ภาคประชาชนโต้ค่ายมือถือ ต้องรับผิดชอบเลิกปัดเศษ

ภาคประชาชนโต้ค่ายมือถือ ต้องรับผิดชอบเลิกปัดเศษ

ภาคประชาชนโต้ค่ายมือถือ ต้องรับผิดชอบเลิกปัดเศษ

จากกรณีผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือระบุหากคิดค่าโทรเป็นวินาที ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะได้ไม่คุ้มเสีย ต้องหาผู้รับผิดชอบกรณีนี้ แต่พร้อมที่จะปฏิบัติตามมติของที่ประชุม กทค. วันที่ 11 ม.ค. 2560 โดยวันดังกล่าวจะมีประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่มีวาระการขอทบทวนมติ กทค. เดิม (มติครั้งที่ 10/2559) ซึ่งให้ค่ายมือถือที่ใช้คลื่น 1800 และ 900 MHz “คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย” โดยให้ยกเลิกมติเดิมตามข้อเรียกร้องของค่ายมือถือ ที่อ้างเหตุผลว่า การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีจะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าโทรศัพท์แพงขึ้น


นางสาวชลดา บุญเกษม คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ให้ความเห็นว่า การที่ผู้ประกอบการออกมาบอกว่าคิดเป็นวินาทีจะกระทบให้มีรายการส่งเสริมการขายน้อยลง ผู้บริโภคเสียประโยชน์ เป็นการจับแพะชนแกะและบิดเบือนข้อเท็จจริง
สิ่งที่กลุ่มผู้บริโภคเรียกร้องคือให้เลิกปัดเศษการโทรและเน็ตผ่านมือ โดยเปลี่ยนเป็นการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง ใช้แค่ไหนจ่ายแค่นั้น ใช้ไม่เต็มนาทีก็ไม่ควรต้องจ่ายเต็มนาที ซึ่งคิดได้ง่ายๆ ด้วยการเอาค่าโทรหารด้วย 60 แล้วคูณจำนวนวินาที ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายจริง หรือกรณีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ หากการใช้แต่ละครั้งมีปริมาณย่อยในระดับกิโลไบต์ (Kb) ก็ไม่ควรปัดเศษขึ้นไปเป็นเมกะไบต์ (Mb) หรือกิกะไบต์ (Gb)

“การผูกเรื่องคิดวินาทีกับการลดรายการส่งเสริมการขายหรือแพ็คเกจต่างๆ จึงเป็นเรื่องบิดเบือน และถ้าหากเกิดขึ้นจริงก็บอกได้เลยว่า ผู้ประกอบการนั่นแหละต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นฝ่ายเลือกทำลายแพ็กเกจเอง” นางสาวชลดากล่าว

พร้อมระบุว่า ส่วนที่มีการขู่ว่าค่าบริการจะแพงขึ้นก็น่าคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด แสดงว่าการคิดค่าบริการแบบปัดเศษดังที่เป็นอยู่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้ผู้ประกอบการมือถือใช่หรือไม่ โดยใช้วิธีการปัดเศษมาหมกเม็ดค่าบริการ ซึ่งถือเป็นการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค รวมทั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ด้วย


โดย กทค. ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนในการกำกับอัตราค่าบริการให้ถูกลงจริงๆ แต่กลับปล่อยให้ผู้ประกอบการสร้างตัวเลขค่าบริการที่ดูเหมือนถูกลง แล้วหารายได้เพิ่มจากส่วนที่ปัดเศษ ทั้งๆ ที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นในการประชุมวันพรุ่งนี้จึงหวังว่า กทค. จะทำหน้าที่ที่สมควรทำ

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 เครือข่ายผู้บริโภคได้ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบ กสทช. ในฐานะปฏิบัติการหน้าที่โดยมิชอบแล้ว 

ทรูมูฟ เอช แจงเปิดทางเลือกลูกค้า
ส่วนแถลงการณ์ของทรูมูฟ เอช เมื่อ 9 ม.ค. 2560 ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดประชุมเพื่อพิจารณาคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามมติกทค. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (“ทรูมูฟ เอช”) พร้อมจะปฎิบัติตามมติกทค.ทุกประการ แต่ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมดังต่อไปนี้

1. การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย บนคลื่นความถี่ 2100MHz ย่าน1800MHz และ 900MHz บริษัทคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะบริษัทอาจจำเป็นอย่างยิ่งต้องยกเลิกแพ็คเกจและโปรโมชั่นเหมาจ่ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน บริษัทจะนำอัตราค่าบริการตามอัตราที่กสทช. กำหนดมาใช้ในการคำนวณ ได้แก่ คลื่น1800 MHz 900 MHz หรือคลื่น4จี กสทช.กำหนดให้คิดต่ำกว่านาทีละ 69 สตางค์ หรือสูงสุดได้ไม่เกินนาทีละ 68 สตางค์ บริษัทหารเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ 1.13 สตางค์

ส่วนคลื่น 2100MHz หรือ 3 จี คิดค่าบริการนาทีละ 82 สตางค์ จะหารออกมาเป็นวินาทีละ 1.37 สตางค์ ซึ่งการคิดอัตราค่าบริการเป็นวินาที เพียงทางเดียวเช่นนี้ บริษัทประเมินว่าส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เลือกบริการโทรนานๆ แต่เสียค่าบริการในราคาเหมาจ่ายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ไม่สอดคล้องกลไกตลาดและการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

2. บริษัทยื่นอุทธรณ์ขอให้กทค. และ กสทช. พิจารณาทบทวนมติดังกล่าว ทั้งยังเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อย เรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งคลื่น 4 จีและคลื่น 3 จี สำนักงาน กสทช.จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.2559 ซึ่งเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสม ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาด โดยให้มีทั้งการคิดอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีและการคิดเป็นเหมาจ่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ตามความจำเป็น

3. บริษัทยินดีปฏิบัติตามมติกทค. ทุกประการ แต่หากมติดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มที่เรียกร้องให้ กทค. ใช้มติวันที่ 17 พ.ค. 2559 จะต้องแสดงความรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น

เอไอเอสชี้เพิ่มทางเลือกมากกว่า

ด้านเอไอเอส ส่งคำชี้แจงเนื้อหาเช่นเดียวกัน ถึงการกำหนดค่าโทรเป็นวินาที ไม่สอดคล้องพฤติกรรมการใช้งานที่ปัจจุบันใช้ดาต้ามากกว่าการโทร. แนะบอร์ดกทค.ทบทวน หวั่นกระทบผู้บริโภค


บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ขอชี้แจงกรณีเดียวกันว่า บริษัทน้อมรับมติ กทค. และจะปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมกทค.ดังต่อไปนี้

1. การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz บริษัทประเมินว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะบริษัทมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องยกเลิกการส่งเสริมการขายที่เป็นแพ็คเกจและโปรโมชั่นเหมาจ่ายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บริษัทได้นำอัตราค่าบริการตามอัตราที่กสทช.กำหนดมาใช้ในการคำนวณได้แก่ คลื่น 2100MHz หรือ 3จี คิดค่าบริการนาทีละ 82 สตางค์ จะหารออกมาเป็นวินาทีละ 1.37 สตางค์ คลื่น1800 MHz 900MHz หรือคลื่น 4 จี กสทช.กำหนดให้คิดต่ำกว่า นาทีละ 69 สตางค์ หรือสูงสุดได้ไม่เกินนาทีละ 68 สตางค์ บริษัทนำมาหารเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ1.13สตางค์ การคิดอัตราค่าบริการเป็นวินาที เพียงทางเดียวเช่นนี้ บริษัท เชื่อว่ามีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เลือกแพ็คเกจหรือโปรโมชั่น ในราคาเหมาจ่าย เพราะยิ่งโทรนานเท่าไร ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

2. บริษัทเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อย ในเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งคลื่น 4 จี และคลื่น 3 จี ซึ่งสำนักงาน กสทช.จัดขึ้นเมื่อเดือนก.ค. 2559 โดยบริษัทยืนยันว่าแนวทางเหมาะสมที่สุด คือ คิดอัตราค่าบริการโทรตามจริงเป็นวินาทีและการคิดเป็นเหมาจ่าย ผู้บริโภคได้เลือกใช้ตามความจำเป็น ถ้าผู้บริโภคต้องการใช้บริการที่คิดอัตราค่าโทรตามจริงเป็นวินาที บริษัทพร้อมยินดีสนับสนุน

3. บริษัทยืนยันพร้อมปฏิบัติตามมติกทค.ทุกประการ แต่หากมติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มที่เรียกร้องให้กทค.ยืนยันใช้มติวันที่ 17 พ.ค. 2559 ดังเดิมต้องแสดงความรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น