ชีวิตที่ถูกดึงดูดเข้าหาแสง

ชีวิตที่ถูกดึงดูดเข้าหาแสง

“ทำในสิ่งที่รักไม่พอ แต่ต้องสนุกด้วย” นิยามการใช้ชีวิตและการทำงานของ อั๋น - สิรคุปต์ เมทะนี

แม้จะวางมือห่างจากวงการบันเทิงแล้ว แต่เราก็ยังได้ยินชื่อเสียงของสิรคุปต์ เมทะนีอยู่เสมอ เพราะบทบาทนักแข่งรถที่เมื่อเขาได้สวมแล้วครั้งหนึ่ง ก็ไม่เคยทิ้งได้เลย

ทักษะและประสบการณ์สิรคุปต์เข้าสู่วงการมอเตอร์สปอร์ตเต็มตัว นอกจากจะเป็นนักแข่งรถเองแล้ว เขายังเป็น “ครูอั๋น” ของนักแข่งรุ่นใหม่หลายๆ คน คลุกคลีอยู่ในวงการแข่งรถกับหลายบทบาท จนมาถึงงานล่าสุด กับการเป็นนักพากย์กีฬาในรายการแข่งรถระดับโลกหลายรายการ เติมความรู้กับการค้นคว้าและการแปลเสียงผู้บรรยายสดจากเมืองนอก ซึ่งมีข้อมูลระดับลึก ทำให้เขาได้เรียนรู้มากมายจากการพากย์กีฬา งานนี้ก็เต็มไปด้วยความสนุกไม่ต่างกับการแข่งรถเลย

สนุกกับชีวิตกลางแจ้ง

สิรคุปต์เป็นคนที่ถูกดึงดูดหาแสงแดดมาโดยตลอด เขาชอบเล่นกีฬากลางแจ้งมาตั้งแต่เด็ก ทั้งเทนนิส บาสเก็ตบอล และขี่ BMX กิจกรรมยอดฮิตของเด็กๆ ในยุคนั้น ซึ่งความชอบนี้ก็ส่งต่อมายังการขี่จักรยานเสือภูเขา (Mountain Bike) ในภายหลังอีกด้วย เมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่มเขาก็สนใจรถยนต์ และเข้าสู่การแข่งรถยนต์ด้วยการชักชวนของพีท ทองเจือ และได้รวมกลุ่มกันเป็น ‘สตาร์ ทีม’ ทีมรวมดารานักแข่งรถ ซึ่งมีอ่ำ - อัมรินทร์ นิติพล และเจ- เจตริน วรรธนะสิน รวมทีมด้วยในตอนนั้น

สิรคุปต์แข่งรถเรื่อยมา แต่ในระหว่างที่อยู่วงการบันเทิงก็ทำให้เขาห่างจากการแข่งไปบ้าง จนกระทั่งกลับมาแข่งรถยิมคาน่า (Gymkhana) อีกครั้งในปี 2003 กับการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย และคว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน จนได้เป็นตัวแทนไปแข่งที่ญี่ปุ่นในปี 2005 แม้จะไม่ได้คว้ารางวัลกลับมา แต่ประสบการณ์ที่ได้ก็เต็มเปี่ยม จากนั้นเขาก็อยู่กับวงการมอเตอร์สปอร์ตมาโดยตลอด ขยับปรับเปลี่ยนรุ่นการแข่งขันไปตามช่วงเวลาและความสนใจ

สิรคุปต์เล่าให้ฟังถึงการแข่งรถยนต์ทางเรียบ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่คือ แบบสปรินท์ (Sprint) จึงแข่งจบภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง (ไม่ว่าจะขับกี่รอบก็ตาม) และแบบเอนดูแรนซ์ (Endurance) ซึ่งแข่งตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป เช่น 4 ชั่วโมงและ 6 ชั่วโมง ตอนนี้สิรคุปต์เป็นนักแข่งรถประเภทเอ็นดูแรนซ์ ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะการขับรถ และความอึดแกร่งทางร่างกายสูง

“บางคนเข้าใจว่าขับรถไม่เหนื่อย ผมอยากให้ลองสักสนามหนึ่ง ขับสักชั่วโมง รับรองว่าไม่ไหว เพราะการขับรถต้องใช้สมาธิสูง และยังมีเรื่องความร้อนในรถ อุณหภูมิเมื่อเราอยู่ในชุดกันไฟ สวมชุดแข่งทับ ใส่หมวกกันน็อก ประกอบกับอากาศบ้านเรา บางคนไม่ฟิต ต่อให้ขับได้ครบรอบแต่ก็ไม่เต็มร้อย”

ฟิตร่างกายไปกับเสือภูเขา

สิรคุปต์บอกว่านักแข่งรถยุคใหม่เน้นความฟิตของร่างกายพอๆ กับการซ้อมขับอย่างสม่ำเสมอ

“สมัยก่อนนักแข่งอาจไม่ค่อยดูแลตัวเองมากขนาดนี้ บางคนอดนอนหรือร่างกายไม่พร้อม ซึ่งจะทำให้แข่งได้ไม่เต็มที่ แต่ในที่สุดแล้ว นักแข่งก็จะเห็นเองว่าสำคัญ จึงมีการเตรียมร่างกายให้ฟิต พื้นฐานที่สุดคือออกกำลังกายในแนวเอนดูแรนซ์ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยาน ผมเลือกขี่จักรยาน เพราะชอบและมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะการแข่งรถใช้ความเร็ว และการตัดสินใจสูง วินาทีเดียวถ้าร่างกายดรอปก็คือแพ้ชนะได้ คนก็เห็นผลว่าคนที่ร่างกายฟิตขับได้สเถียรกว่า ไม่ได้บอกว่าจะขับเร็วกว่า แต่ขับได้ดีตั้งแต่รอบแรกถึงรอบสุดท้าย ร่างกายไม่ตก”

ในเมื่อความเสียเปรียบแม้เพียงนิดเดียวอาจหมายถึงความพ่ายแพ้ นักแข่งรถปัจจุบันจึงหันมาเทรนร่างกายด้วยกีฬาอื่นควบคู่กันไปด้วย

สำหรับการขี่จักรยาน สิรคุปต์มีก๊วนขี่จักรยานอยู่ซึ่งเป็นเพื่อนกันมานาน หลายคนก็เป็นนักแข่งรถด้วย พากันขี่ทั้งเสือหมอบบนทางเรียบและเสือภูเขาในเส้นทางธรรมชาติ สิรคุปต์ชอบเสือภูเขาเป็นพิเศษ “ผมว่ามันเหมือน BMX คันใหญ่ พอมาขี่แล้วก็ชอบเลย” ที่สำคัญเขาคิดว่าความท้าทายของเสือภูเขามีมากกว่า

“ผมก็มีลงแข่งแบบสนุกๆ นะครับ ทั้งงานเสือหมอบ เสือภูเขา แต่ผมชอบเสือภูเขามากกว่า เพราะได้ใช้ความเร็วและทักษะการขี่ ไม่จำเจ มีแอคชั่นตลอดเวลา สนุกมากขึ้นทุกครั้งที่ปั่น ต่อให้ปั่นเส้นทางเดิมก็ไม่เหมือนเดิม เพราะเราปั่นกับธรรมชาติ ควบคุมอะไรไม่ได้เลย ฝุ่นดินก้อนหินก็เปลี่ยนไปทุกครั้ง”

บทบาทนักพากย์

งานพากย์รายการแข่งกีฬาสิรคุปต์เริ่มทำมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว เขาได้มีโอกาสพากย์กีฬาหลายรายการ มุ่งไปที่การแข่งรถเท่านั้น เพื่อให้อยู่ในสายมอเตอร์สปอร์ตที่เขามีประสบการณ์ แต่ไม่จำกัดว่าจะเป็นรถอะไร แข่งทางเรียบหรือทางฝุ่น เขาก็พร้อมทำการบ้านหาข้อมูล

รายการดาการ์ แรลลี่ 2017 นั้น ถือเป็นรายการแรกที่เขาเข้ามานั่งพากย์ในรายการเลย แต่ละวันเป็นการสรุปไฮไลท์ ซึ่งคัดมาแต่ชอตเด็ดและผลการแข่งขันของนักแข่งตัวเต็งที่มีแฟนๆ รายการคอยติดตามอยู่ ความสนุกของการแข่งแรลลี่แบบครอสคันทรีข้าม 3 ประเทศนี้ คือคนดูจะได้ลุ้นทุกวัน ตลอดสัปดาห์ ซึ่งไม่อาจคาดเดาผลแพ้ชนะได้เลย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ระหว่างเส้นทางสุดวิบากนี้

“การแข่งขันแบบนี้เป็นครอสคันทรี ข้ามประเทศ 3 ประเทศ ขับกันเกือบ 9,000 กม. เขามักจะมาเป็นทีม ลงคนละประเภทหรือประเภทเดียวกัน ถ้าเจอกันก็ช่วยกันได้ เสน่ห์ของรายการนี้มีเยอะ รายการอื่น ถ้ารถพังทีมเซอร์วิสอาจเข้ามาช่วยได้เลย แต่รายการนี้จะกำหนดจุดให้เฉพาะ ฉะนั้นระหว่างทาง หากเกิดอะไรขึ้นมาต้องแก้ปัญหาเอง ซ่อมเอง ทำยังไงก็ได้ให้รถมาถึงจุดเซอร์วิส เป็นอะไรที่คนดูสนุกได้ทุกวัน ใครนำวันไหน หรือคนนำอาจแพ้ในบางสเตจก็ได้ นี่เป็น 1 ในท็อป 5 ของมอเตอร์สปอร์ตโลกเลย”

ควบคู่กับงานพากย์ดาการ์ สิรคุปต์ก็ต้องเดินทางไปทำภารกิจดูแลการแข่งขันของนักแข่งรุ่นน้องในทีม ชีวิตของสิรคุปต์เกือบทุกด้านจึงเกี่ยวพันกับมอเตอร์สปอร์ตตลอดเวลา

“เป็นเพราะความสนุกครับผมเชื่อว่าถ้าเราทำอะไรที่สนุกจะทำได้ดี ไม่ใช่แค่รัก ทำสิ่งที่รักอาจมีบางช่วงที่ต้องกล้ำกลืน แต่ถ้าทั้งรักทั้งสนุก มีความน่าตื่นเต้นเสมอ นอกจากทำได้ดีแล้ว ยังทำให้มีไฟตลอดเวลาด้วย”