'สมคิด'เร่งเบิกงบลงทุน มั่นใจดันศก.ปีนี้โต3-4%

'สมคิด'เร่งเบิกงบลงทุน มั่นใจดันศก.ปีนี้โต3-4%

"สมคิด" มั่นใจเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องระดับ 3-4% เหตุปัจจัยภายใน-ภายนอกหนุน คาดความเชื่อมั่นฟื้น พร้อมกระตุ้นรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่าย

วานนี้ (11 ม.ค.) สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีหัวข้อ “2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” มีนายสมคิด จตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดยมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3-4% พร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

นายสมคิด กล่าวหลังจากรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.)หรือ “Mini Cabinet”

“คณะกรรมการชุดนี้มีนายกฯเป็นประธานโดยจะหยิบประเด็นสำคัญๆที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเร่งด่วนขึ้นมาพิจารณาและหาทางขับเคลื่อนให้รวดเร็วที่สุด”

นายสมคิดระบุว่าในวันนี้ (12 ม.ค.) จะมีการประชุมหารือใน 2 เรื่องที่สำคัญ เรื่องของงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2560 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท และเรื่องคือเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“ในเบื้องได้สั่งการในเรื่องของอีอีซีแล้วว่าให้มีการจัดตั้งสำนักงานเฉพาะกิจขึ้นมาทำงานชั่วคราวในระหว่างที่รอกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคาดว่าจะผ่าน สนช.ในไตรมาสแรกนี้ โดยสำนักงานชั่วคราวมอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดูแลเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง”

นายสมคิดกล่าวในปี2560 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากในปีก่อนรัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการขับเคลื่อนโครงการสำคัญไปพอสมควร ทั้งเรื่องของแนวคิดโครงการ กฎหมาย และงบประมาณสนับสนุน

ชี้6ปัจจัยสนับสนุน-ความเชื่อมั่นฟื้น

ในปีนี้ นายสมคิดมองว่าเศรษฐกิจไทยมี 6 ปัจจัยสนับสนุน คือ 1.ความชัดเจนในเรื่องของการเมือง และการเปลี่ยนผ่านในเรื่องสำคัญของประเทศไทย 2.สินค้าเกษตรราคาปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก 3.สถานการณ์การส่งออกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐที่จะดีขึ้นหลังมีประธานาธิบดีคนใหม่

4.การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งในปีนี้ได้เตรียมการให้มีงบประมาณกลางปีมารองรับเพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง 5.การท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น และ6.การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น

นายสมคิด กล่าวว่า ได้เดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและได้เห็นความสัญญาณความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการลงทุนทางตรง (FDI) จากต่างประเทศจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

“เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ 3-4% ไม่ยาก หากทำได้ทุกอย่างที่วางแผนไว้ แม้จะมีข้อวิจารณ์มากว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวแบบตัวแอล หรือเศรษฐกิจจะซึมลึก แต่ผมไม่ได้สนใจเพราะผมกับทีมงานไม่ได้สนใจนัก เพราะไม่ได้นอนอยู่ที่บ้านแล้วไม่ได้ทำอะไรแล้วบอกว่าเศรษฐกิจจะซึม ซึ่งถ้าทำแบบนั้นเศรษฐกิจคงเป็นตัวแอลแบบหางชี้ลง ซึ่งที่บอกว่าซึมก็เห็นจะเป็นแค่เศรษฐกิจโลกไม่ใช่เศรษฐกิจไทย ส่วนเศรษฐกิจไทยได้เตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆไว้แล้ว ปีก่อนเราขับเคลื่อนไปเยอะมากปีนี้ก็เป็นปีที่จะมีความต่อเนื่องไปอีกเพราะโอกาสมีอยู่พอสมควร”

เร่งโครงสร้างพื้นฐาน-พัฒนาท้องถิ่น

นายสมคิด กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี2560จะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ประเด็นเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป คือ 1.การเร่งการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยภายในปีนี้จะต้องลงทุนในโครงการอินเทอร์เน็ตชุมชน และเคเบิลใยแก้วใต้น้ำให้เร็วที่สุดโดยมีงบประมาณเตรียมพร้อมไว้แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาทให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

2.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่เน้นในเรื่องระบบราง และรถไฟทางคู่เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเป็นส่วนในการสร้างการเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศในอาเซียนและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น 3.การส่งเสริมภาคเกษตรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ พัฒนาผู้นำเกษตรกรตัวอย่าง ขยายผลไปสู่ชุมชนในหมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศ ขยายการตลาดสู่ตลาดโลก ซึ่งการปรับโครงสร้างส่วนนี้จะปรับเปลี่ยนการค้าของประเทศไทยไปสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซและส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรในท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลกได้

4.การจัดสรรงบประมาณซึ่งจะมีการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น โดยหลังจากมีการจัดสรรงบกลางปีในปีนี้ได้หารือกับสำนักงบประมาณแล้วว่าจะจัดสรรงบประมาณในรูปแบบนี้ต่อเนื่องไปในปี 2561 จากนั้นการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีวงเงินจัดสรรปีละประมาณ 3 แสนล้านบาทให้ไปสู่การพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดซึ่งไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้นในอนาคต

ปตท.-กทพ.สนองนโยบายลงทุนเพิ่ม

ต่อมา นายสมคิดเป็นประธานการประชุมติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2560 โดยเร่งให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนให้เร็วขึ้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่านายสมคิด เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2560 ให้ได้ตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม) กำหนดไว้ 95% พร้อมให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งเลื่อนการใช้งบลงทุนรายไตรมาสให้เร็วขึ้น จากเดิมที่รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะจัดสรรการเบิกจ่ายงบลงทุนส่วนใหญ่ไว้ไตรมาส 4 ก็ให้ขยับเร็วขึ้น

รัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะเพิ่มงบการลงทุนในปีนี้ เช่น บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)ได้แจ้งว่าจะเพิ่มงบลงทุนเป็น 6 หมื่นล้านบาท จากเดิมตั้งงบลงทุนไว้ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เพิ่งอนุมัติโครงการลงทุนทางด่วนเส้นทางพระราม 3-ดาวคะนองของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) วงเงินลงทุนรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะทำให้งบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปีนี้เพิ่มเป็น 4 แสนล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท

“จะมีการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจเป็นพิเศษ โดยปีที่ผ่านมามีการติดตามงบลงทุนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) (ทอท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เป็นพิเศษเนื่องจากมีการเบิกจ่ายล่าช้า ปีนี้ก็จะให้ความสำคัญกับการติดตามงบลงทุนของปตท. ซึ่งปตท.ก็แจ้งแล้วว่าจะเพิ่มงบลงทุนปีนี้ให้มากขึ้น”

งบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2560 ที่อยู่การกำกับดูแลของ สคร. สูงถึง 3.71 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 4 แสนล้านบาท หากรัฐวิสาหกิจสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 อย่างต่อเนื่อง

หอการค้าไทยคาดส่งออกปีนี้โต1.3-4.2%

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2560 โดยระบุว่าเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรที่ปรับตัวตาม และค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าลง

ปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จึงคาดว่า ภาคส่งออกไทยจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.3-4.2% หรือเฉลี่ย 2.8% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.18-2.24 แสนล้านดอลลาร์ โดยตลาดหลักที่คาดว่าจะขยายตัวดี คือ สหรัฐ และญี่ปุ่น คาดว่าจะมีการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2555

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ ยังคงต้องจับตาการส่งออกไปยังตลาดจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าและบริการจีนเพิ่มเป็น 45% นำมาสู่ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับไทยคือการส่งสินค้าไทยไปให้จีนได้น้อยลงโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากสหรัฐ นำเข้าจากจีนถึง 21.5% และจีนครองตลาดเครื่องจักรเครื่องใช้ไฟฟ้าในสหรัฐ มากที่สุด นอกจากนี้อาจส่งผลให้เกิดกรณีสินค้าจากจีนไหลทะลักเข้ามาในไทยและกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศได้

“ปีนี้ยังต้องจับตาดูนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐ เพราะจะส่งผลทางอ้อมกับสินค้าไทยไปยังจีน ส่วนผลกระทบทางตรงก็คือ การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยจะต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงมากขึ้นเพื่อเข้าไปตีตลาดในสหรัฐ นอกจากนี้ประเด็นน่าสนใจที่ต้องดูอย่างใกล้ชิดยังเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรป และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์"