คาถา ‘มุ่งมั่น’ ในวันบุกโลก ‘โซเชี่ยล เนชั่น’

คาถา ‘มุ่งมั่น’ ในวันบุกโลก  ‘โซเชี่ยล เนชั่น’

"การทำอะไรได้ดีกว่าแค่นิดเดียว คงไม่อยู่ในสายตาของลูกค้า ต้องโดดเด่นกว่าคนอื่นอย่างน้อยสิบเท่า"

หลังจากไปปักธงตลาดอเมริกาซึ่งถือว่ายากและหินที่สุดเป็นแห่งแรกและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม คอนเฟิร์มด้วยลูกค้าที่เป็นสื่อชั้นนำ อาทิ เดอะ นิวยอร์กไทมส์, เดอะ วอชิงตัน โพสต์ และเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ฯลฯ ก็ถึงเวลาบุกโลกของ “โซเชี่ยล เนชั่น” (Social Nation) สตาร์ทอัพที่เคยโนเนม และผู้ร่วมก่อตั้งก็ยังเป็นคนไทย
 
“ผมชอบความท้าทาย และต้องการพิสูจน์ให้รู้ว่าชีวิตที่เกิดและเติบโตที่ไทย ที่สุดแล้วจะไปได้ไกลที่สุดได้แค่ไหน” ปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ (แบดด์) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งโซเชี่ยล เนชั่น บอกเล่าถึงแนวคิด


ถ้าเปิดพจนานุกรมของชายหนุ่มคนนี้ก็คงจะมีแต่คำว่าความ “สำเร็จ” เพราะเมื่อลองค้นหารายชื่อของเขาผ่านทางกูเกิลก็ได้พบว่า ในอดีตแบดด์เคยเป็นตัวแทนนักศึกษาไทยเดินทางไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกวิชาการและ คว้าเหรียญเงินถึงสองครั้งจากเวทีที่จัดในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศกรีซ


ตัวเขามีความสนใจไอที เรื่องของการเขียนซอฟท์แวร์และพยายามฝึกฝนฝีมือมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กๆ เพราะมองว่ามันเป็นอะไรที่ทำขึ้นมาแล้วจะสามารถขายไปทั่วโลกอย่างที่ฝรั่งเขาทำกัน และจากโปรไฟล์ความสามารถที่ได้ สั่งสมมา พอแบดด์เรียนจบวิศวะคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้รับการเสนองานจาก “ไมโครซอฟท์” ในทันที


“มันเป็นงานที่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่ตัวผมเองอยากเป็น ไมโครซอฟท์จะทำให้ผมได้ไปเห็นโลกกว้าง เพราะต้องไปทำงานในตำแหน่งซอฟท์แวร์เอ็นจิเนียร์ที่แคนาดา”


แบดด์ทำงานอยู่กับไมโครซอฟท์เป็นระยะเวลาประมาณสองปีครึ่ง จากนั้นก็ย้ายไปทำงานกับกูเกิล ที่ทำให้ตัดสินใจเป็นเพราะจะได้ทำงานไปในอเมริกา และยังทำให้เขามีโอกาสหาประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต เว็บโมบาย เนื่องจากธุรกิจของกูเกิลถือเป็นธุรกิจของโลกยุคใหม่ไม่เหมือนไมโครซอฟท์ที่เป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์หรือซอฟท์แวร์เท่านั้น


แต่ที่สุดของที่สุดก็คือ กูเกิลตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเล่ย์ ซึ่งเป็นอะไรที่เขาใฝ่ฝันว่าสักวันต้องได้ไปสัมผัสและได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง


ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะการทำงานที่กูเกิลทำให้เขามองเห็นช่องทางธุรกิจ คือได้เห็นว่าโลกของอินเตอร์เน็ตกับโลกของโฆษณานั้นมาด้วยกัน เรียกว่ายิ่งทำงานก็ยิ่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ จนเกิดเป็นความคิดจะทำธุรกิจเกี่ยวกับโฆษณาบน อินเตอร์เน็ต


“อย่างเว็บไซต์ไทยไม่ว่าจะสนุกหรือพันธ์ทิพย์ก็สร้างตัวจากโฆษณา กูเกิลรายได้หลักก็มาจากโฆษณา ทุกวันนี้รายได้จากโฆษณาบนกูเกิลเยอะกว่ายอดขายซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์เสียอีก”


เก็บเกี่ยวความรู้ที่กูเกิลได้เพียงปีกว่าๆ ในปี 2555 แบดด์ก็ออกมาก่อตั้งโซเชี่ยล เนชั่น ร่วมกับเพื่อนชาวอเมริกัน ซึ่งเรียนจบทางด้านบริหารธุรกิจ แต่ยอมรับว่าในช่วงแรกๆ ธุรกิจก็ยังไม่ได้เข้าที่เข้าทาง


"ความที่เราเป็นคนไทยออกไปลุยทำธุรกิจที่ต่างประเทศ ย่อมมีอะไรที่ต้องฝึกฝน ต้องเรียนรู้มากมาย ในช่วงแรกๆ จึงเป็นช่วงของการค้นหา และผ่านมาราว 3 ปี เราก็ได้ค้นพบว่า หัวใจของการดึงดูดลูกค้ารายใหญ่ให้เข้ามาหาเราก็คือ ความแตกต่าง"


ซึ่งในเวลานั้นโฆษณาแบบเสมือนจริง (Virtual Reality advertising) และโฆษณาแบบวิดีโอสามร้อยหกสิบองศา ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาดอเมริกา แน่นอนว่าการเริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ


"แต่ความใหม่ ทำให้เราไม่รู้ว่าจะพัฒนาอย่างไร ต้องลองผิดลองถูก เป็นความท้าทายปกติของธุรกิจนวัตกรรม ถามว่าเทคนิคโฆษณาดังกล่าวโดดเด่นอย่างไร โดยปกติแล้วโฆษณาที่ทุกคนเห็นกันทุกวันนี้จะเป็นวิดีโอภาพปกติแบบแบนๆ ไม่เคยมีใครเห็นโฆษณาที่หมุนไปได้รอบ ๆมาก่อน เทคนิค 360องศา ทำให้เกิดการโต้ตอบเป็นมิติที่สื่อเดิมๆทำไม่ได้ และเราคิดว่ามือถือมีศักยภาพที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี"


นี่คือที่มาของแพลตฟอร์มโฆษณาแบบเสมือนจริง ภายใต้แบรนด์ “OmniVirt” ของโซเชี่ยล เนชั่น


อย่างไรก็ดี ความแตกต่างคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สามารถสร้างความยอมรับจากลูกค้าแบรนด์ดัง แบดด์บอกว่าการแจ้งเกิดของบริษัทเล็กและโนเนมจำเป็นต้องทำอะไรที่ดีกว่าคนอื่นอย่างเหนือชั้น


"เราต้องทำงานให้ดีกว่าของในตลาดมากๆ การทำอะไรได้ดีกว่าแค่นิดเดียวคงไม่อยู่ในสายตาของลูกค้า เราต้องทำให้ดีมากกว่า ต้องโดดเด่นกว่าคนอื่นๆอย่างน้อยเป็นสิบเท่า โปรดักส์ควอลิตี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จนกว่าแบรนด์ของเราเป็นที่คุ้นเคยของลูกค้า แล้วก็ค่อยไปโฟกัสด้านอื่นของธุรกิจ"


ปัจจุบัน OmniVirt ถือว่าสามารถรักษามาตรฐานและทำให้ลูกค้าตลาดอเมริกายอมรับได้แล้ว ดังนั้นสเต็ปต่อไปก็เลยเป็นเวลาของการเร่งขยายไปยังตลาดทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นแคนาดา ,กลุ่มประเทศยุโรป และเอเชีย เพราะถ้ามองถึงโอกาสเขามองว่าที่อเมริกาและในประเทศทั่วโลกต่างก็มีภาพการเปลี่ยนจากสื่อเทรดดิชั่นนอลมาเป็นสื่อออนไลน์อย่างชัดเจน ซึ่งประสบการณ์ที่แบรนด์สินค้าจะนำเสนอต่อลูกค้าก็ต้องแปลกแตกต่างไปจากเดิมด้วย 

"คนไทยตอนนี้ก็เข้าสู่ยุคโซเชี่ยล เวลาทำโฆษณาอะไรขึ้นมา จะเห็นปฏิกริยาคนที่มีการคอมเมนท์ มีการไวรัล มีการแชร์กันได้ โฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมีข้อดีตรงนี้มากกว่าสื่อดั้งเดิม ผมคิดว่าถ้าเจ้าของแบรนด์สินค้ามีโอกาสโต้ตอบกับ ผู้บริโภคได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะสำเร็จมากเท่านั้น"


ถามถึงการเตรียมความพร้อมบุกตลาดโลก เขาบอกว่าหลักๆ ในเรื่องแรกก็คือ ทีมงานซึ่งต้องมีทักษะฝีมือระดับอินเตอร์ เรื่องที่สองคือเงินทุน ซึ่งเวลานี้สามารถระดมทุนจากวีซีทั้งทางฝั่งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งฝั่งเอเชียผู้ลงทุนก็คือ อินเว้นท์ (Invent)ของ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์


เป้าหมายสูงสุดของโซเชี่ยล เนชั่นเป็นอย่างไร? แบดด์บอกว่า ตอนนี้ที่อยากโฟกัสก็คือผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่ดี มีความมั่นคง รวมถึงเร่งบุกตลาดทั่วโลก แต่ในเรื่องของการเอ็กซิทหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องพิจารณาสถานการณ์กันอีกที


"ธุรกิจที่ดีควรยืนอยู่บนพื้นฐานของผลิตภัณฑ์และฐานลูกค้าที่เรามี มาถึงตรงจุดนี้ผมคิดว่าโซเชี่ยล เนชั่นยังไปได้ไกลมากกว่านี้ แต่ก็ไม่รู้จะไปได้ไกลแค่ไหน ทุกวันนี้ผมถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่น่าจะยังไม่ถึงครึ่งทาง"


เคยฝันไกลถึงระดับ “บิล เกตส์” หรือไม่? เขาตอบว่าแม้ตัวเองเป็นคน “ฝันใหญ่” แต่ก็มองถึงความเป็นไปได้ ซึ่งเป้าหมายใหญ่สุดของเขาก็คือ การพาโซเชี่ยล เนชั่นเข้าตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก ( NASDAQ) และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เขาก็พร้อมจะทุ่มเทแบบสุดแรง

ทำอย่างไรจึงสำเร็จ?


เมื่อให้คำแนะนำกับคนที่อยู่ตรงจุดสตาร์ท แบดด์บอกว่า “ไอเดีย” กับ “ทีมงาน” ถือเป็นหัวใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี


"ผมคิดว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นมาใหม่ หรือคิดจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมา มันต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายๆปี ซึ่งหมายถึงเราต้องพัฒนาไอเดีย และ ทีมงานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสูตรที่สำเร็จจริง ๆน่าจะเป็นความมุ่งมั่นมากกว่า"

แม้ฟังดูแล้วเป็นเรื่องพื้นๆ เป็นอะไรที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก แบดด์บอกว่าคนมักถามเขาถึงเคล็ดลับความสำเร็จอยู่เสมอ สำหรับเขาคงจะไม่มีสูตรลับ ไม่มีเคล็ดลับ เพราะความสำเร็จซึ่งยากมักไม่ได้มาโดยง่าย แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนไปเรื่อยๆ


ส่วนการเข้าโครงการ “Y Combinator” ที่ได้รับการยอมรับว่าถ้าใครเข้าได้ถือว่า “ขั้นเทพ” แบดด์บอกว่าส่วนตัวมองว่าถือเป็นจุดเริ่มที่ดีเท่านั้น เหมือนการได้ผ่านการฝึกปรือกับเหล่าปรมาจารย์ แต่สุดท้ายจะทำสำเร็จได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความมุ่งมั่นของตัวเอง


“ในการทำสตาร์ทอัพนั้น ผมว่าการที่เรามีความคิดริเริ่มจะทำอะไรให้มันดีขึ้น มีความตั้งใจและทุ่มเทกับมัน ผมว่ามันดีทุกอย่าง ถ้าใครมุ่งมั่นทำให้เกิดความแตกต่างได้ ที่สุดมันจะเกิดความสำเร็จที่คุ้มค่า”


พร้อมได้ฝากข้อคิดที่ตัวเขาเองก็เคย "หลงทาง" มาแล้วว่า ส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีคนมักจะให้น้ำหนักกับความหวือหวา ต้องการทำอะไรที่ “ว้าว” แต่สิ่งจำเป็นของการทำธุรกิจก็คือ ที่สุดแล้วนั้นลูกค้าจะต้องสามารถนำเอาผลิตภัณฑ์นั้นไปใช้ประโยชน์ได้จริง