยะทางไกลเท่านั้น แต่อุณหภูมิของน้ำและอื่นๆ จะผลักดันร่างกายไปสู่จุดไหน นี่เป็นสิ่งที่นักกีฬาว่ายน้ำทางไกลต้องเตรียมตัวรับมือ

เบน ฮูเปอร์ (Ben Hooper) นักว่ายน้ำชาวอังกฤษ เขาอาจเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ ที่ไม่อาจเอาร่างกายของมนุษย์ธรรมดาไปเปรียบเทียบกับเขาได้ อดีตนายตำรวจคนนี้แข่งไตรกีฬาและว่ายน้ำในแหล่งน้ำเปิดมาหลายปีแล้ว บางครั้งเขาว่ายน้ำไกลถึง 40 กม. ภายในวันเดียว ฮูเปอร์มีความฝันมาตั้งแต่เด็กที่อยากจะว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกให้ได้ เขาจึงเตรียมร่างกายให้พร้อมกับสิ่งนี้ตลอดมา แล้วสร้างเป็นโปรเจคท้าทายตัวเองครั้งใหญ่ พร้อมรณรงค์เพื่อการกุศลด้วยในชื่อ Swim the Big Blue ซึ่งเขาต้องว่ายน้ำจากประเทศเซเนกัลไปถึงบราซิล ด้วยระยะทางกว่า 3,000 กม. กำหนดระยะ 140 วัน และเขาก็ได้ออกตัวว่ายแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ซึ่งในแต่ละวันเขาต้องว่ายน้ำนานที่สุด 10 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

ความท้าทายที่สุดขีดระดับนี้ ทำให้เกิดความสงสัยว่าฮูเปอร์จะต้องเจอกับอะไรบ้าง ในการว่ายน้ำในมหาสมุทรในระยะทางไกลขนาดนี้ ขอย้อนไปถึงความอันตรายของการว่ายน้ำในทะเลเปิด ที่ในอดีตก็เคยมีนักว่ายน้ำไปท้าทาย ด้วยการความรู้เกี่ยวกับร่างกายและการว่ายน้ำทางไกลในทะเลไม่กว้างขวางเหมือนปัจจุบัน

การข้ามเส้นท้าตายในอดีต

ในปี 1953 เจสัน เซอร์กานอส (Jason Zirganos) นักว่ายน้ำในแหล่งน้ำเปิดชื่อดังแห่งยุคได้ว่ายน้ำในทะเลบอสฟอรัส (Bosphorus) ณ อุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 4 ชั่วโมง เมื่อขึ้นจากน้ำ สติสัมปชัญญะของเขาเลือนรางเหลือเพียงครึ่งเดียว และต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงกว่าจะคืนสติกลับมาเต็มร้อย ในครั้งนั้นความรู้เกี่ยวกับอาการซึ่งเกิดจากสภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำว่าปกติ (Hypothermia) ยังไม่เคยมีมาก่อน คนจึงคาดเดากันว่าเขาอาจถูกวางยา ปีต่อมาเซอร์กานอสในวัย 46 ปีจึงได้ท้าทายตัวเองอีกครั้งด้วยการว่ายน้ำในทะเลไอริช ซึ่งน้ำทะเลมีอุณหภูมิ 8 – 11 องศาเซลเซียส หลังจากว่ายน้ำไปได้ 6 ชั่วโมง และเหลือระยะทางเพียงไม่กม. จะถึงจุดหมาย ตัวเขาก็เขียวไปหมดแล้วก็หมดสติไป เขาถูกนำตัวขึ้นจากน้ำอย่างรวดเร็ว และการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือการใช้มีดพกเจาะเปิดหน้าอก หมอต้องนวดกระตุ้นหัวใจซึ่งเต้นเร็วแต่ไม่เป็นจังหวะโดยตรง แต่ความพยายามนั้นก็ล้มเหลว เซอร์กานอสเสียชีวิตตรงนั้นเอง

รับมือกับน้ำในมหาสมุทร

ชะตากรรมของเซอร์กานอสนำไปสู่ความรู้เรื่องอาการของร่างกายในสภาวะอุณหภูมิลดต่ำลง จึงมีการศึกษาปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อเจอกับความเย็นของน้ำในมหาสมุทร เมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส กล้ามเนื้อแขนขาจะหดกลับเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายแกนกลางไว้ให้มากที่สุด จึงทำให้การว่ายน้ำทำได้ยากลำบาก กล้ามเนื้อแขนจะทำงานอยู่ได้ 40 นาที ในน้ำอุณหภูมิราว 20 องศาเซลเซียส ซึ่งนี่เกิดขึ้นได้แม้สวมใส่เว็ทสูทเนื้อหนาสำหรับว่ายน้ำเย็นก็ตาม แม้ฮูเปอร์จะมีแข็งแรงพอที่จะต้านทานได้ แต่การว่ายน้ำในมหาสมุทรหลายๆ ชั่วโมง ก็น่าจะทำให้ประสิทธิภาพการว่ายน้ำของเขาลดลงราว 20 เปอร์เซ็นต์เลย

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลงเพียง 1 องศา จาก 37 เหลือ 36 องศาเซลเซียส ก็ทำให้การไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อแขนขาลดลงเช่นกัน เมื่อนั้นการระบบการเผาผลาญพลังงานจะเปลี่ยนจากการใช้ออกซิเจนมาใช้พลังงานในกล้ามเนื้อแทน ซึ่งจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากกรดแลคติกซึ่งเป็นของเสียจากการเผาผลาญพลังงานนั้น ทำให้ร่างกายต้องต่อสู้กับความเมื่อยล้าอย่างหนัก

อีกทั้งร่างกายจะสูญเสียความร้อนไปเรื่อยๆ อุณหภูมิแขนขาจะเย็นกว่าอุณหภูมิแกนกลางร่างกาย เมื่อร่างกายพยายามรักษาสมดุลให้ทำการว่ายน้ำไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ร่างกายพยายามเฉลี่ยอุณหภูมิไปให้แขนขา และหากอุณหภูมิแกนกลางร่างกายลดต่ำจนถึง 30 – 33 องศาเซลเซียสแล้วก็จะทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายสามารถว่ายน้ำไปได้เรื่อยๆ แต่สติสัมปชัญญะเลือนลง เหมือนเคลิ้มล่องลอยอยู่ในความฝัน ซึ่งอาการนี้นักปีนเขาสูงอย่างเทือกเขาหิมาลัยเรียกกันว่า ภาวะความตายอันแสนหวาน (Sweet Death) คือเหมือนอยากจะนอนหลับสู่ความสบายอย่างที่สุด ซึ่งนั่นก็คือความตายนั่นเอง นี่แหละคือการต่อสู้กับความเย็นที่ฮูเปอร์ต้องเจอ

การเติมพลังงานระหว่างว่าย

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการโหลดพลังงานให้เพียงพอ หรือการกินอาหารนั่นเอง การว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรนี้ ฮูเปอร์ต้องทานอาหารให้ได้ 12,000 กิโลแคเลอรี่ต่อวัน นั่นหมายถึงการทานอาหารของผู้ชาย 5 คนเลยทีเดียว และเพื่อให้ว่ายได้อย่างต่อเนื่อง ทุกๆ ชั่วโมงเขาต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตให้ได้ 90 กรัม จากแหล่งที่หลากหลายด้วย

นอกจากนี้ยังต้องคิดถึงเครื่องดื่มระหว่างทาง ที่ไม่แค่เติมความกระหายน้ำแต่ยังต้องปรับอุณหภูมิให้เหมาะกับร่างกายด้วย ทั้งเครื่องดื่มชูกำลังหรือซุปอุ่นๆ เพื่อเพิ่มอุณหภูมิของแกนร่างกายไปสู้กับความเย็นของน้ำด้วย

การฟื้นฟูร่างกาย

ความท้าทายของฮูเปอร์ในครั้งนี้เทียบเท่ากับการวิ่งมาราธอน (42 กม.) 43 ครั้งภายใน 51 วัน เหมือนที่ดาราตลกนักวิ่งมาราธอน เอ็ดดี้ อิซซาร์ด (Eddie Izzard) ทำเมื่อปี 2009 ซึ่งสำหรับร่างกายคนทั่วไปแล้ว เมื่อวิ่งมาราธอน 1 ครั้ง ควรจะพัก 2-3 สัปดาห์เพื่อฟื้นฟูร่างกาย แต่คนที่ท้าทายขีดจำกัดของร่างกายก็เลือกที่จะทำตรงข้ามกัน การวิ่งมาราธอนต่อเนื่องวันแล้ววันเล่า เป็นการทำร้ายร่างกายอย่างดุเดือด เหมือนที่ฮูเปอร์กำลังทำอยู่ เขากำลังว่ายน้ำ 10 ชั่วโมงต่อวัน ทุกวัน เป็นเวลาเกือบ 5 เดือน ซึ่งหมายถึงว่าเขามีเวลาพักร่างกายระหว่างการว่ายเพียง 14 ชั่วโมงเท่านั้น แม้ว่าการว่ายน้ำจะไม่มีแรงกระแทกเหมือนการวิ่ง แต่การว่ายน้ำเป็นเวลานานก็อาจทำให้ข้อต่อของเขาทำงานหนัก ซึ่งเขาใช้กลยุทธ์การป้อนคาร์โบไฮเดรตเข้าไปฟื้นฟูร่างกาย และแบ่งการว่ายต่อวันออกเป็น 2 เซสชั่น เพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยล้าเกินไป นอกจากนี้เขายังมีทีมซัพพอร์ตที่ติดตามดูอยู่ห่างๆ แต่ไม่ได้พายเรือประกบ เพื่อให้การว่ายน้ำครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด

ฮูเปอร์ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างดี เขาพาตัวเองไปเสี่ยงอันตรายท่ามกลางสภาวะสุดขั้ว แต่เขาเตรียมการมาทั้งชีวิตเพื่อสิ่งนี้ หากเขาทำสำเร็จเขาจะเป็นคนแรกที่ก้าวข้ามทุกสภาวะอันตรายในห้วงมหาสมุทร เป็นมนุษย์สุดแกร่งผู้สร้างสถิติที่ยากจะมีคนพิชิตได้

อ้างอิง: www.swimthebigblue.com

www.independent.co.uk