'สนช.' เด้งรับ 'คสช.' นัดประชุมแก้รธน.ชั่วคราวศุกร์นี้

'สนช.' เด้งรับ 'คสช.' นัดประชุมแก้รธน.ชั่วคราวศุกร์นี้

"สนช." เด้งรับ "คสช." นัดประชุมแก้รธน.ชั่วคราว 3 วาระรวด ศุกร์ 13 ม.ค. มาแปลก!! ไม่ยอมเปิดเนื้อหาโบ้ยให้ดูสื่อออนไลน์แทน โยน "นพ.เจตน์" แถลง

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มีหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ว่า ที่ประชุมครม. ร่วมกับคสช. ได้มีมติเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่..( พ.ศ...) เป็นเรื่องด่วน ซึ่งสนช.ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมวิป สนช. และเห็นว่า ขั้นตอนของสนช.ที่จะใช้เวลาในการพิจารณามีความจำเป็นที่จะใช้ความรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ อันจะส่งผลต่อการดำเนินการตามโรดแม็พที่รัฐบาลได้วางไว้ ดังนั้นวิปสนช.จึงมีมติให้บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. ในวันศุกร์ที่ 13 ม.ค. เป็นเรื่องด่วน และเนื่องจาก สนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันนี้ แต่จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เว้นแต่ จะได้รับความเห็นชอบจาก คสช.และครม. ที่ประชุม วิปสนช.จึงเห็นสมควรให้พิจารณา 3 วาระรวด โดยใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภา และได้แจ้งให้ ครม. และคสช. ที่มีอำนาจเต็มมาชี้แจงสาระสำคัญรวมทั้งรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว โดยทราบว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ชี้แจง

นพ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น คือ เกี่ยวกับเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และระยะเวลาในการทูลเกล้าทูลกระหม่อม และพระราชทานรัฐธรรมนูญกลับคืนมา ทั้งนี้ในวันที่ 11 ม.ค. เวลา 15.00 น. คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมสนช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้ขอให้เปิดเผยเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว นพ.เจตน์ กล่าวว่า เอกสารรายละเอียดได้มีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆแล้ว โดยที่ประชุมเห็นว่ามีเนื้อหาตรงกัน เมื่อถามย้ำว่า เป็นร่างจริงหรือไม่ นพ.เจตน์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ตรวจทาน แต่คิดว่าเป็นร่างจริง ซึ่งตนได้รับมอบอำนาจให้แถลงเพียงเท่านี้ เมื่อถามอีกว่า ถือเป็นมติของวิปสนช.ที่ไม่ให้เผยแพร่ร่างแก้ไขหรือไม่ นพ.เจตน์ กล่าวว่า ไม่เชิง แต่ก็ไม่ให้เปิดเผย ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวพยายามขอให้เปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญ แต่นพ.เจตน์ ก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด โดยบอกสั้นๆเพียงว่าได้รับมอบหมายให้มาแถลงเพียงเท่านี้พร้อมให้ไปดูเนื้อหาในสื่อออนไลน์แทน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายพรเพชร ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าจะมาแถลงด้วยตัวเองหลังการประชุมวิปสนช. แต่ก็ยกเลิกโดยมอบหมายให้โฆษกวิปสนช.มาแถลงแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พุทธศักราช..... ที่ส่งให้สนช.พิจารณาแก้ไข 3 วาระรวด ในวันที่ 13 ม.ค.60 มีทั้งหมด 4 มาตรา ประกอบด้วยมาตรา 1 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช....” มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป" ลงชื่อ ผู้รับสนองพระราชโองการ นายกรัฐมนตรี