'ศิริราช'รักษามะเร็งเต้านมสำเร็จ เทียบเท่ามาตรฐานโลก

'ศิริราช'รักษามะเร็งเต้านมสำเร็จ เทียบเท่ามาตรฐานโลก

“ศิริราช” รักษามะเร็งเต้านมสำเร็จเทียบเท่ามาตรฐานโลก ป่วยระยะ 1 โอกาสรอดชีวิตที่ 10 ปี เท่ากับ 95% ระยะ3 เท่ากับ 71%

เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ตึกอำนวยการ รพ.ศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมสำเร็จเทียบเท่ามาตรฐานโลก”ว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้มนมอย่างมีประสิทธิภาพของโรงพยาบาลศิริราช ผลสำเร็จเทียบเท่ามาตรฐานโลก โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทยและทั่วโลก และคร่าชีวิตคนไทยปีละกว่าหมื่นราย รพ.ศิริราชได้เล็งเห็นความสำคัญของโรคร้ายนี้ และมุ่งมั่นในการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษามะเร็งเต้านมแบบครบวงจร โดยวิธีการที่ทันสมัยมาตลอดและในอนาคตอันใกล้ คณะแพทยศาสตรืศิริราชพยาบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะต้องเอาชนะมะเร็งเต้านมให้ได้ ในผู้ป่วยระยะแรกหรือระยะที่ 0-1 ต้องมีอัตราการรอดชีวิตเท่ากับ 100% ผู้ป่วยระยะที่ 2 และระยะที่ 3 มีอัตราการรอดชีวิตเกินกว่า 90% และ80% ตามลำดับ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ก้าวต่อไปในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งอื่นๆของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้แก่ เพิ่มความสำเร็จในการรักษาให้มากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ตอบสนองตอ่การรักษาได้ดี โดยพัฒนาให้ปลดผลข้างเคียงจากยาให้น้อยลง และพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆสำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีการรักษา อาทิ การนำเอาการตรวจวิเคราะห์ระดับอณูชีววิทยาและอณูพันธุศาสตร์ของมะเร็งเต้านม เพื่อนำไปสู่การรักษาแบบมุ่งเป้าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากนี้ มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งของคนไทยที่ดำเนินการโดยคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญจากหลายๆศาสตร์ที่ครอบคลุมการค้นคว้าด้านการกลายพันธุ์ การแสดงออกของเซลล์มะเร็งด้านต่างๆของผู้ป่วยแต่ละคน เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็งขึ้นด้วยและรอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล

ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ศรีษะ คอและเต้านม กล่าวว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 1 ล้านรายต่อปี ประเทศสหรัฐอเมริกา 1.75 แสนรายต่อปี สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 20.5 %ต่อแสนประชากร เฉพาะเขตกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 24.3% ต่อแสนประชากร ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 ราย ในพื้นที่ภาคกลางมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นมากที่สุด 8.5 % ต่อปี อาจเนื่องจากมลภาวะและแนวทางการดำเนินชีวิตที่ไม่ออกกำลังกาย เครียดมาก และอาหารไม่ครบถ้วน เป็นต้น

ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าวอีกว่า ศิริราชได้ดำเนินการศึกษาอัตราการอยู่รอดชีวิตที่ 5 และ 10 ปี โดยติดตามข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดและรักษาเสริมด้วยยาที่รพ.ศิริราชครบถ้วนตามที่วางแผนระหว่างปี 2546-2554 จำนวน 3,435 ราย อายุเฉลี่ย 51 ปี อายุน้อยสุด 24 ปี และมากสุด 86 ปี ขนาดก้อนมะเร็งเฉลี่ย 26.1 มิลลิเมตร ที่ถือว่าค่อนข้างใหญ่ โดย 42.4% แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง และ 96.2% รักษาเสริมด้วยยา เป็นผู้ป่วยระยะที่ 1 32% ระยะที่ 2 47% และระยะที่ 3 21%

ผลการติดตามพบว่า อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี โดยรวมทุกระยะ 92.1% ระยะ 1 ที่ 97.2% ระยะ2 ที่ 92.1% และระยะ3 ที่ 83.7% ส่วนอัตรารอดชีวิตที่ 10 ปี โดยรวมทุกระยะ 85.6%. ระยะ 1 ที่ 95.9 %. ระยะ2 ที่84% และระยะ3 ที่ 71.4% ซึ่งถือว่าเป็นอัตรารอดชีวิตที่ค่อนข้างดี

ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าวอีกว่า อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ประชาชาติสูงอยู่ที่ 80 % ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ประชาชาติปานกลางอยู่ที่ 60% และ ประเทศกำลังพัฒนาและมีรายได้ประชาชาติต่ำ อยู่ที่ 40% เมื่อเทียบผลการรักษาของรพ.ศิริราช กับต่างประเทศโดยคำนวณด้วยโปรแกรมที่ได้มาตรฐานของสหราชอาณาจักร พบว่า อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปีของรพ.ศิริราช อยู่ที่ 92.1% ของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 89.6% และอัตรารอดชีวิตที่ 10 ของรพ.ศิริราชอยู่ที่ 85.6 % สหราชอาณาจักร อยู่ที่ 79% แสดงให้เห็นว่าผลสำเร็จในการรักษามะเร็งเต้านมของรพ.ศิริราชเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล

“ผลการรักษาที่ดีเลิศเป็นผลจาความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในรพ.ศิริราช โดยมีการดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาศัลยแพทย์ด้านเต้านม แพทย์รังสีวินิจฉัย แพทย์รังสีรักษา. อายุรแพทย์เคมีบำบัด พยาธิแพทย์ ทีมวิจัยทางด้านอณุชีววิทยา อณูพันธุศาสตร์. เภสัชวิทยา และพยาบาลเฉพาะทางด้านเต้านม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและผู้ป่วยเองที่ให้ความร่วมมือในการรับการรักษาและติตามที่ครบถ้วน”ศ.ดร.นพ.พรชัยกล่าว