เตือนพื้นที่น้ำท่วม อย่านำที่นอนเปียกน้ำมาใช้ เสี่ยงปอดบวม

เตือนพื้นที่น้ำท่วม อย่านำที่นอนเปียกน้ำมาใช้ เสี่ยงปอดบวม

สธ.เตือนคนน้ำท่วมอย่านำที่นอนเปียกน้ำมาใช้ เสี่ยง“ปอดบวม” แนะใช้ผ้าหนาๆ-เสื่อปูนอนแทน หากมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วันรีบพบแพทย์

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสถานพยาบาลและการสนับสนุนภาคประชาชนด้านสุขภาพของกรม สบส.ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 92 อำเภอ ใน 11 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งหมด 369,680 ครัวเรือน ซึ่งผลจากน้ำท่วมขังเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประสบภัย

โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป อาจเสี่ยงเกิดการเจ็บป่วยง่ายขึ้น เนื่องจากอากาศมีความชื้นสูง  จึงขอให้ผู้ประสบภัยดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง  สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ หมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม หรือภายหลังหยิบจับสิ่งของต่างๆ และล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนให้นมบุตรทุกครั้ง และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ   

นพ.ประภาส กล่าวอีกว่า  เรื่องที่เป็นห่วงผู้ประสบภัยขณะนี้คือเรื่องที่นอน  เนื่องจากลักษณะของน้ำท่วมครั้งนี้เป็นน้ำไหลหลาก กระแสน้ำไหลแรง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  บางคนอาจขนย้ายที่นอนไม่ทันโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในบ้านชั้นเดียว หากที่นอนเปียกน้ำแล้ว ขอแนะนำว่าไม่ควรนำมาใช้อีก  เนื่องจากที่นอนมีความหนา น้ำจะชุ่มอยู่ในวัสดุที่ใช้ทำที่นอนและจะมีความชื้นสูงแม้ว่าจะนำไปตากแดดแล้วก็ตาม หากนำมาใช้ซ้ำอีกอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม  จึงแนะนำให้ผู้ประสบภัยใช้วัสดุอื่นปูนอนแทน เช่น เสื่อหรือผ้าหนาๆ ก็ได้ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ

รองอธิบดีกรมสบส. กล่าวด้วยว่า อาการของโรคไข้หวัด   จะเริ่มด้วยอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้เล็กน้อย คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอจาม  ส่วนไข้หวัดใหญ่ จะเริ่มด้วย มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไอ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ หากเริ่มมีอาการ ควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2วัน โดยเฉพาะในรายที่เป็นเด็กเล็ก หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหลังมีไข้ เช่น หายใจเร็วขึ้น มีอาการหอบ หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง แสดงว่าอาจเกิดโรคแทรกซ้อน

ที่สำคัญคือ โรคปอดบวม ซึ่งมีความรุนแรงต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ต้องรีบพาไปพบแพทย์ โดยหากไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ หรือเดินทางไม่สะดวก ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.  ซึ่งมีครอบคลุมทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละประมาณ 10-15 คน จะเป็นแกนกลางประสานแจ้งเจ้าหน้าที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน  เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องโดยเร็ว