ปศุสัตว์ควบคุมจำนวนสุนัขและแมว เพื่อปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

ปศุสัตว์ควบคุมจำนวนสุนัขและแมว เพื่อปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

สมุทรปราการ - ปศุสัตว์ลุยควบคุมจำนวนสุนัขและแมว เพื่อปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ที่ 10 มกราคม 2560 ที่สำนักงานเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

 นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เดินทางมาเป็นประธาน เปิดโครงการควบคุมประชากรสุนัขและแมว เพื่อปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีนายธนู บุญเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ให้ต้อนรับ โดยมีประชาชนนำสุนัขและแมว มาทำหมันพร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุขบ้าเป็นจำนวนมาก โดยโครงการดังกล่าวจะจัดไปจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2560 

สำหรับโครงการควบคุมประชากรสุนัขและแมวเพื่อปลอดโรคพิษสุนัขบ้า เกิดขึ้นเนื่องจาก ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า และมีพระปณิธานต้องการให้โรคนี้หมดไปจากประเทศไทย ภายในปี 2563 กรมปศุสัตว์จึงเร่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามโครงการควบคุมประชากรสุนัขแมวเพื่อปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

โดยกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ภายในปี 2563 ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งในคนและสัตว์ลดลง เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2559 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เพิ่มมากขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่พบการเกิดโรคในสุนัขมากถึงร้อยละ 86 ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการเพิ่มประชากรของสุนัขและแมว ซึ่งเป็นสัตว์พาหะนำโรคที่สำคัญ เนื่องจากยังมีสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของเป็นจำนวนมาก และยากต่อการควบคุม รวมทั้งยังมีสัตว์ที่เจ้าของไม่ต้องการ หรือไม่สามารถเลี้ยงต่อได้นำมาปล่อยทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีคนในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน หลั่งไหลเข้ามาประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสัตว์เลี้ยงมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขและแมวมาเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน แต่ไม่มีการควบคุมกำเนิด

ดังนั้นการจำกัดจำนวนสุนัขและแมวซึ่งเป็นสัตว์พาหนะนำโรคที่สำคัญ จึงเป็นอีกมาตรการหนึ่ง ที่จะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ และลดอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ได้ ซึ่งวิธีการลดจำนวนสัตว์พาหนะนำโรคพิษสุนัขบ้าที่มีความยั่งยืน และได้ผลที่สุดคือการผ่าตัดทำหมันถาวร โดยเฉลี่ยสามารถลดจำนวนประชากรสุนัข แมวอย่างน้อย 10 ตัวต่อปีต่อสุนัข แมวเพศเมีย 1 ตัว เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี