เตรียม 'ตัว' ไปแต่ง

เตรียม 'ตัว' ไปแต่ง

ไม่ใช่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมโรงแรมหรู เพราะงานแต่งที่คู่ของเธอคิดไว้ต้องพิเศษกว่านั้น

เพื่อนที่เป็นนักบินเนรมิตทางเข้างานเป็นธีม (Theme) นักบินอวกาศ ส่วนคู่ที่ชอบดูหนังขอให้แขกร่วมงานแต่งตัวสไตล์วินเทจตามภาพยนตร์ The great Gatsby ขณะที่คู่รักนักชิมบอกช่างภาพให้ตระเวนถ่าย Pre-wedding คู่กับร้านอร่อยรอบกรุงฯ แทนทำหน้านิ่งๆ ใต้แสงไฟในสตูฯ…แล้วแบบนี้ เมื่อถึงคราว “พวกเรา” มีหรือจะยอมกันง่ายๆ

“งานแต่งมันเป็นอะไรที่ครั้งเดียวในชีวิตเลยนะ เราก็อยากจะทำอะไรให้เป็นที่จดจำ แสดงตัวตนความเป็นเรามากที่สุด ที่สำคัญคือต้องไม่ซ้ำกับใครด้วย” ว่าที่คู่บ่าวสาววัยสามสิบต้นๆ ลงความเห็น

นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุ ว่าทำไมงานแต่งฯ ทุกวันนี้จึงไม่ธรรมดา ทั้งธีมงาน การตกแต่ง กระทั่งบางคู่ “เล่นใหญ่” ไม่ต่างอะไรจากอีเวนท์ย่อมๆ พลอยทำให้พิธีการที่เคยเป็นเรื่องระหว่างครอบครัว กลายเป็นภาพไวรัลเรียกยอด Like ในโลกโซเชียลชั่วข้ามคืน

*ตัวตนคนแต่ง

ถ้าคน Generation Y (ผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2523-2543) กำลังถึงวัยมีคู่ครอง และคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในทุกๆ เรื่อง เป็นไปได้หรือไม่ที่งานแต่งงานคือหนึ่งในภาพที่พวกเขาสะท้อนออกมา

ส้ม เจ้าสาวป้ายแดง มองว่า “ใช่” เพราะคนยุคนี้ไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ที่เคยทำกันมาแล้ว ดังนั้นงานแต่งที่มีขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องหรูหราแบบค่านิยมในอดีต แต่ต้องเก๋ สร้างสรรค์ และเป็นตัวเองที่สุด...ที่สำคัญคือต้องให้คนที่มาร่วมงานจดจำได้ว่านี่คืองานของใคร

ขณะที่ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาวิจัยกลุ่มคน Gen Y มองต่างไป เขาบอกว่า ความอยากพิเศษเพื่อการเป็นที่จดจำเป็นสิ่งที่คนยุคไหนๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น แต่ที่มันกำลังเป็นกระแสตอนนี้เป็นเพราะการพัฒนาทางธุรกิจมากกว่า โดยเฉพาะธุรกิจจัดงานแต่ง Wedding Planner ที่มีมาก ผันตรงกับจำนวนคู่รักที่ไม่มีเวลาจัดงานตัวเอง แต่มีกำลังจ่าย

“คนเจนวายมีความคาดหวังกับหลายเรื่องพร้อมๆ กัน และเป็นเจนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็จริง แต่เรื่องจัดงานแต่งให้แหวกแนว ให้แตกต่าง ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับเจเนอเรชั่นนะ คนยุคไหนก็อยากโดดเด่นกว่าใครทั้งนั้น เพียงแต่สมัยก่อนการจัดงานแปลกๆ ต้องเป็นพวกเซเลบ (Celebrity ) เท่านั้นถึงจะทำได้ แต่ปัจจุบันมีธุรกิจที่ตอบสนองในเรื่องนี้ได้ เราจึงเห็นคนธรรมดาจัดงานที่มีธีมแปลกๆ ที่ต้องแต่งตามทั้งบ่าวสาวและผู้ร่วมงาน”

ส่วน สุริยา ครุฑทอง Creative Director บริษัท Chic Planner ซึ่งให้บริการรับจัดงานแต่งงาน ให้ข้อมูลว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อขนาดงานบ้าง แต่จำนวนงานแต่งงานในแต่ละปีไม่เคยลดลงเลย เพราะคนไทยให้ “คุณค่า”กับงานแต่งงานมาทุกยุคทุกสมัย

อย่างไรก็ตามในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ถือเป็นความท้าทายของคนทำ wedding planner มาก เพราะความต้องการของลูกค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ งานที่ถูกคาดหวังจึงต้องแปลก สด ใหม่ และไม่เคยซ้ำใครมาก่อน เพื่อให้ความประทับใจของพวกเขาถูกคนอื่นพูดถึงในทางที่น่าชื่นชม

“บางกลุ่มจะพูดคุยกันว่างานนี้ดีกว่างานนั้น แต่ละคนแอบเปรียบเทียบกันอยู่ในกลุ่มเล็กๆ …งานแต่งมันมองได้ทั้งเป็นความพอใจของเจ้าของงานและเป็นงานของครอบครัว เขาต้องการสิ่งที่ดีที่สุด เป็นตัวเขามากที่สุด ทีมงานต้องทำการบ้าน และคิดสร้างสรรค์สนองความต้องการให้ได้ บางทีถึงขนาดสร้างใหม่หมด เช่น ลูกค้าบางรายอยากจัดงาน Outdoor (นอกสถานที่) แต่ไม่อยากร้อน ก็ต้องสร้างหลังคากลางแจ้งให้ใหม่หมดเลย หรือบางคู่ชอบหนังเรื่องอวตาร (Avatar) เราก็ต้องสร้างบรรยากาศใหม่ให้เป็นฉากในหนังเลยก็มี”

โซเชียลมีเดียเองมีผลเป็นอย่างมากที่ทำให้เกิดมาตรฐานงานแต่งที่สูงขึ้น เมื่อภาพที่เคยเป็นความประทับใจส่วนตัว ได้เปลี่ยนเป็นยอด Like จนใครต่อใครพูดถึง ไม่แน่ว่าอาจมีบางคู่อาจกำลังถือเป็นมาตรฐานอยู่

ยศกร สงวนทรัพยากร ช่างภาพ Wedding ที่คลุกคลีกับการถ่ายรูปคู่บ่าว-สาวตลอด 7-8 ปีหลัง สะท้อนประสบการณ์ว่า คำพูดทำนอง “ไม่เอาเหมือนใคร”  คือประโยคแรกๆ ที่ลูกค้าบรีฟงาน ดังนั้นทั้งช่างภาพและคู่บ่าว-สาวจึงต้องร่วมวางคาแรกเตอร์เพื่อสร้างความแตกต่างตั้งแต่เริ่มงาน อาจจะดึงอาชีพ นิสัย มาสะท้อนผ่านรูปภาพของพวกเขา เพื่อให้เป็นทั้งความประทับใจ และเป็น “หน้าตา” หากใครจะเห็นและพลอยชื่นชอบถึงความเจ๋งในคอนเซปบ่าว-สาว

“มันเหมือนกับการสร้างคาแรกเตอร์เขานะครับ อย่างบางคนอาจจะไม่ใช่คนยิ้ม หรือสนุกสนานกับการถ่ายรูป ด้วยซ้ำ แต่เราก็ต้องวางคอนเซปให้เขา ทำให้ลูกค้ายิ้ม ดูเป็นธรรมชาติ ให้ภาพเป็นไปตามธีมที่วางไว้ตั้งแต่แรก” เขาเล่าถึงรายละเอียดของงานถ่ายภาพแต่งงาน

*งานแต่งเปลี่ยนไป

งานวิจัยเรื่อง “ประเพณีการแต่งงานทางธุรกิจ” โดย รศ.ขนิษฐา จิตชินะกุล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้ทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุตอนหนึ่งว่า หลัง พ.ศ.2500 ประเพณีการแต่งงานของไทยเปลี่ยนไปตามรูปแบบตะวันตกมากขึ้น จากที่เคยใช้เวลาหลายวัน ทั้งการทาบทาม การสู่ขอ หมั้น แต่งงาน และพิธีฉลองมงคลสมรส จะลดเหลือเพียงวันเดียว พร้อมๆ กับการแต่งงานยุคนี้ได้ผสมผสานวัฒนธรรมอื่นเข้าไป เช่น การตัดเค้ก การโยนช่อดอกไม้ การทำ VDO นำเสนอเรื่องราวความรักของคู่บ่าวสาวที่ไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิมแม้แต่น้อยมาเกี่ยวข้อง

“พวกการตัดเค้ก การโยนดอกไม้ นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยเลยนะ แต่ถูกนำเข้ามาจากสมัยนิยม ส่วนอะไรที่เคยเป็นแบบแผน แต่เป็นความยุ่งยากจะถูกตัดทิ้งไป เช่น การตั้งขันหมาก จากเดิมที่มีทั้งขันหมากเอก ขันหมากโท ซึ่งจะประกอบไปด้วยพานหมากพูล พานบายศรี และพานที่เตรียมใส่สินสอดทองหมั้น มีถุงเงินถุงทองที่ใส่ธัญพืช ขนมชื่อมงคล 9 อย่าง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน ขนมกง วันนี้ถูกตัดทิ้งเหลือไว้เพียงขันหมากเดียวคือสินสอดทองหมั้นเพราะสะดวกกว่า และก็เป็นไปได้ว่าหากอนาคตเทรนด์ของการแต่งงานเปลี่ยน รูปแบบในงานก็อาจจะเปลี่ยนแปลงตามไปได้” รศ.ขนิษฐา กล่าว

ข้อมูลจากการสำรวจยังระบุว่า ขนาดครอบครัวที่เปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่สู่ครอบครัวเดี่ยวยังมีผลทำให้คู่แต่งงาน 8 ใน 10 คู่ เลือกใช้บริการรับจัดงาน แทนจากเดิมที่เป็นเรื่องของครอบครัว วงศ์ญาติ เป็นคนดำเนินการ

แต่ถึงเช่นนั้นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยนั่นคือ การแต่งงานทุกสมัยยังถือเรื่องฤกษ์ยาม ความเป็นมงคล อีกทั้งการแต่งงานยังเป็นการสะท้อนถึงฐานะทางเศรษฐกิจและเป็นการประชาสัมพันธ์ของสองครอบครัว งานแต่งจึงต้องทำให้เหมาะสมกับฐานะ ใครจะมองว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำก็ไม่สนใจ นั่นเพราะสิ่งที่ได้คืนมาเป็น “มูลค่า” ที่แต่ละครอบครัวล้วนตีความต่างออกไป

ทั้งนี้จากการสำรวจค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานพบว่ามีสัดส่วนลดหลั่นกันไป โดยในการสำรวจเมื่อปี 2550 พบว่ามีค่าเฉลี่ยการจัดงานแต่งงานอยู่ที่คู่ละ 150,000-500,000 บาท ขณะที่ปัจจุบันคาดการณ์ในระดับ 300,000-700,000 บาท ไม่นับค่าใช้จ่ายในส่วนทีมช่างภาพที่รวมไปถึงภาพนิ่งและภาพวีดีโอเฉลี่ย ซึ่งมีอัตราการจ้างตามขนาดงาน

“ข้อมูลที่ได้พบว่าธุรกิจรับจัดงานแต่งงานน่าจะเริ่มต้นขึ้นช่วงปี 2539 โดยเริ่มต้นจากการถ่ายรูป ทำของชำร่วย แล้วค่อยๆ พัฒนาการมาสู่การจัดงานครบวงจร ผู้จัดงานจะมีแพ็กเกจ และรูปแบบตามแต่ลูกค้าต้องการและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างเมื่อช่วง 30 ปีก่อนต้องมีโต๊ะจีนในทุกงาน เนื่องจากช่วงนั้นวัฒนธรรมจากจีนมีอิทธิพลมาก คู่บ่าว-สาวที่มีกำลังทรัพย์เองก็มีเชื้อสายจีน จากนั้นเมื่อความนิยมเปลี่ยน จากการเลี้ยงฉลองไปสู่ลักษณะการจัดอีเวนท์เล็กๆ เปลี่ยนจากโต๊ะจีนสู่อาหารแบบค็อกเทล และต้องเป็นอะไรที่เก๋ๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

*After Party วิถีใหม่

จบจากพิธีหลักอย่าเพิ่งรีบกลับ หากอยากรู้จักบ่าว-สาวจริงๆ ต้องอยู่ให้ถึงช่วง After party (งานเลี้ยงหลังพิธีการฉลอง)

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า After party มีที่มาอย่างไร แต่พออนุมานได้ วิถีนี้มาจากวัฒนธรรมฝั่งตะวันตก แบบที่เห็นในภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งฉายภาพว่า หลังจากงานแต่งที่เต็มไปด้วยสักขีพยานผู้ใหญ่สิ้นสุดลงแล้ว คู่บ่าว-สาวและกลุ่มเพื่อนจะพากัน“ไปต่อ” ที่ผับและบาร์ใกล้ๆ

แต่เพื่อความสะดวก ลดการเดินทาง จึงยกบรรยากาศผับบาร์ และวงดนตรีที่เจ้าบ่าว-สาวชื่นชอบมาอยู่ในงาน After party แทน โดยการตระเตรียมอุปกรณ์ร่วมกับโรงแรม โดยเอาทั้งบูธดีเจ วงดนตรีมาโชว์กันสดๆ

“ถ้างานแต่งเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แล้วบอกว่างาน After Party คืองานของคู่บ่าว-สาวคงไม่ผิดนัก เพราะเขาจะสนุกสุดเหวี่ยง ถ้าอยากได้ภาพมันส์ๆ หลุดๆ รู้ว่าบ่าว-สาวเป็นอย่างไรก็ต้องรอช่วงนี้” ยศกร ตั้งข้อสังเกต

แต่อีกความหมายหนึ่ง After Party ยังหมายถึงการเปิดตัวสังคมของคู่บ่าว-สาว เพื่อให้เพื่อนของทั้ง 2 ฝ่ายได้รู้จักกันอีกด้วย อาทิ เป็นช่วงแนะนำให้เพื่อนหรือญาติฝั่งเจ้าบ่าวรู้จักกับฝั่งเจ้าสาว อาจจะสานสัมพันธ์เป็นคอนเนคชั่นทางธุรกิจก็มีไม่น้อย

“ถ้าใครไม่มีแฟนก็จะหาเอาจากตอนนี้แหละ เพราะผู้หญิงหรือผู้ชายก็จะเป็นเพื่อนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คราวนี้ก็จะรู้จักกันง่ายล่ะ เพราะรู้ที่มา พื้นฐานของกันและกัน ยิ่งได้ดื่ม ได้เต้นกันในวงแคบๆ มีแต่คนรู้จัก คราวนี้ก็จะสนิทกันง่าย จะแลกเบอร์ แลก Line กันก็ว่าไป” เจ้าบ่าวหมาดๆ คนหนึ่งเล่าประสบการณ์

เขาบอกอีกว่า เพื่อนๆ ถามตั้งแต่ก่อนวันงานด้วยซ้ำว่า งานแต่งของตนมี After Party หรือไม่และมีเพื่อนเจ้าสาวคนไหนบ้างที่ยังโสด นั่นเพราะเมื่อถึงคราว After Party จะได้เข้าไปทำความรู้จักถูกคน งานแต่งงานครั้งหนึ่งจึงไม่ใช่แค่บ่าว-สาวที่ต้องเตรียมตัว

เพราะทุกคนต่างเตรียม ตัว” ไปแต่งในความหมายของตัวเอง